ชงบอร์ด PPP ชี้ขาดสายสีส้ม พบ 'อินชอน' ไม่ส่งงบการเงิน

ชงบอร์ด PPP ชี้ขาดสายสีส้ม พบ 'อินชอน' ไม่ส่งงบการเงิน

อนุกรรมการด้านกฎหมาย โยนคณะกรรมการพีพีพี เคาะ ก.พ.นี้ ชี้ขาดข้อร้องเรียน ปมคุณสมบัติผู้ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พบข้อมูล ITD Group อาจขาดคุณสมบัติหลัง “อินชอน” ไม่ส่งงบการเงิน 3 ปี “สุริยะ” ไม่ตั้งกรรมการสอบ รอศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดี

การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งที่ 2 ยังไม่ได้ข้อสรุป ถึงแม้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะประกาศผู้ชนะการประมูลไปแล้ว โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 ได้ตีกลับผลการประมูลหลังจากมีรัฐมนตรีอย่างน้อย 8 คน คัดค้านการอนุมัติผลการประมูล

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2567 สคร.ได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ในคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ครั้งที่ 1/2567 เพื่อพิจารณาประเด็นที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ร้องเรียนเกี่ยวกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 

สำหรับการประชุมครั้งนี้มีนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด เป็นประธานในที่ประชุม นายธิบดี วัฒผู้อำนวยการ สคร. และนางวชิรญา เพิ่มภูศรี รองผู้อำนวยการ สคร.เข้าร่วมการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นสมควรให้ความเห็นชอบตามความเห็นฝ่ายเลขานุการฯ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอคณะกรรมการ PPP เพื่อพิจารณาก่อนรายงานนายกรัฐมนตรี 

สำหรับความเห็นฝ่ายเลขานุการฯ ได้พิจารณาว่าด้วย พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 กำหนดให้กระบวนการคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ อยู่ในหน้าที่และอำนาจของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการและคณะกรรมการ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีบางคดีพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนโครงการฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล 

อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายในการประชุมครั้งที่ 4/2566 ได้มีความเห็นว่าประเด็นข้อร้องเรียนของ BTSC มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.ในการคัดเลือกเอกชนที่จะเข้าเป็นคู่สัญญากับภาครัฐตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบันได้ผลการคัดเลือกเอกชนโครงการฯ เป็นข้อยุติแล้ว 

นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฎว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างนำเสนอผลการคัดเลือกเอกชนต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้น การใช้ดุลพินิจดังกล่าวข้างต้นจึงมิใช่ปัญหาข้อกฎหมาย และมิใช่กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

รายงานข่าวระบุว่า ผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายในครั้งนี้ มีความเห็นตามฝ่ายเลขานุการฯ  โดยที่ประชุมไม่ได้มีการพิจารณาตัดสินชี้ขาด แต่จะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอแก่ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยเบื้องต้นมีกำหนดการประชุมในช่วงกลางเดือน ก.พ.2567

ITD อาจไม่ผ่านซองคุณสมบัติ

สำหรับประเด็นที่มีการยื่นให้มีการพิจารณานั้น เนื่องจากพบหลักฐานและเอกสารรายงานการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่มีการระบุถึงการพิจารณาคุณสมบัติของ ITD Group ที่อาจขัดต่อข้อกฎหมายและข้อกำหนดของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยมีสาระสำคัญ 2 ประเด็น ประกอบด้วย 

1.การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาในประเด็นที่นายเปรมชัย กรรณสูต กรรมการ ITD ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ITD Group เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ซึ่งอาจขัดต่อประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

2.การตรวจสอบคุณสมบัติสำหรับนิติบุคคลต่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้ต้องรวมกลุ่มกับนิติบุคคลไทยเพื่อให้เป็นกลุ่มนิติบุคคล รวมทั้งต้องแสดงมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรายปีรวม 3 ปี โดยแสดงงบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต แต่การประมูลในโครงการนี้กลับพบว่า ITD Group อาจไม่เข้าข่ายผ่านเกณฑ์ตรวจสอบคุณสมบัติ

“อินชอน” ขาดส่งข้อมูลการเงิน

เนื่องจากการพิจารณาเกี่ยวกับเอกสารของ Incheon Transit Corporation  (ITC) ผู้ร่วมยื่นข้อเสนอกับ ITD Group ยื่นเอกสารไม่ครบถ้วนหรือไม่ชัดเจนตามแบบที่กำหนดไว้ 4 รายการ โดยเฉพาะเอกสารทางการเงิน ได้แก่ 1.โครงสร้างการจัดการของบริษัทหรือกลุ่มบริษัท 2.ข้อมูลเกี่ยวกับการฟ้องร้องหรือวินิจฉัยคดีโดยอนุญาตโตตุลาการในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา 3.สถานะทางการเงิน และ 4.เอกสารทำบัญชีที่ตรวจสอบและรับรองแล้วย้อนหลัง 3 ปี 

