รัฐบาลกล่อมตัวเอง เศรษฐกิจวิกฤติแล้ว

รัฐบาลกล่อมตัวเอง เศรษฐกิจวิกฤติแล้ว

ปกติรัฐบาลมีหน้าที่ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ในขณะที่รัฐบาลปัจจุบันกลับออกมาชี้แจงถึงสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องว่าเข้าสู่ระดับวิกฤติแล้ว

การที่กระทรวงการคลังออกมาประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวเพียง 1.8% เป็นระดับการขยายตัวที่เซอร์ไพรส์ค่อนข้างมาก และทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว หลังจากนั้นไม่นานนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาระบุถึงสัญญาณที่บ่งชี้ถึงภาวะวิกฤติของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการที่เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงต่อเนื่องในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา

รัฐบาลได้นำเสนอข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวช้ามากหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศที่เศรษฐกิจได้ฟื้นตัวมากขึ้น โดยในปี 2563 ที่โควิด-19 ระบาดเป็นปีแรก ทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบถึง 6.1% แต่หลังจากนั้นเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแต่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงได้เน้นย้ำข้อมูลของกระทรวงการคลังที่ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวได้เพียง 1.8% ซึ่งรัฐบาลพยายามบอกว่า สถานการณ์ดังกล่าวเท่ากับเศรษฐกิจไทยยังไม่กลับไปได้ในระดับเดิม

นอกจากนี้ รัฐบาลมองสถานการณ์การลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน และมีมูลค่าการลงทุนต่ำกว่าหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สถานการณ์การลงทุนในไทยอยู่ในระดับต่ำยาวนานสะท้อนปัญหาการใช้จ่ายในประเทศที่กำลังซื้อลดต่ำลง รวมถึงการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยสูง รัฐบาลได้ส่งสัญญาณกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้มีการลดดอกเบี้ย โดยเฉพาะการส่งสัญญาณของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในระดับแรงมากก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพียง 1 วัน เพื่อให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ถึงแม้ว่า กนง. ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% แต่รัฐบาลได้ออกมาแสดงความผิดหวังต่อมติดังกล่าว และยังคงสร้างแรงกดดันต่อ ธปท. ต่อไป

ปกติรัฐบาลมีหน้าที่ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ในขณะที่รัฐบาลปัจจุบันกลับออกมาชี้แจงถึงสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องว่าเข้าสู่ระดับวิกฤติแล้ว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลต้องการหวังผลต่อภาวะวิกฤติของประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัลให้คนละ 10,000 บาท ที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่การออกกฎหมายเพื่อกู้เงินมาแจกประชาชนมีคำถามสำคัญจากหลายหน่วยงานว่าเศรษฐกิจถึงระดับวิกฤติแล้วหรือยัง