'พลังงาน-อุตสาหกรรม' เร่งแผน-รื้อกม. ลดฝุ่น PM2.5 

'พลังงาน-อุตสาหกรรม' เร่งแผน-รื้อกม. ลดฝุ่น PM2.5 

"ก.พลังงาน-ก.อุตสาหกรรม" เร่งแผนพร้อมรื้อกฎหมาย เดินหน้านโยบายอย่างเข้มข้น หนุนแก้ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างปรับปรุงร่างแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ฉบับใหม่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายพลังงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าร่างแผนพลังงานชาติ ฉบับใหม่ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผน PDP โดยเฉพาะสัดส่วนก๊าซ พลังงานหมุนเวียน และการประหยัดพลังงานจะต้องมีสัดส่วนเท่าไหร่ ซึ่งต้องบูรณาการร่วมกันทั้ง 5 แผนย่อยผนวกไว้ด้วยกัน โดยคาดว่าแผน PDP จะสามารถประชาพิจารณ์ปลายเดือนก.พ. หรือต้นเดือนมี.ค. นี้ ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนมากขึ้นถึง 70% และปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซออกไป 

"ในแผนPDP จะมีเรื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในตัวเลือกรวม 7-8 สมมติฐาน อาทิ ราคาค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ราคาก๊าซนำเข้าที่ลดลง รวมถึงปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นต้น ซึ่งจะนำมาประชาพิจารณ์สาธารณะเพื่อให้เกิดการยอมรับของประชาชนที่ยังมีเป็นประเด็นตัวอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นที่เคยมีปัญหา จึงต้องสื่อสาร แต่ก็ต้องปรึกษานายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก่อนว่าจะเลือกไปประชาพิจารณ์หรือไม่" นายประเสริฐ กล่าว

รายงานข่าวระบุว่า แผนพลังงานชาติ ถือเป็นอีกนโยบายแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)ถือเป็นอีกเป้าหมายในการลดฝุ่น PM2.5 ด้วย อย่างไรก็ตาม จากปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 ถือเป็นปัญหาที่มาจากปัจจัยหลายส่วนหากเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ หลัก ๆ มาจากภาคขนส่งโดยเฉพาะการใช้รถยนต์บนท้องถนนที่มีการปล่อยมลพิษออกมาสู่สิ่งแวดล้อม ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดนั้นส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาการเผาทิ้งสิ่งของที่ชาวไร่ชาวนาไม่ต้องการและกลายเป็นปัญหาควันพวยพุ่งอยู่ในอากาศ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน ดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายของแผนพลังงานชาติที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด ภารกิจตามแนวทาง 4D1E คือ 

  • Decarbonization : การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน 
  • Digitalization: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน 
  • Decentralization: การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน 
  • Deregulation: การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่
  • Electrification: การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า

ทั้งนี้ แผนพลังงานชาติ ได้รวมทั้ง 5 แผนพลังงานไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย 

  • แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 
  • แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 
  • แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP)
  • แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 
  • แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) 

อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขที่ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละประมาณ 360 ล้านตัน ถือว่าสูงเป็นอันดับต้นของโลก โดยภาคที่ต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญคือ ภาคพลังงาน ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนรวมกันปีละราว 260 ล้านตัน

ดังนั้น รัฐบาลได้ผลักดันการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างสมดุลที่มาจากพลังงาน ลม ชีวมวล และแสงอาทิตย์ ซึ่งต้องปรับเป้าหมายการทำแผนใหม่ ดังนั้น สนพ. จะต้องเร่งดำเนินการจัดทำแผนสำคัญ ประกอบด้วย

1. ด้านไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (RE) ไม่น้อยกว่า 50% ให้สอดคล้องแนวโน้มต้นทุน RE ที่ต่ำลง โดยพิจารณาต้นทุนของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมด้วย และไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าระยะยาวสูงขึ้น รวมถึงนโยบาย BCG economic ที่ประยุกต์ใช้ในภาคพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ  อาทิ แสงแดด ลม และ Hydrofloating solar จะลดการเผาไหม้เชื่อเพลิงฟอสซิล ซึ่งส่งผลต่อการลดลงของ PM2.5 ด้วย

2. ด้านก๊าซธรรมชาติ จะเน้นการเปิดเสรีและการจัดหาเพื่อสร้างความมั่นคงให้ระบบพลังงานประเทศ และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Regional LNG Hub

3. ด้านน้ำมัน ต้องปรับแผนพลังงานภาคขนส่ง และพิจารณาการบริหารการเปลี่ยนผ่าน สร้างความสมดุลระหว่างผู้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นตามแผน 30@30 จะเป็นการลดการปล่อยปล่อย PM2.5 และ ก๊าซเรือนกระจกจากภาคการขนส่งโดยตรง อย่างมีผลกระทบสูงมาก ๆ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยน EV ใน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการลงทุน EV ที่เติบโตอย่างมาก ในประเทศไทย ถือเป็นส่วนสำคัญในการลดค่า PM2.5 ได้มากที่สุด 

4. ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนทุกภาคมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้ร่วมกับทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน เพื่อแก้ปัญหา PM2.5 ในหลายมิติ ประกอบด้วย การใช้ Application ผ่าน Sensor for all ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยร่วมกับ คณะวิศว จุฬาฯ รายงาน ทำนาย และเชื่อมโยงวิเคราะห์ข้อมูล PM2.5 พร้อมให้ประชาชน download ใน app store รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลคุณภาพอากาศจากการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าด้วย เพื่อสามารถติดตามข้อมูลประสิทธิภาพของระบบบำบัดมลพิษอากาศ รวมถึง PM2.5 ได้อย่างทันท่วงที

รวมถึง การรณรงค์ลด และหรือการบริโภคพลังงานอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการทราบแล้วเปลี่ยน ในทุกภาคส่วนนั้น (ครัวเรือน 25% และ ภาคเอกชน/อุตสาหกรรม 75% ของการใช้ไฟฟ้า) นับเป็นการลดการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลต่อการเกิดฝุ่น PM2.5 อันเนื่องมาจากการผลิตพลังงาน 

ผู้สื่อข่างรายงานว่า น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งหามาตรการเพิ่มในการลดฝุ่นพิษ PM 2.5 ให้เข้มข้นขึ้น มีดัชนีชี้วัดตรวจสอบชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว เบื้องต้นจะมีทั้งมาตรการส่งเสริมด้านการเงิน ดอกเบี้ยพิเศษ องค์ความรู้ มาตรฐาน รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เข้มงวดขึ้น ขณะนี้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเดินหน้าหลายมาตรการแล้ว 

อีกทั้ง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้แก้ปัญหาการเผาอ้อยผ่านมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ให้ตัดอ้อยสด ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติช่วยค่าตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน ให้ชาวไร่อ้อย 1.4 แสนราย เริ่มจ่ายเดือนม.ค. 2567 และอยู่ระหว่างปรับปรุงมาตรการออกระเบียบรับซื้ออ้อยไฟไหม้ให้เข้มงวดมากขึ้น

ขณะที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ออกมาตรฐานลดฝุ่นพีเอ็ม2.5 โดยเตรียมบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 วันที่ 1 มกราคม 2567 เช่นกัน เพื่อลดฝุ่นพิษจากรถยนต์ รวมทั้งออกมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศ มอก.60335 เล่ม 2 (65)-2564 3. และมาตรฐานหน้ากากอนามัย

พร้อมทั้งสั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้คุมเข้มโรงงานหากปล่อยควันเกินมาตรฐานจะสั่งหยุดเพื่อแก้ไขทันที และส่งดำเนินการทางกฎหมายด้วย อาทิ โรงงานใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน โรงงานใช้หม้อน้ำ โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานผลิตแอสฟัลติก รวมทั้งได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังเตือนภัยมลพิษทางอากาศระยะไกล ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการกรอ. นำรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอากาศจุดที่โรงงานหนาแน่น อาทิ นิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตประกอบการให้มากขึ้น อย่างไรก็ตามโรงงานอุตสาหกรรมได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (เซมส์) ซึ่งข้อมูลจะแสดงผลผ่านเว็บไซต์ของ กรอ. และแอพพลิเคชันเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้

รวมถึงกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะเข้มงวดเหมืองเพื่อลดฝุ่นพิษเช่นกัน