'ส.อ.ท.' จับตาภูมิรัฐศาสตร์ ฉุดยอดส่งออกรถยนต์ปี 67 พร้อมหั่นเป้าลง 0.52%

'ส.อ.ท.' จับตาภูมิรัฐศาสตร์ ฉุดยอดส่งออกรถยนต์ปี 67 พร้อมหั่นเป้าลง 0.52%

“ส.อ.ท.” ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ปี 67 ที่ 1.9 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.17% ชี้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ฉุดยอดผลิตเพื่อส่งออกลง 0.52% หวังยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 9.39% ปัจจัยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ส่วนยอดผลิตปี 66 ที่ 1,841,663 คัน เพิ่มขึ้น 3.17%

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ประมาณการผลิตรถยนต์รวมทุกประเภทปี 2567 ที่ 1,900,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ผลิตอยู่ที่ 1,841,663 คัน เพิ่มขึ้น 3.17% แยกเป็นผลิตเพื่อการส่งออกที่ 1,150,000 คัน ลดลงจากปี 2566 มียอดผลิตเพื่อส่งออกที่ 1,156,035 คัน หรือ 0.52% การผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ 750,000 คันเทียบกับปี 2566 การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศอยู่ที่ 685,628 คัน เพิ่มขึ้น 9.39%

อย่างไรก็ตามปี 2567 ที่ตั้งเป้าไว้ใกล้เคียงปีก่อน เพราะยังคงกังวลปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่มีการสู้รบในทะเลแดง รวมไปถึงสมรภูมิรบอื่น ๆ ที่ยังคงไม่แน่นอน การเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบต่อการส่งออกและเงินเฟ้ออาจสูงขึ้น รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในสินค้าประเภทเดียวกัน และคู่แข่งเกิดขึ้นในภูมิภาค และนโยบายของประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก เช่น การขึ้นภาษีสรรพสามิตในรถยนต์บางประเภทในลาว

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกที่ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตรถกระบะที่อาจไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การขาดแคลนชิ้นส่วนที่คลี่คลายลง การลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทยที่เริ่มปีนี้จะทำให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น การที่จีนเปิดประเทศซึ่งอาจส่งผลให้การค้าโลกและการท่องเที่ยวเติบโต คำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้า สหรัฐฯ, ยุโรป, จีน เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มอ่าวอาหรับ GCC และอัตราดอกเบี้ยอาจอยู่ในช่วงขาลงทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น เป็นต้น

นายสุรพงษ์ กล่าวถึงเป้าการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศปี 2567 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ยังคงคาดหวังจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาไทย ทำให้เกิดการเชื่อมโยงซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นทั่วโลก จากกฎระเบียบและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เริ่มมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามปัจจัยลบคือ หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ ค่าครองชีพ และอัตราดอกเบี้ยทั้ง 4 ตัวที่ยังคงสูง ส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของประชาชนลดลง ทำให้ยอดขายอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีซัพพลายเชนหลายอุตสาหกรรมชะลอตัวลง ส่งผลต่อการจ้างงาน ทำให้รายได้คนงานก่อสร้างและโรงงานลดลง จึงคาดหวังว่าการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่น่าจะเบิกได้เดือนพ.ค.นี้ จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากล่าช้าก็จะกระทบได้เช่นกัน

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยประจำเดือนธ.ค. 2566 ทั้งสิ้น 133,621 คัน ลดลงจากเดือนธ.ค. 2565 ที่ 5.75% เพราะผลิตขายในประเทศลดลงถึงร้ 29.94% โดยเฉพาะรถกระบะที่ผลิตลดลงถึง 41.30% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะ เพราะหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90.6% ของ GDP

นอกจากนี้ อีกปัจจัยมาจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่นำเข้ามาขายในประเทศ โดยมียอดจดทะเบียนถึง 75,690 คัน ทำให้ผลิตรถยนต์นั่งลดลง 16.24% แต่การผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกปี 2566 กลับเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 11.44% ตามยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 11.30% และสูงกว่าส่งออกปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด 19 และลดลงจากเดือนพ.ย. 2566 ที่ 18.19% เนื่องจากวันทำงานน้อยกว่า

สำหรับจำนวนรถยนต์ที่ผลิตรวมทั้งปี 2566 มีทั้งสิ้น 1,841,663 คัน ลดลงจากปี 2565 ที่ 2.22% ส่วนการผลิตเพื่อส่งออกเดือนธ.ค. 2566 ผลิตได้ 82,592 คัน เท่ากับ 61.81% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนธ.ค. 2565 ที่ 3.70% ส่วนทั้งปี 2566 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 1,156,035 คัน เท่ากับ 62.77% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ระยะเวลาเดียวกัน 11.44%

นายสุรพงษ์ กล่าวถึงการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนธ.ค. 2566 ผลิตได้ 51,029 คัน เท่ากับ 38.19% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนธ.ค. 2565 ที่ 29.94% และทั้งปี 2566 ผลิตได้ 685,628 คัน เท่ากับ 37.23% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2565 ที่ 18.98%

สำหรับยอดการผลิตรถจักรยานยนต์ปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,472,872 คัน ลดลงจากปี 2565 ที่ 5.86% โดยแยกเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) 2,120,738 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 5.20% แต่ชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (CKD) 352,134 คัน ลดลงจากปี 2565 ที่ 42.35%

ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนธ.ค. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,326 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย. 2566 ที่ 10.88% แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วที่ 17.48% ลดลงเพราะสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถกระบะจากภาระหนี้ครัวเรือนสูง และเพราะเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงตามการส่งออกที่ลดลง โรงงานจึงลดกะทำงานและลดทำงานล่วงเวลา คนงานขาดรายได้ ประกอบกับค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้เหลือเงินไม่เพียงพอในการใช้จ่ายอย่างอื่นได้

ในขณะที่การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนธ.ค. 2566 ส่งออกได้ 90,305 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้ว 9.34% และลดลงจากเดือนธ.ค. 2565 ที่ 19.09% แยกเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ICE 87,390 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 21.26% ส่งออกรถยนต์ HEV 2,915 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 366.40% มูลค่าการส่งออก 62,499.78 ล้านบาท ลดลงจากเดือนธ.ค. 2565 ที่ 12.41%

ทั้งนี้ เดือนม.ค. – ธ.ค. 2566 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 1,117,539 คัน สูงกว่ายอดส่งออกก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด -19 ปี 2562 และสูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ในระยะเวลาเดียวกัน 11.73% เพิ่มขึ้นเพราะประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ยังมียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกตลาด ยกเว้นตลาดแอฟริกาที่ลดลง แยกเป็นรถยนต์สันดาปภายใน ICE 1,102,694 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 11.30% ส่งออกรถยนต์ HEV 14,845 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 56.02 มูลค่าการส่งออก 719,991.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 15.25%

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า รถจักรยานยนต์เดือนธ.ค. 2566 มีจำนวนส่งออก 76,573 คัน (รวม CBU + CKD) เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย. 2566 ที่ 0.56% และลดลงจากเดือนธ.ค. 2565 ที่ 16.73% โดยมีมูลค่า 5,764.14 ล้านบาท ลดลงจากเดือนธ.ค. 2565 18.97%