'CP' ยื่นอุทธรณ์ ส่งเสริมลงทุน 'ไฮสปีดเทรน' BOI หารือ EEC - 'รฟท.'ก่อนขยายเวลา

'CP' ยื่นอุทธรณ์ ส่งเสริมลงทุน 'ไฮสปีดเทรน' BOI หารือ EEC - 'รฟท.'ก่อนขยายเวลา

'บีโอไอ' เผยได้รับเรื่องอุทธรณ์ขอส่งเสริมการลงทุนในโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน จากกลุ่มซีพีแล้ว เผยเตรียมหารือกับอีอีซี กับ รฟท. คาดได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.พ.นี้ แจงไทม์ไลน์ – เหตุผลการไม่ต่อบัตรส่งเสริมในรอบที่ 3 ให้กับเอกชน หลังจากโครงการไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ที่มีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเจ้าของโครงการ และมี บจ.เอเชีย เอรา วัน (C.P.) เป็นคู่สัญญาสัมปทานระยะเวลา 50 ปี ล่าช้ากว่าแผนไปหลายปี 

ปัจจุบันโครงการหยุดชะงักลงเนื่องจากมีการแก้ไขสัญญาระหว่างเอกชนผู้รับสัมปทาน และภาครัฐ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปลายรัฐบาลที่ผ่านมาแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ขณะที่ระยะเวลาของบัตรส่งเสริมการลงทุนที่เอกชนได้รับการขยายเวลามาแล้ว 2 ครั้งหมดอายุลงในวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่การต่อระยะเวลาในครั้งที่ 3 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยังไม่ต่ออายุ แต่เอกชนผู้รับสัมปทานได้ยื่นขออุทธรณ์การไม่อนุมัติขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3 ของบีโอไอ 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องของการขอส่งเสริมการลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ภายหลังจากที่บีโอไอไม่ได้ต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุนครั้งที่ 3 ให้กับบริษัทเอเชีย เอราวัณ ในกลุ่มซีพี ที่ได้รับสัมปทานในโครงการว่าล่าสุดบริษัทได้ยื่นขออุทธรณ์การไม่อนุมัติขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3 โดยเอกชนให้เหตุผลว่าการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯในโครงการนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลต่อการจัดหาเงินทุนของโครงการ และส่งผลในเรื่องการดำเนินโครงการต่อไป

\'CP\' ยื่นอุทธรณ์ ส่งเสริมลงทุน \'ไฮสปีดเทรน\' BOI หารือ EEC - \'รฟท.\'ก่อนขยายเวลา

ชี้ต้องหารือ EEC- รฟท.ก่อนพิจารณาผลอุทธรณ์

โดยบีโอไอจะหารือในรายละเอียดเพิ่มเติมกับบริษัทเกี่ยวกับสถานะการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ และความจำเป็นในการขยายเวลา รวมถึงจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพิ่มเติมถึงทางออกของปัญหาดังกล่าว ก่อนที่จะพิจารณาคำขออุทธรณ์ของบริษัทต่อไปโดยกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

นายนฤตม์ กล่าวว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงของบริษัท เอเชีย เอรา วัน ได้รับการอนุมัติส่งเสริมจากบีโอไอ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563 โดยบริษัทมีการยื่นขอขยายเวลาการตอบรับมติให้การส่งเสริม และขอขยายเวลาการยื่นเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมมา 2 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องรอการแก้ไขสัญญาระหว่าง รฟท. และบริษัท โดยการขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 2 บริษัทต้องส่งเอกสารประกอบการออกบัตรส่งเสริมภายในวันที่ 22 มกราคม 2567

อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนตุลาคม 2566 บีโอไอได้หารือกับอีอีซี และ รฟท. ถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งในที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ควรเร่งรัดให้บริษัทดำเนินการตามโครงการโดยเร็ว โดยหากบริษัทยื่นขอขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3 บีโอไอจะทำหนังสือสอบถามความเห็นจาก อีอีซีและ รฟท. ในฐานะเจ้าของโครงการ เพื่อประกอบการพิจารณา

ต่อมาในเดือนมกราคม 2567 บริษัทยื่นขอขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3 บีโอไอจึงทำหนังสือสอบถามความเห็นจากทั้งอีอีซี และ รฟท. ซึ่งทั้งสองหน่วยงานให้ความเห็นว่า ความล่าช้าของโครงการจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมั่นของประเทศ

เอกชนไม่ยื่นขอบีโอไอครั้งที่ 3 ตามเวลาที่กำหนด

อีกทั้งการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ไม่มีผลต่อการขอรับบัตรส่งเสริม จึงควรเร่งรัดให้บริษัทส่งเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมโดยเร็ว และไม่ควรขยายเวลาออกไปอีก ด้วยเหตุผลดังกล่าวบีโอไอจึงพิจารณาไม่อนุมัติให้ขยายเวลาการยื่นเอกสารเพื่อออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3 ตามความเห็นของทั้งสองหน่วยงาน โดยได้แจ้งให้บริษัททราบล่วงหน้า เพื่อเร่งรัดให้ดำเนินการภายในวันที่ 22 มกราคม 2567

เมื่อบริษัทไม่ยื่นเอกสารภายในกำหนด มีผลทำให้มติเดิมสิ้นสุดลง แต่บริษัทก็ยังคงมีสิทธิยื่นขอรับการส่งเสริมใหม่จากบีโอไอเมื่อไรก็ได้หากมีความพร้อม และบีโอไอก็จะเร่งพิจารณาให้โดยเร็ว เนื่องจากสาระสำคัญของโครงการไม่ได้เปลี่ยนแปลงและมีรายงานการวิเคราะห์เดิมอยู่แล้ว

รัฐบาลหนุนไฮสปีดเทรน

ก่อนหน้านี้นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกพอ.)เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวว่า บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด อาจจะไม่เดินหน้าโครงการต่อหลังจากไม่ได้รับการต่อบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยระบุว่า เรื่องนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะมีการบอกเลิกสัญญาหรือบอกได้ว่าเอกชนที่ได้รับสัมปทานจะไม่ได้เดินหน้าโครงการต่อ

ขณะเดียวกัน สกพอ.ไม่สามารถที่จะเป็นผู้ที่บอกเลิกสัญญากับเอกชนได้ แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลสัญญา ซึ่งอยู่ภายใต้ ร.ฟ.ท. พิจารณาว่าจะมีมติให้ เอเชีย เอราวัน ดำเนินการอย่างไรในฐานะคู่สัญญา หลังจากนั้นหากคณะกรรมการกำกับดูแลสัญญาพิจารณาแล้วเสร็จ จึงจะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ตัดสินใจขั้นสุดท้าย

“รัฐบาลปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน และถือว่ามีความสำคัญต่อโครงการอีอีซี และอยากให้มีการเริ่มก่อสร้างโครงการได้ เพราะว่าหากมีการก่อสร้างแล้วเสร็จการเดินทางไปยังพื้นที่อีอีซีจากกรุงเทพฯ จะใช้เวลาเพียงแค่ 1ชั่วโมงเท่านั้น ช่วยให้การเดินทางและการไปทำงาน การทำธุรกิจเกิดขึ้นด้วยความสะดวกและรวดเร็ว” นายจุฬา กล่าว