ดิจิทัลวอลเล็ต เลื่อนไม่มีกำหนด ‘จุลพันธ์’ แจงอำนาจรัฐนิยามเศรษฐกิจวิกฤติ

ดิจิทัลวอลเล็ต เลื่อนไม่มีกำหนด ‘จุลพันธ์’ แจงอำนาจรัฐนิยามเศรษฐกิจวิกฤติ

ดิจิทัลวอลเล็ตยังเลื่อนไม่มีกำหนด! “จุลพันธ์” ระบุรัฐบาลมีอำนาจตามกฎหมายบริหารราชการ หากครม.มีความเห็นว่าเศรษฐกิจวิกฤติ ก็พร้อมเดินหน้า เตรียมประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตฯ ชุดใหญ่หลังรับฟังความเห็น ป.ป.ช. ย้ำไม่มีแผนเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อเดินหน้านโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งไม่ว่าความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะมีความเห็นว่าอย่างไรก็พร้อมเดินหน้าต่อ 

“เบื้องต้นจากที่เห็นเอกสารร่างความเห็นป.ป.ช. ที่หลุดออกมา ก็เห็นโจทย์พอสมควรว่าข้อเป็นห่วงในแต่ละประเด็นคืออะไร อะไรที่ตอบได้เราก็ตอบ อะไรที่ตอบไม่ได้เราก็เตรียมการเพื่อตอบข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะเหล่านั้น“

โดยหลังจากรับฟังความเห็นของ ป.ป.ช. อย่างเป็นทางการแล้วรัฐบาลก็จะตัดสินใจว่าจะเดินหน้าในรูปแบบใดต่อไป อย่างไรก็ตามไม่มีการพูดคุยว่าจะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดโครงการ

นายจุลพันธ์ กล่าวถึงประเด็นกรอบไทม์ไลน์โครงการฯ ที่จะล่าช้าออกไปว่า ตอนนี้ออกไม่ทันเดือนพ.ค.2567 ซึ่งหลังจากนี้ยังไม่มีการกำหนดวันที่ชัดเจน แต่หวังว่าจะไม่นาน 

นายจุลพันธ์ กล่าวถึงประเด็นผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยนิด้าโพลล์ ว่า เราไม่ได้ใช้โพลล์ซึ่งเป็นความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่งในการตัดสินทิศทางและกำหนดนโยบาย อย่างไรก็ตามพร้อมรับฟังความคิดเห็น โดยจาก นิด้าโพลล์ คนส่วนมากก็จะเป็นห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจ แน่นอนคนที่อยู่ระดับบน ถ้าไม่เดือดร้อนก็คงไม่รู้สึก ขณะที่พี่น้องประชาชนที่อยู่ในระดับล่าง ณ นาทีนี้คงเรียกว่าเข้าขั้นแล้ว อยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตราย

“สถานการณ์ตอนนี้เป็นความถดถอยทางเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดจากภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงหนี้ภาคเอกชน ขณะนี้ไม่มีใครที่มีความพร้อมในเรื่องการลงทุน ถ้าเป็นประชาชนก็คิดถึงเรื่องการประทังชีวิต ลดหนี้สิน ภาคเอกชนก็โฟกัสที่การปรับโครงสร้างหนี้ของตัวเอง ทำให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก สะท้อนจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำมาโดยตลอด”

ขณะนี้ไม่มีใครเป็นผู้กำหนดและนิยามว่าเศรษฐกิจวิกฤติหรือไม่ จึงเป็นเรื่องของปัจเจกแต่ละบุคคล ซึ่งรัฐบาลมีอำนาจตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในการบริหารราชการ ดังนั้นหากรัฐบาลมองว่าขณะนี้คือเศรษฐกิจวิกฤติ เราก็พร้อมจะเดินหน้าเพื่อแก้ปัญหาประชาชน ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ก็มีหน้าที่ในการติดตามและตรวจสอบ หากภายหลังโครงการแล้วเสร็จมีการทุจริตคอร์รัปชัน

นายจุลพันธ์ ตอบประเด็นที่ว่าตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 เศรษฐกิจต้องวิกฤติจึงจะกู้เงินได้นั้น ตนมองว่าเป็นอำนาจของรัฐบาลในการตีความว่าเศรษฐกิจวิกฤติหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เรามองว่าวิกฤติ แต่บางคนอาจมองว่าไม่วิกฤติ ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นฐานอำนาจของใครในการวินิจฉัย

ส่วนที่ว่าจะเปลี่ยนเป็นการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกัน แต่ตามข้อเท็จจริง พ.ร.ก. เป็นกลไกตามอำนาจของรัฐบาลที่มีอยู่ เพียงแต่ยังไม่มีการพูดคุย

ทั้งนี้ ประเมินว่าความล่าช้าในการเริ่มดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตออกไปนั้น จะทำให้ผลลัพธ์ของมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ลดลง ซึ่งตามปกติมาตรการต่างๆ กว่าจะเห็นผลก็ดีเลย์ 3-5 เดือน เมื่อโครงการเลื่อนออกไปผลลัพธ์ที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในปี 2567 ก็จะลดน้อยลงและขยับออกไป โดยในช่วงระหว่างนี้ก็ยังมีกลไกอื่นๆ ที่รัฐบาลใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเพียงหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลทำ