นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ เศรษฐกิจไทยกำลังเดินเข้าสู่ ‘Stagnation’

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ เศรษฐกิจไทยกำลังเดินเข้าสู่ ‘Stagnation’

“กรุงไทย” ชี้จีดีพีชะลอควบคู่เงินเฟ้อสะท้อนอาการ Stagnation ด้าน “เกียรตินาคินภัทร” เชื่อไม่เผชิญภาวะถดถอย แต่ห่วงโตช้า ประเมินศักยภาพใหม่เศรษฐกิจไทยเพียง 2.5% ด้าน “ศูนย์วิจัยกสิกร” เตรียมหั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลง สะท้อนเศรษฐกิจทรุด

หลังจากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) วานนี้ (19 ก.พ.67) ที่เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจไทยออกมาเติบโตเพียงระดับ 1.9% ในปี 2566 เนื่องจากเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2566 ขยายตัวได้เพียง 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหดตัวลง 0.6% ถือเป็นการขยายตัวต่ำกว่าคาด ทำให้เริ่มมีการตั้งคำถามว่า ต่อไปภาพเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวต่อเนื่องจะเข้าสู่ภาวะ Stagnation หรือเศรษฐกิจชะงักงันหรือไม่? 

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะเข้าสู่ภาวะ Stagnation แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง บวกเงินเฟ้อที่ติดลบหลายเดือนติดต่อกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในไซเคิลของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง

“เริ่มมีคำถามว่าเศรษฐกิจไทยเวลานี้ เข้าสู่ Stagnation แล้วหรือไม่ เชื่อว่า อาการใช่แล้ว และ stagnation ไม่ได้มีเกณฑ์วัดตายตัว ว่าเศรษฐกิจติดลบเท่านั้น ถึงเข้าสู่ Stagnation แต่วันนี้สิ่งที่เราเจอคืออาการชัดขึ้น เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่อาการเริ่มออก จนมาถึงไตรมาส 4 ดังนั้น ภาพชัดเจนมากขึ้นว่ามีสัญญาณของ Stagnation”

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีของสภาพัฒน์ที่ออกมา ถือว่าเป็นไปตามคาด ที่สำนักวิจัยกรุงไทยประเมินไว้ ทั้งปี 2566 และปี 2567 เนื่องจากเพิ่งปรับประมาณการลดลงในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ยังคงมองว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นในปี 2567 ที่ราว 2.7% จากเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่จะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว แต่ยังมีจุดที่ต้องจับตาสำคัญ จากงบประมาณภาครัฐที่จะออกมาช่วงกลางปี ว่าจะเข้ามาช่วยหนุนการเติบโตให้การอุปโภค การบริโภค การลงทุน ที่จะเป็นตัวหนุนเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังให้เติบโตมากขึ้น
 

ศักยภาพ ‘ศก.ไทย’ อาจโตได้แค่ 2.5%

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า แม้ว่าตัวเลขจีดีพีไตรมาสสี่ และปีนี้ที่สภาพัฒน์ประกาศออกมาจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาด แต่ก็ไม่ได้ผิดคาดไปมากนัก ซึ่งตนไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวยังออกมาดี

เช่น ภาคบริการ การบริโภคเริ่มกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่ ภาคการผลิตจะสามารถกลับมาได้หลังการส่งออกที่ดีขึ้น บวกกับ การเบิกจ่ายงบประมาณที่จะดีขึ้นในไตรมาสสองของปีงบประมาณ ก็เชื่อว่า จะทำให้เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว

“ปัญหาเวลาพูดถึงจีดีพีนั้น จีดีพีเป็นตัวเลขเดียว แต่สิ่งที่เห็นในตัวเลขเดียวไม่สามารถบอกถึงความเป็นไปทุกคนในประเทศได้ ซึ่งมีคนที่ดีและแย่กว่าตัวเลขที่ติดลบ แต่กลุ่มเอสเอ็มอี ที่แข่งขันสินค้ากับจีน กลุ่มที่พึ่งพาบริโภคในประเทศ กลุ่มที่เผชิญปัญหาหนี้ การบริโภคหลายส่วนได้รับปัญหา ฉะนั้น ก็อาจมีคนได้รับผลกระทบหรือรีเซสชั่น แต่หลายภาคก็ยังฟื้นตัว ดังนั้น ก็เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย”

อย่างไรก็ตาม ตนประเมินว่า เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ช้า และยังไม่สามารถกลับเข้าสู่การขยายตัวก่อนเกิดโควิด จากปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง สะท้อนจากดัชนีภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวลดลง โดยเฉพาะการผลิตสินค้าที่ได้รับความนิยมสูง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ซึ่งลดลงถึง 50% รวมถึง การผลิตรถยนต์เพื่อขายก็ลดลง นอกจากนี้ ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข หากปล่อยไปเช่นนี้ เศรษฐกิจไทยอาจจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติได้

“เราประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ อาจจะขยายตัวเฉลี่ยที่ 2.5% และการขยายตัวจะช้าเป็นอย่างนี้ อาจไม่ถึงกับรีเซสชั่น แต่ถ้าเราไม่ทำอะไร การโตเฉลี่ยที่ 2% นั้น อาจเป็นนิวนอร์มอลหรือเป็นการโตที่เรียกว่าตามศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ดังนั้น วันนี้ ถึงจุดที่เราต้องเร่งปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ไม่เช่นนั้น จะเห็นเศรษฐกิจโตต่ำแบบนี้”

เตรียมหั่น ‘จีดีพี’ ปี 67 ลดลง

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า จากตัวเลขจีดีพีของสภาพัฒน์ ที่ออกมาปี 2566 ที่ 1.9% ถือว่าใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ที่ 2% จากภาพเศรษฐกิจที่ออกมาต่ำต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย อยู่ระหว่างการปรับ จีดีพี ปี 2567 ลดลง มาอยู่ที่ราว 2.6% จาก 3.1% จากโมเมนตัมของเศรษฐกิจไทย ที่ชะลอตัวในช่วงครึ่งปีแรก จากการลงทุนที่อยู่ระดับต่ำ บวกกับการบริโภคของไทยยังถูกฉุดรั้งจากหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ระดับสูง ทำให้ การบริโภคโดยรวมอาจไม่ได้ปรับตัวดีเท่าที่ควร

นอกจากนี้ หากดูภาพเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน พบว่า ต่ำกว่าศักยภาพอย่างต่อเนื่อง และหากดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยพบว่า เพิ่งฟื้นตัวจากหลังจากโควิดเพียง 0.5% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าต่างประเทศค่อนข้างมาก สะท้อนว่าเครื่องจักรของเศรษฐกิจไทย มีปัญหาค่อนข้างมาก ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างช้า

ทั้งนี้ จากภาพเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวตามคาด ยิ่งทำให้ตลาดมั่นใจว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น ในช่วงเดือนมิ.ย. จากเดิม ที่คาด อาจเห็น กนง.ลดดอกเบี้ยหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หรือในช่วงปลายปี

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์