‘ไทย’ ขาดดุลการค้า ‘จีน’ ประวัติการณ์พุ่งต่อเนื่องแตะ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์

‘ไทย’ ขาดดุลการค้า ‘จีน’ ประวัติการณ์พุ่งต่อเนื่องแตะ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์

ไทยขาดดุลการค้าปี 66 แตะ 3.66 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงเป็นประวัตการณ์ ชี้นำเข้ากลุ่มสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้น สรท.ชี้ผู้ประกอบการไทยต้องบริหารต้นทุนแข่ง สู้ด้วยคุณภาพ แนะรัฐคุมมาตรฐาน มอก. ด้าน  ‘กูรูอีคอมเมิร์ซ’ เปิดเส้นทางสินค้าจีนเข้าไทย ทำไม ‘ค่าส่งสินค้าราคาถูก”

  • Key Points

  • การค้าระหว่างไทยและจีนขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดในปี 2566 ขาดดุลการค้า 36,635 ล้านดอลลาร์

  • สินค้านำเข้าจากจีนที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นมากจะเป็นสินค้าสำเร็จรูป เช่น ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก

  • ภาคเอกชนไทยจะต้องมีการปรับตัวบริหารต้นทุนเพื่อแข่งขันด้านราคา และผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน

  • ภาครัฐจะต้องเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายด้านมาตรฐานสินค้า เช่น มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (มอก.)

การค้าระหว่างไทยและจีนขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังปี 2548 ที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) การค้าระหว่าง 2 ประเทศ ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2546 ไทยขาดดุลการค้า 313 ล้านดอลลาร์ ถัดมาอีก 10 ปี ในปี 2556 ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มเป็น 10,494 ล้านดอลลาร์ และล่าสุดในปี 2566 ไทยขาดดุลการค้า 36,635 ล้านดอลลาร์

ปี 2566 ไทยและจีนมีมูลค่าการค้าร่วมกัน 104,964 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปจีน 34,164 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้าจากจีน 70,800 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 36,635 ล้านดอลลาร์

สินค้านำเข้าจากจีนที่สำคัญและมีการขยายตัวสูงที่สุด คือ รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก 2,606 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า ขยายตัวถึง 490.56% รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก 2,236 ขยายตัว 3.35% , เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 6,565  ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2.36% และผลิตภัณฑ์โลหะ 2,370 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.29%

‘ไทย’ ขาดดุลการค้า ‘จีน’ ประวัติการณ์พุ่งต่อเนื่องแตะ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์

 

ขณะที่สินค้านำเข้ากลุ่มที่มีมูลค่า เช่น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 8,759 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 3.52% , เคมีภัณฑ์ 6,026 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.85% , เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 5,807 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 1.79% , เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 3,785 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.05% 

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สินค้านำเข้าจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ สินค้าทุนหรือวัตถุดิบ ซึ่งการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จะนำมาใช้ในภาคการผลิต เพื่อผลิตสินค้าสำหรับป้อนตลาดในประเทศหรือส่งออก ซึ่งจะทำให้ภาคการผลิตขยายตัวและส่งผลต่อเนื่องถึงการจ้างงานในประเทศ

ส่วนสินค้าสินค้าสำเร็จรูปจะเป็นสินค้าที่มีโอกาสเข้ามาแข่งขันกับผู้ผลิตในไทย และอาจกระทบกับการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศ โดยจากสถิติการนำเข้าในปี 2566 พบว่าสินค้านำเข้าจากจีนที่ขยายตัวสูงยังคงเป็นสินค้าสำเร็จรูป เช่น รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก , ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก 

ทั้งนี้ การที่สินค้าจีนนำเข้ามามากขึ้นทำให้ผู้ผลิตสินค้าในไทยจำเป็นต้องปรับตัว เช่น การบริหารต้นทุนเพื่อให้ราคาสินค้าที่ผลิตในไทยสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนได้

นอกจากนี้ ในด้านการกำกับดูแลด้านมาตรฐานสินค้าของภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการดูแลมาตรฐานสินค้านำเข้า โดยที่ผ่านมาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้เข้มงวดการบังคับใช้มาตรฐานอุตสหกรรม (มอก.) ซึ่งมีทั้ง มอก.แบบบังคับที่ส่วนใหญ่ใช้ในสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า

รวมทั้งมีมาตรฐานแบบทั่วไปที่กฎหมายไม่ได้บังคับ ซึ่งจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อสินค้าที่ได้มาตรฐาน มอก.

