สกพอ.ชี้ช่อง ‘CP’ เดินหน้าไฮสปีด 3 สนามบิน ขอสิทธิ์ประโยชน์ ‘EEC’ แทน ‘BOI’ ได้

สกพอ.ชี้ช่อง ‘CP’ เดินหน้าไฮสปีด 3 สนามบิน ขอสิทธิ์ประโยชน์ ‘EEC’ แทน ‘BOI’ ได้

“อีอีซี” ชี้ช่องกลุ่มซีพี เดินหน้าต่อรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รอคณะกรรมการกำกับสัญญาเคาะแก้สัญญาให้เริ่มก่อสร้างได้โดยที่ไม่ต้องมีบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ยันเร่งเดินหน้าหาทางออกโครงการ ชี้ช่องกลุ่มซีพีขอสิทธิ์ประโยชน์การลงทุนจากอีอีซีได้เช่นกัน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวว่าบริษัทเอเชีย เอราวัณ จำกัด ใน "เครือซีพี" ผู้ได้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในอีอีซี อาจจะไม่เดินหน้าโครงการต่อหลังจากไม่ได้รับการต่อบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่าเรื่องนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะมีการบอกเลิกสัญญาหรือสามารถบอกได้ว่าเอกชนที่ได้รับสัมปทานจะไม่ได้เดินหน้าโครงการต่อ ที่สำคัญสำนักงานอีอีซีก็ไม่สามารถที่จะเป็นผู้ที่บอกเลิกสัญญากับเอกชนได้เนื่องจากมีคณะกรรมการกำกับสัญญาโครงการนี้อยู่

ชี้อีอีซีให้สิทธิประโยชน์ลงทุนได้เช่นกัน

ในส่วนของการลงทุนของเอกชนในโครงการนี้ที่ไม่ได้รับการต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุน อีอีซีได้บอกให้ภาคเอกชนไปยื่นอุทธรณ์สิทธิ์จากบีโอไอ แต่หากไม่ได้รับการต่ออายุก็มีทางเลือกคือสามารถที่จะมาขอการส่งเสริมการลงทุนจากอีอีซีได้เช่นกัน ซึ่งอีอีซีสามารถที่จะให้สิทธิ์ประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนในโครงการนี้ได้เช่นกัน

โดยสิทธิ์ประโยชน์ทางด้านภาษีที่ให้ไม่แตกต่างกันมากคือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่น้อยกว่า 8 ปี นอกจากนั้นอีอีซีสามารถอำนวยความสะดวกในเรื่องใบอนุญาตการทำงานของชาวต่างชาติ การขอวีซ่า หรือการขออนุญาตเกี่ยวกับการก่อสร้างในโครงการ

ยันรัฐบาลให้ความสำคัญโครงการ 

นายจุฬากล่าวต่อว่า รัฐบาลปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และถือว่ามีความสำคัญต่อโครงการอีอีซีและอยากให้มีการเริ่มก่อสร้างโครงการได้ เพราะว่าหากมีการก่อสร้างแล้วเสร็จการเดินทางไปยังพื้นที่อีอีซีจาก กทม.นั้นใช้เวลาเพียงแค่ 1ชั่วโมงเท่านั้น ช่วยให้การเดินทางและการไปทำงาน การทำธุรกิจเกิดขึ้นด้วยความสะดวกและรวดเร็ว  

ทั้งนี้ในส่วนของเงื่อนไขที่ไม่ได้รับการต่ออายุบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอนั้นเคยเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่เอกชนที่ได้รับสัมปทานต้องได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอแต่สถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อบีโอไอไม่ต่ออายุให้เรื่องก็ยังมีทางออก คือเป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินซึ่งสามารถที่จะมีการแก้ไขสัญญาในส่วนนี้ว่าหากไม่มีบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอก็สามารถที่จะออกใบอนุญาตเข้าพื้นที่ก่อสร้าง (NTP) ให้กับเอกชนก่อนได้

วัดใจเอกชนเดินหน้าก่อสร้าง 

ซึ่งหากตัดสินใจแบบนี้ก็จะต้องขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้กำหนดการออก NTP ให้เพื่อให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการได้  

“การตัดสินใจคงเกิดขึ้นเร็วๆนี้เพราะเมื่อบีโอไอไม่ต่อการส่งเสริมการลงทุนให้กับเอกชนแล้ว คณะกรรมการกำกับสัญญาก็ต้องเป็นคนที่รับลูกต่อ ว่าจะเดินต่อยังไงหากจพให้ออก NTP โดยไม่ต้องมีบัตรส่งเสริมจากบีโอไอได้ ก็ต้องส่งต่อไปยัง รฟท.ว่าการตัดสินใจของกรรมการ หลังจากนั้นจึงจะได้คำตอบจากเอกชนที่ได้สิทธิ์ให้เริ่มก่อสร้าง ซึ่งจะเห็นว่าโครงการนี้จะไปทางใดระหว่างการที่เอกชนเดินหน้าต่อหรือเลิกสัญญา ซึ่งตามกระบวนการไม่สามารถไปบอกเลิกสัญญาได้ทันที ไม่อย่างนั้นก็จะมีการฟ้องร้องกันตามมาได้ต้องทำตามขั้นตอนที่มีอยู่”นายจุฬา กล่าว