'เอกชน' หวังเคลียร์พื้นที่ทับซ้อน 'กัมพูชา' จบรัฐบาล 'เศรษฐา' หนุนค่าไฟถูก

'เอกชน' หวังเคลียร์พื้นที่ทับซ้อน 'กัมพูชา' จบรัฐบาล 'เศรษฐา' หนุนค่าไฟถูก

"สุพันธุ์" เชียร์โอซีเอจบรัฐบาลชุดนี้ แนะแบ่งก๊าซแทนขีดเส้นแดน หวังค่าไฟใกล้เพื่อนบ้านช่วยแข่งขัน ชง 2 ทางออแก้สินค้านอกทะลักไทย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีการเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา หรือ โอซีเอ (Overlapping Claims Area หรือ OCA) ว่า เห็นด้วยกับความร่วมมือดังกล่าว เพื่อดึงทรัพยากรที่มีมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อความมั่นคงพลังงานไทย ซึ่งปัจจุบันไทยเข้าขั้นขาดแคลน ต้องนำเข้าราคาแพง จนเผชิญกับต้นทุนสูง ส่งผลต่อราคาพลังงานแพง โดยเฉพาะค่าไฟที่เป็นค่าครองชีพสำคัญของคนไทย 

"เรื่องนี้เจรจามานานเกือบ 50 ปีแล้ว ควรจะจบในรัฐบาลชุดนี้ เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลกัมพูชา จึงน่าจะมีโอกาสในการหาทางออกร่วมกันได้ เพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ"นายสุพันธุ์กล่าว

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางจัดการนั้น หากมุ่งแบ่งเขตแดน ตีเส้น คงไม่สามารถจบได้ อยากให้ใช้วิธีดึงก๊าซธรรมชาติที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาแล้วแบ่งสัดส่วนกัน อาจทำเป็น 3 ระดับ คือ หลุมขุดเจาะที่ใกล้ไทยก็แบ่งให้ไทยมากกว่า ส่วนหลุมขุดเจาะที่ใกล้กัมพูชาก็แบ่งให้กัมพูชามากกว่า และกลุ่มขุดเจาะที่อยู่บริเวณกลางก็ฝ่ายละครึ่ง 50:50

นอกจากนี้รัฐบาลต้องมีแผนบริหารจัดการชัดเจน ทั้งงบประมาณที่ใช้ การลงทุนนี้คนไทยส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์อย่างไร ราคาพลังงานจะเป็นอย่างไร จะบริหารก๊าซอย่างไร ต้องชัดเจน คนไทยต้องได้ประโยชน์ ไม่ใช่สุดท้ายประโยชน์ตกกลับเอกชนที่ลงทุน

"การลงทุนครั้งนี้สำคัญ เป็นเรื่องความมั่นคงประเทศ คนไทยต้องได้ประโยชน์ มีรายละเอียดจับต้องได้ ไม่ใช่เศษเนื้อเศษหนัง จนสุดท้ายประโยชน์หลักๆไปอยู่กับเอกชนหมด" นายสุพันธุ์กล่าว

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับราคาค่าไฟหากโอซีเอสำเร็จ ก็หวังจะให้ถูกลง แต่ก็อยู่ที่การจัดการของรัฐบาล เพื่อวางความมั่นคงระยะยาว ส่วนค่าไฟปัจจุบัน 4.18 บาทต่อหน่วย ถือว่าเป็นระดับที่รับได้ และประเทศในอาเซียนก็มีทั้งสูงกว่าและต่ำกว่าไทย ดังนั้นในแนวทางบริหาร รัฐบาลต้องทำให้ค่าไฟไทยอยู่ระดับใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้การแข่งขันของไทยไม่สะดุด ไปต่อได้

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีสินค้าต่างประเทศทะลักเข้าไทยจนผู้ประกอบการไทยเดือดร้อนนั้น เรื่องนี้ต้องดำเนินการ 2 ทาง คือ

1.รัฐต้องกำหนดแนวทางกำกับดูแลเข้มข้นผ่านทุกเครื่องมือที่มี เพื่อปกป้องสินค้าไทย

2.รัฐต้องจริงจังในการพัฒนาสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับของคนไทยด้วยกันเอง และต่างชาติ อย่างสินค้ากลุ่มอาหารที่เป็นจุดแข็งของไทยต้องพัฒนาต่อยอด ต้องพยายามเฟ้นอุตสาหกรรมที่เราไปต่อได้ พัฒนาเพื่อเน้นขายกลุ่มกำลังซื้อสูง อย่างเสื้อผ้า ดูตัวอย่างเสื้อผ้าจากอิตาลี ก็ปรับตัวจนยังสามารถครองตลาดกลุ่มกำลังซื้อสูงได้ ส่วนอุตสาหกรรมไหนที่สู้ไม่ได้ทั้งคุณภาพและต้นทุน รัฐต้องช่วยเหลือ ปรับตัว 

"สินค้าไทยต้องให้ความสำคัญกับ สิขสิทธิ์ และ แบรนด์ดิ้ง หน่วยงานรัฐไม่ควรรอผู้ประกอบการมาขอจดลิขสิทธิ์ แต่ควรออกหาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในชุมชน หรือโรงงานตามนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ทำงานเชิงรุก สินค้าจะได้การพัฒนาอย่างจริงจัง จนคนยอมรับ เหมือนญี่ปุ่น ถ้าทำได้สู้สินค้าต่างประเทศที่เข้าไทยได้" นายสุพันธุ์กล่าว