'เจโทร' ชี้ 'ท่องเที่ยว-ส่งออก-นโยบายรัฐ' ดันเศรษฐกิจไทยครึ่งปี 67 บวก

'เจโทร' ชี้ 'ท่องเที่ยว-ส่งออก-นโยบายรัฐ' ดันเศรษฐกิจไทยครึ่งปี 67 บวก

"เจโทร“ คาดเศรษฐกิจไทยครึ่งปี 67 กลับมาเป็นบวก ปัจจัย "ท่องเที่ยว-ส่งออก-นโยบายรัฐ" พร้อมลงทุนโรงงานและเครื่องจักร หวังรัฐบาลไทยเอื้อกฏระเบียบด้านภาษี รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน รับนักลงทุนอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลลงทุน ”แลนด์บริดจ์"

นายจุน คุโรดะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ (Japan External Trade Organization, Bangkok) หรือ JETRO เปิดเผยว่า หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (เจซีซี) ได้สำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยเพื่อสะท้อนสภาพธุรกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างครอบคลุม 

อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้ จัดทำระหว่างวันที่ 28 พ.ย. - 20 ธ.ค. 2566 จากสมาชิก JCCB จำนวน 1,646 ราย โดยมีบริษัทที่ตอบกลับ 539 ราย (คิดเป็น 32.7%) พบว่า สภาพธุรกิจโดยสะท้อนจากค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (Diffusion Index: DI) อยู่ที่ -10 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 และปรับตัวลงมาอยู่ที่ -16 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยตัวเลขคาดการณ์ก่อนจะปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 10 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567

\'เจโทร\' ชี้ \'ท่องเที่ยว-ส่งออก-นโยบายรัฐ\' ดันเศรษฐกิจไทยครึ่งปี 67 บวก

ทั้งนี้ ตัวเลขคาดการณ์ค่าดัชนี DI ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ -16 เนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ อาทิ การบริโภคสินค้าคงทนที่ยังซบเซา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงและอุปสงค์ที่มีต่อการส่งออกลดลงซึ่งเป็นผลจากนโยบายการเงินแบบตึงตัวแม้ว่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวขาเข้าและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ลดลงก็ตาม

“ตัวเลขคาดการณ์ค่าดัชนี DI ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นั้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น มาเป็นบวก เนื่องมาจากการที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นคาดหวังต่อการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยวขาเข้า ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่มีต่อการส่งออก

สำหรับประเด็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ใช้ในการวางแผนธุรกิจ (บาทไทยต่อดอลลาร์) พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ ระบุว่าใช้อัตราตั้งแต่ 35.0 บาทต่อดอลลาร์ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 35.5 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ใช้ในการวางแผนธุรกิจบ้างแล้ว โดยผู้ประกอบการมักจะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทค่อนข้างอ่อนค่าเมื่อเที่ยบกับเงินดอลลาร์ ส่วนเงินเยนญี่ปุ่นปรับให้อ่อนเมื่อเทียบกับเงินบาท

สำหรับข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ยังคงให้ความสำคัญเานกฎระเบียบและการบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับภาษีศุลกากรและพิธีการศุลกากรที่ 36% ทึ่เป็นประเด็นที่บริษัทต่าง ๆ ต้องการร้องขอต่อรัฐบาลไทยมากที่สุด ส่วนประเด็นรองลงมาได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และการส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการกระตุ้นการบริโภค นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน และการผ่อนปรนกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เป็นต้น

“แนวโน้มครึ่งปีแรกปีนี้ดีขึ้นจึงปรับมาเป็นบวก ปัจจัยมาจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระตุ้นผู้บริโภคและมาตรการด้านภาษีที่รัฐบาลยังให้ความสำคัญและอยากให้สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานและการสนับสนุนด้านการเงิน แม้ไม่แน่ใจว่าไทยจะมีมาตรการกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจอย่างไรต่อไป แต่ก็หวังว่าจะช่วยได้ ส่วนมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตไม่มีการพูดถึง”

อย่างไรก็ตาม กฏระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่ยังคงมีปัญหาซึ่งผู้ประกอบการมองว่ามีขั้นตอนเยอะ ใช้เวลาดำเนินการ และยังค่อนข้างขึ่นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ส่วนการพัฒนาเรื่องการขนส่งหลัก ๆ คือ ด้านการจราจรที่ยังแออัด แต่ก็ดีขึ้น เพราะภาครัฐจะพยายามวางระบบราง สร้างรถไฟฟ้าที่หลากหลาย อีกสิ้่งที่คาดหวังคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ของรัฐบาลไทย จากการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปญี่ปุ่นเมื่อเดือนธ.ค. 2566 ได้มีการเชิญชวนให้มาลงทุน ซึ่งนักลงทุนอยู่ระหว่างศึกษาและหาข้อมูลเพิ่มเติมถึงการลงทุนเช่นกัน แต่ในส่วนของเจโทรนั้นยังไม่มีความเห็น เพราะยังไมมีการวิเคราะห์รายละเอียดโครงการว่าเป็นอย่างไร จึงยังไม่อยู่ในสถานะออกความเห็นว่าจะเป็นอย่างไร ถือเป็นหน่วยงานนับข้อมูลจากรัฐบาลไทยแล้วส่งต่อข้อมูลให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป