ไทย ‘เซฟโซน’ รับย้ายฐานลงทุน เป็นกลางบนสมรภูมิ ‘ภูมิรัฐศาสตร์’

ไทย ‘เซฟโซน’ รับย้ายฐานลงทุน เป็นกลางบนสมรภูมิ ‘ภูมิรัฐศาสตร์’

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์หนุนกระแสย้ายการลงทุน “ดับบลิวเอชเอ” มองจีน-สหรัฐ ขัดแย้ง หนุนลงทุนไทย หวังแลนด์บริดจ์สร้างความได้เปรียบด้านเศรษฐกิจ “บีโอไอ” เร่งดึงลงทุน “อีวี-เซมิคอนดักเตอร์” ส.อ.ท.ชี้ช่วยหนุนปรับสู่อุตฯยุคใหม่ สรท.เผยผู้ส่งออกเร่งปรับตัวรับวิกฤติทะเลแดง

Key Points

  • ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้เกิดกระแสย้ายฐานการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ
  • ไทยมีความพร้อมที่จะรองรับการย้ายฐาน โดยมีจุดเด่นที่เป็นพื้นที่เซฟโซนให้กับนักลงทุนต่างชาติ
  • BOI มีแผนที่จะเร่งดึงการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าเซมิคอนดักเตอร์
  • วิกฤติทะเลแดงทำให้ผู้ส่งออกต้องรับมือกับค่าระวางเรือที่สูงขึ้น เช่น การลดต้นทุน การหาตลาดใหม่ 

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนา “Geopolitics 2024: จุดปะทุสงครามใหญ่ พลิกวิกฤติโลก สู่โอกาสประเทศไทย” เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 โดยในการเสวนาช่วง “รัฐปรับตัว ธุรกิจปรับแผน พลิกวิกฤติสู่โอกาส”  ได้มีผู้แทนจากภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมประเทศผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์    โดยเฉพาะผลกระทบที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนเข้ามาในอาเซียน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอซเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า ปี 2567 จะเกิดเหตุการณ์ที่กระทบกับไทย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจต้องจับตาการเลือกตั้งสหรัฐที่คาดการณ์ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ อาจกลับมาเป็นประธานาธิบดี ซึ่งอาจส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐมากขึ้น 

“ความตรึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐไม่ได้หมดไป แม้แต่ในช่วงนายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ความตรึงเครียดระหว่างมหาอำนาจ 2 ประเทศก็ไม่ลดลง”

ไทย ‘เซฟโซน’ รับย้ายฐานลงทุน เป็นกลางบนสมรภูมิ ‘ภูมิรัฐศาสตร์’

ทั้งนี้แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตเข้ามาไทยเป็นเทรนด์ที่เกิดต่อเนื่องมา 1-2 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจีนย้ายฐานเข้ามาเร็วมากและซื้อที่ดินเพื่อลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวนมาก ซึ่งมีทั้งนักลงทุนจากจีนและไต้หวันที่นอกจากมาลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังมีอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีซัพพลายเชนมาลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ WHA ทำรายได้สูงสุดต่อเนื่อง 2 ปี และมั่นใจว่าปี 2567 จะมีรายได้สูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

“การย้ายฐานการลงทุนและการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยเป็นแทรนด์ที่ชัดเจนมากและจะมีต่อเนื่องอีกหลายปี รวมทั้งยังมีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการย้ายการลงทุนมาไทยสะท้อนถึงความต้องการลงทุนและสร้างซัพพลายเชนใน Safe Zone ที่ปลอดภัยและเป็นกลางที่ถือเป็นจุดแข็งของไทย”

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นโครงการสำคัญที่ควรเกิดขึ้น เพื่อทำให้ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งขนาดใหญ่ที่สร้างข้อได้เปรียบเพิ่มขึ้น ซึ่งแลนด์บริดจ์ไม่ควรมองแค่โครงการโลจิสติกส์ แต่เป็นการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเพื่อใช้เป็นเส้นทางการขนส่งทางเรือและพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อมโยงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor :SEC) ที่รัฐบาลต้องชี้ให้เห็นภาพรวมการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้