‘ไทย’ ขาดดุลการค้า ‘จีน’ ประวัติการณ์พุ่งต่อเนื่องแตะ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์

จับตานำเข้าสินค้าสำเร็จรูป-อาหาร

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า จีนเป็นตลาดส่งออกและนำเข้าที่สำคัญของไทย โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนสูงในปีที่ผ่านมา ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

‘ไทย’ ขาดดุลการค้า ‘จีน’ ประวัติการณ์พุ่งต่อเนื่องแตะ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์

สินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยนำเข้ามากได้แก่ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์สาหรับการบริโภค สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสาเร็จรูป ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ขนมหวานและช็อกโกแลต ข้าวและผลิตภัณฑ์จากแป้ง กาแฟ ชา เครื่องเทศ เครื่องดื่ม

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจีนอาจไม่เติบโตตามที่คาดไว้ได้ แต่ทั้งนี้เนื่องจากไทยและจีนเป็นคู่ค้ามีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ดีกันมานาน ดังนั้นผู้ส่งออกไทยไม่ควรมองข้ามตลาดจีนแม้เศรษฐกิจจีนในภาพรวมจะขยายตัว 4-5% ชะลอลงกว่าในอดีตที่เคยขยายตัว 7-8%

ทั้งนี้การที่จีนได้คาดการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2567 ไว้ว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งคาดว่าไทยจะยังได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กาลังมาถึงนั้น จึงถือเป็นโอกาสและปัจจัยการสนับสนุนด้านการส่งออก โดยเฉพาะในสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อาทิ ผลไม้ อาหาร ขนมขบเคี้ยวเครื่องสาอาง เครื่องใช้ในบ้าน เป็นต้น

ทำไมสินค้าจีนมาไทย ‘ค่าส่งถูก’

เมื่อกดสั่งสินค้าจากเว็บอีคอมเมิร์ซอย่าง ลาซาด้า และช้อปปี้ คำถามที่ผุดขึ้นในหัวของหลายคน คือ ทำไม “ค่าส่งสินค้าจากจีน” ถึงถูกมาก หลายครั้งถูกยิ่งกว่าสั่งซื้อจากผู้ค้าไทยเสียอีก ทั้งที่เป็นการส่งข้ามประเทศ

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้คร่ำหวอดวงการอีคอมเมิร์ซไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตลาดดอทคอม อธิบายว่า สินค้าจากจีนจะส่งมาไทยเป็น “ตู้สินค้าใหญ่” ทางรถบรรทุก รถไฟและเรือแบบเหมาค่าส่งรวม ภายในตู้เหล่านี้มีสินค้าจำนวนนับหมื่นนับแสนชิ้น โดยเมื่อแยกค่าส่งเป็นรายชิ้นแล้วจึงมีราคาต่ำมาก

สินค้าเหล่านี้จะถูกส่งมาพักใน “คลังสินค้าในเขตปลอดอากร” (Free Zone Warehouse) ของไทย เสมือนว่าสินค้าที่พักยังคงอยู่นอกประเทศ ไม่มีการจัดเก็บภาษี เหตุผลที่ไทยมีคลังสินค้าเช่นนี้ เพื่อเป็นจุดพักสินค้าสำหรับส่งต่อไปยังประเทศที่สาม อย่างกัมพูชาหรือเวียดนามต่อ แต่ผู้ค้าจีนใช้ช่องทางกฎหมายหนึ่งที่ระบุไว้ว่าหากสินค้านำเข้ามีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่ต้องเสียภาษีขาเข้า

ด้วยเหตุนี้ ผู้ขายจีนจึงเบิกสินค้าจากคลังออกมาไม่เกิน 1,500 บาทในแต่ละครั้ง เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีดังกล่าว ซึ่งของที่คนไทยสั่งในเว็บอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่ก็ไม่เกินหลักพันอยู่แล้ว และการได้ที่พักสินค้าตามจุดต่าง ๆ ในไทยยังช่วยให้เวลาจัดส่งรวดเร็วอย่างมาก

นายตฤณ วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทย กล่าวว่า อีกสาเหตุสำคัญ เพราะไทยรับผิดชอบค่าส่งมากกว่าจีน โดยสมัยก่อน ช่วงที่เกิดองค์การ “สหภาพไปรษณีย์สากล” หรือ Universal Postal Union มาไม่นาน มีการตกลงร่วมกันว่าประเทศที่เจริญมากกว่ารับผิดชอบ “ส่วนค่าขนส่ง” มากกว่าประเทศที่เจริญน้อยกว่า 

ทั้งนี้ไทยกับจีนได้เซ็นข้อตกลงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2512 ซึ่งสมัยนั้น จีนถือเป็นประเทศยากจน ระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา และโทรศัพท์ ยังไม่ครอบคลุมเท่าไทย จึงกลายมาเป็นข้อตกลงที่ไทยจ่ายส่วนค่าส่งในสัดส่วนมากกว่าจีน และยังไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนจนถึงปัจจุบัน

รัฐบาลจีนช่วยค่าใช้จ่ายพักสินค้า

ส่วนสาเหตุที่ 3 รัฐจีนช่วยค่าใช้จ่ายพักสินค้า สำหรับผู้ค้าไทย ก่อนจะส่งไปต่างประเทศ ก็ต้องเช่าคลังสินค้าก่อน เพื่อรอรอบส่งทางเครื่องบินหรือรถบรรทุก ค่าใช้จ่ายก็คิดตามระยะเวลาฝากและจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ ยิ่งจำนวนตู้มากและฝากนาน ก็ยิ่งเสียเงินมากขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่ฝั่งจีนนั้น นายตฤณ ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลจีนช่วยอุดหนุนรายจ่ายส่วนนี้ โดยโรงงานจีนสามารถนำสินค้าไปตั้งใน “พื้นที่พักรอสินค้า” ก่อนทำพิธีศุลกากร หรือที่เรียกว่า “Cross-Border E-Commerce Park” ซึ่งในพื้นที่นี้ รัฐบาลช่วยสนับสนุนตั้งแต่ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าฝากสินค้า บางสินค้าที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นการส่งออกก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนค่าฝาก

สาเหตุเหล่านี้ เห็นได้ว่า การใช้คลังสินค้าไทยในเขตปลอดภาษี ข้อตกลงทางไปรษณีย์สากลที่ไทยรับผิดชอบค่าส่งมากกว่า รวมถึงรัฐบาลจีนมีการอุดหนุนค่าพักสินค้าในประเทศ จึงทำให้ต้นทุนการส่งของจีนต่ำกว่าไทยนั่นเอง

สำหรับผู้ประกอบการไทย เมื่อต้องรับมือสินค้าจีนราคาถูกที่ทะลักเข้ามา การจะแข่งกันทางราคาอาจอยู่ในสถานะเป็นรอง เพราะจีนผลิตออกมาจำนวนมาก ขายให้ทั้งโลก และยังมีสายป่านยาว จึงทำให้สินค้าที่ไม่ได้มีการแปรรูปอย่างเหล็ก หรือสินค้าเกษตรไทย ถูกจีนและประเทศเพื่อนบ้านชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น ไทยอาจจำเป็นต้องสร้างความแปลกใหม่ขึ้นมี “เอกลักษณ์” ของตัวเองในตัวสินค้า เพื่อสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่า ซึ่งทำได้ตั้งแต่การทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ การแปรรูปสินค้า อย่างแทนที่จะส่งออกทุเรียนสดอย่างเดิม ก็แปรรูปเป็นขนมทุเรียน คุกกี้ทุเรียน น้ำพริกทุเรียน