ขณะเดียวกันที่ปรึกษาโครงการ คือ Bangkok Mass Transit Orange Line Consultants (BMTO) ยังระบุไว้ในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2565 ว่าการพิจารณาเอกสารของ ITC บางรายการได้เสนอข้อมูลไว้แต่ไม่ได้ระบุให้ชัดเจน และบางรายการไม่ได้เสนอเอกสารไว้ โดยทางที่ปรึกษา BMTO ได้พิจารณาจากข้อมูลที่ปรากฎในข้อเสนอรวมถึงค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ของ ITC เพื่อประกอบการพิจารณาเอกสารทั้ง 4 รายการให้ชัดเจน 

ทั้งนี้ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้สืบค้นข้อมูลจากทางเว็บไซต์ ITC ในส่วนของสถานะทางการเงินของ ITC ซึ่งได้แสดงฐานะทางการเงิน รวมถึงงบกำไรขาดทุนของ 3 ปี ล่าสุด คือ 2021 , 2020 และ 2019 

รวมทั้งประเด็นของการสืบค้นข้อมูลจากทางเว็บไซด์ ITC นั้น เป็นประเด็นท้วงติงในการประชุมคณะกรรมการ ม.36 ด้วยว่า ข้อมูลที่ได้สืบค้นมานั้นเป็นข้อมูลจริง และได้ตรวจสอบทุกรายการหรือไม่ รวมทั้งการตรวจสอบข้อมูลเอกสารของผู้ยื่นข้อเสนอ ให้ รฟม.ยืนยันว่าเป็นการตรวจสอบตามข้อกำหนดใน RFP และเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว

“อาร์เอฟพี” กำหนดให้ส่งข้อมูลการเงิน

รายงานข่าว ยังเผยด้วยว่า ข้อกำหนดในกฎหมายและเงื่อนไขประมูลโครงการเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ จะมีการกำหนดเอกสารข้อเสนอ 4 ซอง ประกอบด้วย ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซองที่ 3 ด้านการลงทุนและผลตอบแทน และซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ซึ่งเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องส่งเอกสารและผ่านการตรวจสอบตามข้อกำหนดต่างๆ 

ขณะที่กรณีของ ITC มีการตั้งข้อสังเกตที่ต้องพิจารณาว่าเอกสารของ ITC ที่นำมาประกอบการยื่นข้อเสนอโครงการบางรายการได้เสนอข้อมูลไว้แต่ไม่ได้ระบุให้ชัดเจน และบางรายการไม่ได้เสนอเอกสารไว้ ถือเป็นการกระทำที่อาจขัดต่อข้อกำหนดของเอกสารประกวดราคาและกฎหมายร่วมทุนหรือไม่ เพราะ ITC คือเอกชนที่เป็นพันธมิตรกับ ITD Group ในการยื่นข้อเสนอ ดังนั้นจำเป็นต้องส่งเอกสารให้ครบถ้วนตามข้อกำหนด 

อีกทั้งกรณีที่ปรึกษา BMTO ตรวจสอบพบว่าเอกสารบางรายการของ ITC ไม่ได้ระบุชัดเจนและบางรายการไม่ได้เสนอเอกสารไว้ และยอมรับในที่ประชุมคณะกรรมการ ม.36 ว่ามีการสืบค้นข้อมูลจากทางเว็บไซด์เองนั้น ถือเป็นการกระทำที่อาจขัดต่อข้อกำหนดของกฎหมายหรือไม่ เพราะอาจไม่ใช่เพียงการใช้ดุลพินิจในการพิจารณา แต่ประเด็นของการนำส่งข้อมูลทางการเงิน นับเป็นหนึ่งในข้อกำหนดหลักเกณฑ์การยื่นข้อเสนอประมูลโครงการ

“คมนาคม” ยืนยันไม่ตั้งกรรมการสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมการพิจารณาผลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด อีกทั้งยังมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง โดยทราบว่าปัจจุบันเหลือข้อพิพาทอีก 1 คดี 

ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงมองว่าโครงการนี้ต้เองรอให้การพิจารณาของศาลปกครองแล้วเสร็จจึงจะดำเนินการต่อได้ ขณะที่ทางกระทรวงคมนาคมจะไม่มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบคู่ขนาน เพราะมองว่าควรให้เป็นอำนาจของกระบวนการยุติธรรมในการพิจารณา