เปิดฐานะการเงิน กทม. พร้อมจ่ายหนี้ BTS 2.3 หมื่นล้านบาท

เปิดฐานะการเงิน กทม. พร้อมจ่ายหนี้ BTS 2.3 หมื่นล้านบาท

สภา กทม.รับร่างข้อบัญญัติจ่ายขาดเงินสะสม 2.3 หมื่นล้านบาท สางค่าจ้าง “บีทีเอส” งานระบบเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ขีดเส้นต้องพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 45 วัน คาดจ่ายถึงมือเอกชนต้นเดือน มี.ค.นี้

การแก้ปัญหาหนี้จากการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีความคืบหน้าเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันมีหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวจากส่วนต่อขยายที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต) รวม 105,000 ล้านบาท แบ่งได้ ดังนี้

1.งานโยธา มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงการคลัง โดยสถานะปัจจุบันกรุงเทพมหานครจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยให้กระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 2562 และมีเงื่อนไขในการเจรจาตาม ม.44 รวมมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านบาท และจะใช้แนวทางเสนอกระทรวงมหาดไทยขอสนับสนุนงบจากรัฐบาล

2.ระบบเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) หรือ E&M โดยกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ หลังจากนั้นบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ได้จ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS 

ทั้งนี้มีสถานะติดตั้งแล้วเสร็จและครบกำหนดชำระให้ BTSC รวมทั้งมีเงื่อนไขในการเจรจาตาม ม.44 มูลค่ารวม 23,000 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ยถึง เม.ย.2567) โดยมีแนวทางจัดการด้วยการเสนอสภากรุงเทพมหานครอนุมัติรับมอบ E&M โดยจ่ายจากงบของกรุงเทพมหานคร

3.งานเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง (O&M) โดยกรุงเทพมหานคร จ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด

กรุงเทพธนาคม จ้าง BTSC ซึ่งสถานะปัจจุบัน BTSC ฟ้องศาลปกครองขอให้ชำระค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง รวมวงเงิน 27,400 ล้านบาท (คำนวณถึงเดือน ต.ค.2566) และขณะนี้รอศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษา

รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 4) ประจำปี 2567 ในวันที่ 24 ม.ค.2567 มีนายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. ... โดยระบุในที่ประชุมว่า ปัจจุบันสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 16 ม.ค.2567 ภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว และเงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพัน ณ วันที่ 16 ม.ค.2567 จำนวน 51,804 ล้านบาท 

“ด้วยกรุงเทพมหานครต้องรับมอบทรัพย์สินระบบเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 และชำระค่างานระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ตามโครงการดังกล่าว จึงเสนอสภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบจ่ายขาดเงินสะสม จำนวน 23,488 ล้านบาท” นายชัชชาติ กล่าว

ทั้งนี้มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายในญัตตินี้ ประกอบด้วย นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง , นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย , นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง , นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน และนายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่

รวมทั้งหลังการอภิปรายที่ประชุมมีมติ 46 เสียง เห็นชอบหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติฯ และตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ จำนวน 23 คน กำหนดเวลาแปรญัตติ 3 วันทำการ และกฎหมายได้กำหนดให้คณะกรรมการวิสามัญฯ ต้องพิจารณาภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สภากรุงเทพมหานครได้รับร่างข้อบัญญัติเป็นครั้งแรก ซึ่งจะทำให้การเดินรถไฟฟ้าไม่สะดุดหลังจากเอกชนรับภาระมานาน

ขยายเวลาสมัยประชุมรับพิจารณางบ

รวมทั้งสภากรุงเทพมหานครเห็นชอบขยายเวลาสมัยประชุมออกไป 15 วัน (ถึงวันที่14 ก.พ.2567) เพื่อให้คณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณาให้เสร็จเพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สภากรุงเทพมหานครต้องพิจารณา

นายชัชชาติ กล่าวหลังการประชุมว่า การประชุมวันนี้เป็นวาระต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยที่ผ่านมาการก่อหนี้ผูกพันต้องผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร

ซึ่งโครงการนี้ยังไม่เคยผ่านสภาฯ อย่างเป็นทางการ จึงเป็นการตั้งญัตติเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณ จากนั้นจะเข้าสู่วาระที่ 2 และ 3 รวมถึงเป็นขั้นตอนที่ต้องหารือกรุงเทพธนาคมและอาจจะมีเอกชนร่วมด้วย เพื่อสรุปข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนและเป็นธรรมทุกฝ่าย และให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด

ส่วนกรณีเงินสะสมจ่ายขาดมีจำนวนมาก เพราะกรุงเทพมหานครพยายามใช้งบประมาณอย่างประหยัด โดยปี 2566 มีเงินเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 ล้านบาท แต่กรุงเทพมหานครยังมีภาระที่ไม่ผูกพัน เช่น ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าที่ยังอยู่ในศาลปกครองกว่า 20,000 ล้านบาท รวมถึงค่ารถดับเพลิงที่ยังอยู่ในชั้นศาลปกครอง ซึ่งวงเงินสะสมจ่ายขาดอาจไม่พอกับภารผูกพันในอนาคตจึงต้องใช้อย่างรอบคอบ และพยายามหารายได้เพิ่มเข้ามา

ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้สรุปฐานะการเงินปี 2567 ข้อมูล ณ วันที่ 16 ม.ค.2567 รวมแล้วมีเงินจ่ายสะสมยกมา 96,640 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 ส่วน ประกอบไปด้วย

1.เงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพัน 51,804 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53.61% ของเงินจ่ายสะสมทั้งหมด 

2.เงินกันไว้เบิกจ่ายเหลือมปี 18,336 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18.97 % ของเงินจ่ายสะสมทั้งหมด

3.เงินสำหรับภาระผูกพันและการสำรองเงินที่ทำให้ยอดเงินสะสมลดลง 15,899 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.45% ของเงินจ่ายสะสมทั้งหมด

4.เงินสำหรับคาดการณ์เงินสะสมที่จะใช้สำรองไว้ให้ยืมไปใช้จ่ายในปี 2567 รวม 10,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10.97% ของเงินจ่ายสะสมทั้งหมด

กทม.คาดจ่ายหนี้ก้อนแรก มี.ค.นี้

นอกจากนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติฯ และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. ... จำนวน 23 คน กำหนดเวลาแปรญัตติ 3 วันทำการ และกฎหมายได้กำหนดไว้ให้คณะกรรมการวิสามัญฯ ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่สภากรุงเทพมหานครได้รับร่างข้อบัญญัติเป็นครั้งแรก

รายงานข่าวจากกรุงเทพมหานคร ระบุว่า หลังจากขั้นตอนตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามกำหนดจะต้องดำเนินการพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 45 วัน ก่อนนำมาเสนอในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครลงมติวาระ 2 และวาระ 3 

หลังจากนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะต้องลงนามอนุมัติรายจ่ายภายใน 7 วัน จึงประเมินว่ากรุงเทพมหานครจะจ่ายเงินค่าจ้างส่วนนี้ให้แก่เอกชนได้ในช่วงต้นเดือน มี.ค.2567