ทั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์นั้นมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ เพราะเป็นเส้นทางเชื่อมการขนส่งที่เชื่อมเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (BRI) ของจีน ซึ่งแบ่งเบาความแออัดของช่องแคบมะละกา และเป็นเส้นทางที่จีนให้ความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์

“ประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจได้เร็วจะมีท่าเรือเป็นทางออกทางทะเล เหมือนสิงคโปร์และเวียดนาม ซึ่งมีท่าเรือเป็นทางออกทะเลจำนวนมาก ซึ่งขึ้นกับการวางตำแหน่ง หากสิงคโปร์คิดว่าจะเก็บเกาะไว้เป็นธรรมชาติที่สวยงามก็จะเป็นบาหลีหรือฮาวาย แต่ถ้าคิดว่าจะทำให้ประเทศเป็นเกาะที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจจึงสร้างท่าเรือและมีอุตสาหกรรมทำให้พัฒนาเศรษฐกิจเร็วและไทยต้องมองโอกาสนี้ด้วย”

ไทย ‘เซฟโซน’ รับย้ายฐานลงทุน เป็นกลางบนสมรภูมิ ‘ภูมิรัฐศาสตร์’

ส.อ.ท.ชี้หนุนสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ช่วงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนทำให้ขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 20-25% เกิดการแบ่งค่ายของซัพพลายเชนและเทคโนโลยี โดยสหรัฐและจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1-2 ของไทย ซึ่งไทยได้ดุลการค้าสหรัฐปีละ 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ที่ไทยส่งออกวัตถุดิบส่งไปจีนเพื่อผลิตสินค้าส่งออก

ทั้งนี้ ในช่วงสงครามการค้าพบว่าสมาชิก ส.อ.ท.ทั้ง 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบคำสั่งซื้อลดลง โดยเฉพาะสินค้าชิ้นส่วน อะไหล่หรือวัตถุดิบ แต่ในวิกฤตินี้บางกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นโอกาส โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก รองจากจีนและมีคำสั่งซื้อจนผลิตแทบไม่ทัน

ทุกวิกฤติก็มีโอกาส ก่อนหน้านี้เราต้องคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงาน หรือความมั่นคงทางอาหารแต่ปัจจุบันเราต้องพูดความมั่นคงทางด้านซัพพลายเชน” 

ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมเราต้องปรับเปลี่ยนการผลิตของเราจากเดิมที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิต โดย 30 % เรานำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นประเด็นที่เรามาศึกษาทำอย่างไรในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตให้เพิ่มขึ้น เพราะผลกระทบจากปัญหาจีโอโพลิติกส์ โดยทางสภาอุตสาหกรรม ตั้งเป้า ไว้ว่าจากนี้ 3-5 ปี จะมีการผลิตทดแทนการนำเข้าให้ได้ 10 % และอีก 20 % ภายใน 10 ปี โดยทางสภาฯต้องการให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรมด้านซัพพลายเชน

เร่งปรับตัวสู่อุตสาหกรรมใหม่

"ต้องดูผลการเลือกตั้งสหรัฐจะเป็นอย่างไร นโยบายเศรษฐกิจเป็นอย่างไร แต่วิกฤตินี้เป็นโอกาสของไทยในการย้ายฐานการผลิต ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยแต่ยังมีเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และที่ต้องจับตาในอนาคต คือ ฟิลิปปินส์ ซึ่งต้องดูปัจจัยสนับสนุนของแต่ละประเทศ แต่ไทยมีความพร้อมหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยนักลงทุนจีนเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ส.อ.ท.เริ่มปรับตัวเข้ากับอุตสาหกรรมใหม่ โดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้าอัจฉะริยะกำลังวางแผนปรับโครงสร้างที่สอดคล้องกับการการย้ายฐานของไต้หวัน ซึ่งไทยต้องเตรียมความพร้อมดึงนักลงทุน โดยเฉพาะการลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบและกฎหมายที่ล้าสมัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและดึงเงินลงทุนต่างประเทศ 

“ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์แม้จะเป็นวิกฤติแต่ก็เป็นโอกาสสำหรับไทยที่จะนำวิกฤตินี้เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมดั้งเดิมไทยเข้าสูอุตสาหกรรมใหม่”

ไทย ‘เซฟโซน’ รับย้ายฐานลงทุน เป็นกลางบนสมรภูมิ ‘ภูมิรัฐศาสตร์’

สรท.ชี้ผู้ส่งออกรับมือทะเลแดง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กระทบทั่วโลก แต่ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสที่โจทย์การทำธุรกิจยากขึ้น โดยช่วงปลายปี 2566 เกิดวิกฤติทะเลแดงทำให้เรือสินค้าผ่านทะเลแดงไม่ได้ และบางสายเรือต้องเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป 

“ปกติมีเรือขนส่งสินค้า 100-150 ลำก็ลดลงเหลือ 50-60 ลำ กระทบค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น 4-5 เท่า ค่า Surcharge เพิ่มเป็น 800-1,000 ดอลลาร์ และระยะเวลาส่งมอบสินค้าเพิ่มเป็น 15-20 วัน ทำต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น และเกิดความล่าช้าในการชำระเงินที่อาจส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินผู้ส่งออก ซึ่งผู้ส่งออกต้องวางกลยุทธ์และทำงานร่วมกับภาครัฐ”

นายชัยชาญ กล่าวว่า ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์กระทบการค้าระหว่างประเทศและซัพพลายเชน แต่เราต้องมีแนวทางรับมือกับพายุเศรษฐกิจในปี 2567 และปรับตัวรุกเพื่อพลิกวิกฤตสู่โอกาส โดยต้องมีกลยุทธ์เชิงรุกและเชิงรับการส่งออก ทั้งการรักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดแอฟริกาและอินเดีย รวมถึงเร่งขยายตลาดที่มีข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)

ไทย ‘เซฟโซน’ รับย้ายฐานลงทุน เป็นกลางบนสมรภูมิ ‘ภูมิรัฐศาสตร์’

“บีโอไอ”เร่งดึงลงทุนจากต่างประเทศ

นายวิรัตน์ อัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เกิดการย้ายฐานของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนไทยเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากจีนเข้ามาเพิ่มขึ้นจนมีสัดส่วน 20-30% ซึ่งแนวโน้มปี 2567 ยังมีการลงทุนจากจีนและไต้หวันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้นักลงทุนประเทศอื่นยังไม่ลดลงการลงทุน เช่น ญี่ปุ่น ขณะที่อุตสาหกรรมที่เติบโตมาก เช่น EV อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งมีนักลงทุนจากจีนขอส่งเสริมการลงทุนมากกว่าทำให้สัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนจีนและไต้หวันเพิ่มขึ้น

“2 ปีที่ผ่านมาการลงทุนของจีนคิดเป็น 20-30% ของนักลงทุนต่างประเทศในไทย ซึ่งปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต”

นอกจากนี้ แม้ว่าไทยจะมีข้อได้เปรียบลดลงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เพราะเวียดนามมีแรงงานที่มีค่าแรงต่ำกว่า แต่ไทยมีข้อได้เปรียบหลายด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน แรงงานที่มีทักษะเฉพาะ และพลังงานสะอาดทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดึงการลงทุนสาขาที่ต้องใช้พลังงานสะอาด

รวมทั้งบีโอไอมีกิจกรรมดึงการลงทุนต่อเนื่องมาหลายปีในการพาผู้ประกอบการไทยไปดูลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งในเวียดนาม เมียนมา และอินโดนิเซีย ซึ่งนักลงทุนสามารถติดต่อขอข้อมูลการลงทุนจากสำนักงานบีโอไอได้