ส.อ.ท. เสนอคุมส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก ช่วย ผปก. 

ส.อ.ท. เสนอคุมส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก ช่วย ผปก. 

รองประธาน "ส.อ.ท." เสนอธนาคารแห่งประเทศไทย คุมส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก หวังช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 37 ในเดือนมกราคม 2567 ภายใต้หัวข้อ “ดอกเบี้ยสูง หนี้พุ่ง อุตสาหกรรมไปต่ออย่างไร” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ค่อนข้างมีความกังวลกับการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะดำเนินนโยบายในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% เป็นระยะเวลานาน ซึ่งต้องเข้าใจว่าที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พยายามอย่างมากที่จะสร้างสมดุลในการบริหารนโยบายการเงินของประเทศ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจและการเสริมสร้างเสถียรภาพของค่าเงินบาท

ส.อ.ท. เสนอคุมส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก ช่วย ผปก. 

อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบค่อนข้างมากกับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากที่สุดของผู้ประกอบการในประเทศ และกำลังอยู่ในช่วงที่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และการต้องเร่งปรับธุรกิจเพื่อรับมือกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกตัวในช่วงปีที่ผ่านมา 

ในประเด็นเรื่องส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรือ Spread ของธนาคารพาณิชย์ ที่มีความห่างมากเกินไปเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศในอาเซียน ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องแบกรับต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการชะลอการขยายธุรกิจหรือการลงทุนใหม่ เพิ่มความเสี่ยงขาดสภาพคล่องทางการเงินและการผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งกระทบต่อกำลังซื้อสินค้าของประชาชน ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ จึงเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาออกมาตรการกำกับดูแลตรวจสอบสถาบันการเงินในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยทั้งในส่วนของเงินฝากและสินเชื่อ รวมทั้งมีการประกาศกำหนดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบที่ภาครัฐอยู่ระหว่างดำเนินการนั้น จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับประชาชน ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจที่สะสมมานานได้ในระดับปานกลาง โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเสนอให้ภาครัฐออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อพัฒนาศักยภาพในกระบวนการผลิตและเสริมสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งควรช่วยพิจารณาปรับลดเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อให้สะดวกยิ่งขึ้น

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 230 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 37 จำนวน 6 คำถาม ดังนี้

1.  ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน (2.5% ต่อปี) ในระดับใด?

อันดับที่ 1 : ปานกลาง 49.1% 

อันดับที่ 2 : มาก 44.8%

อันดับที่ 3 : น้อย 6.1%

2.  อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างไร (Multiple choices)

อันดับที่ 1 : ผู้ประกอบการชะลอการขยายธุรกิจ หรือชะลอการลงทุนใหม่ 67.8%

อันดับที่ 2 : เกิดความเสี่ยงขาดสภาพคล่องทางการเงิน และการผิดนัดชำระหนี้ 61.3%

อันดับที่ 3 : กำลังซื้อสินค้าของประชาชนลดลงจากการระมัดระวังการใช้จ่าย 60.4%

อันดับที่ 4 : กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 53.9%  และซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน

3.  ธนาคารแห่งประเทศไทยควรมีบทบาทในการดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ระหว่างเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์อย่างไร 

อันดับที่ 1 : ออกมาตรการกำกับดูแลตรวจสอบสถาบันการเงิน 80.0% และประกาศกำหนดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) ที่เหมาะสม  

อันดับที่ 2 : ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของสถาบันการเงิน 20.0% เป็นไปตามกลไกตลาด

4.  ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการ/นโยบายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการจากภาวะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงอย่างไร (Multiple choices)

อันดับที่ 1 : สนับสนุนมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับ SMEs ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ 74.3% และปรับลดเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อให้สะดวกยิ่งขึ้น

อันดับที่ 2 : ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 52.2%

อันดับที่ 3 : ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในเรื่องดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ 50.9% เช่น ธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank)

อันดับที่ 4 : จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนสินเชื่อในการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทย     47.0%

5.  ภาคอุตสาหกรรมมีแนวทางในการรับมือกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในระดับสูงอย่างไร (Multiple choices) 

อันดับที่ 1 : ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจและปรับแผนธุรกิจ 70.4%

อันดับที่ 2 : ชะลอการลงทุนและการจ้างงาน ปรับการบริหารกระแสเงินสดใหม่ 57.4% เพื่อเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน

อันดับที่ 3 : ปรับการบริหารเครดิตเทอมทั้งในส่วนของเจ้าหนี้และลูกหนี้การค้า 37.8% เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน

อันดับที่ 4 : เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถของธุรกิจ 36.5% หรือเปลี่ยน/ย้ายสถาบันการเงินเพื่อรีไฟแนนซ์ให้ได้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำลง 

6.  คาดว่ามาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบของภาครัฐ จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระดับใด 

อันดับที่ 1 : ปานกลาง 42.6%

อันดับที่ 2 : มาก 34.3%

อันดับที่ 3 : น้อย 23.1%