“ราคาปาล์ม”เสี่ยงดิ่งหนักมี.ค.67 ปัจจัยเปลี่ยนผลผลิตล้น-ดีมานด์หล่น"

“ราคาปาล์ม”เสี่ยงดิ่งหนักมี.ค.67  ปัจจัยเปลี่ยนผลผลิตล้น-ดีมานด์หล่น"

“ปาล์มน้ำมัน”คือ สินค้าเกษตรตัวต่อไปที่ต้องเฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากมีหลากหลายปัจจัยลบที่รุมเร้า เสี่ยงต่อราคาอาจตกต่่ำได้ในช่วงผลผลิตที่กำลังจะออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือน มี.ค. นี้เป็นต้นไป

Key Point

. อินโดนีเซียได้ยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม 

.ความนิยมใช้รถอีวีมีมากขึ้น การใช้ไบโอดีเซลลดลง

.ราคาปาล์มน้ำมัน เสี่ยงตกต่ำ ตั้งแต่เดือน มี.ค. - เม.ย. 67 

ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร( สศก.) เปิดเผยว่า สินค้าสำคัญที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือปาล์มน้ำมัน แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะติดตามและเร่งแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์โดยรวมยังน่ากังวล

เริ่มตั้งแต่ ปี 2564 ถึงต้นปี2565 ราคาปาล์มดิบที่เกษตรกรขายได้ปรับขึ้นสูงสุด ถึงกิโลกรัม(กก.) ละ 10.25 บาท ตามราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลก เนื่องจากเกิดภาวะสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ต่อมาเมื่อสถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ข้อตกลงของรัสเซียและยูเครนในการส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันที่คลี่คลายลง ราคาปาล์มดิบ ได้ปรับตัวลดลง

“ราคาปาล์ม”เสี่ยงดิ่งหนักมี.ค.67  ปัจจัยเปลี่ยนผลผลิตล้น-ดีมานด์หล่น\"

ไม่เพียงเท่านั้น ตั้งแต่ปลายปี 2565 อินโดนีเซียได้ยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ประกอบกับการขยายตัวของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันของไทยที่มากขึ้นประมาณ 10 % ทำให้มีปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มมากกว่าความต้องการใช้ในประเทศ รวมถึงผลกระทบจากการปรับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยเป็น ยูโร5ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ที่ทำให้ปัจจุบันเกิดข้อกำจัดทางเทคนิค ไม่สามารถเพิ่มส่วนผสมไบโอดีเซลเกินกว่า บี7

 

“ราคาปาล์ม”เสี่ยงดิ่งหนักมี.ค.67  ปัจจัยเปลี่ยนผลผลิตล้น-ดีมานด์หล่น\"

ประกอบกับความนิยมใช้รถอีวีมีมากขึ้น ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซลลดลง ทั้งหมดส่งผลกระทบต่อการส่งออกและราคาปาล์มน้ำมันในประเทศ ซึ่งที่ผ่านคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้ร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ผลักดันให้มีการส่งออกน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น โดยมีมาตรการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกอยู่ในระดับที่ไทยสามารถแข่งขันในการส่งออกได้ ส่งผลให้นับตั้งแต่ปี2565ประเทศไทยส่งออกน้ำมันปาล์มได้ถึง1ล้านตัน และปี2566สามารถส่งออกได้มากกว่า9แสนตัน จากเดิมที่ไทยเคยส่งออกน้ำมันปาล์มได้ประมาณ2-3แสนตัน

นอกจากนี้ ยังมีคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์ม ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์มอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บริหารจัดการให้ปริมาณการผลิต การใช้ การส่งออก และปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มอยู่ในระดับที่เหมาะสม และมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ

 รวมทั้งเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันปาล์มและปาล์มดิบในประเทศเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรชาวสวนปาล์ม และจากการ

คาดการณ์ว่าในปี2567ปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศลดลง ทำให้มีน้ำมันปาล์มส่วนเกิน ซึ่งควรจะเร่งผลักดันให้มีการส่งออกน้ำมันมากขึ้น

“ปัจจุบัน ไทยสามารถรักษาระดับราคาผลปาล์มไว้ได้ในช่วง5-6บาทต่อกก. แต่การบริหารจัดการราคาปาล์มทะลายนับจากนี้ มีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากคาดว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันจะออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน มี.ค. 2567 จึงต้องเตรียมเพิ่มการส่งออกอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันราคาตกต่ำที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนนี้”

รายงานจาก สศก. คาดการณ์ว่า ปี 2567 เทียบกับปี 2566 ปาล์มน้ำมันของไทยจะมีเนื้อที่ให้ผล 6.38 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 2.08% 

ให้ผลผลิต 18.10 ล้านตันลดลง 0.55 % และผลผลิตต่อไร่ 2,836 กิโลกรัม ลดลง 2.61 %  เนื่องจากสภาพอากาศ

ร้อนแล้งในช่วงเดือนม.ค.- เม.ย.  2566 และกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงเดือนพ.ย. จนถึงต้นปี 2567 สภาวะเอลนีโญอาจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอต่อ ความต้องการของต้นปาล์มน้ำมัน ต้นจึงไม่สมบูรณ์ จำนวนทะลายและน้ำหนักทะลายของปาล์มน้ำมันที่คาดว่า จะเก็บเกี่ยวได้ในปี 2567 จึงมีแนวโน้มลดลง

 ด้านความต้องการใช้ น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคอยู่ที่ 1.38 ล้านตัน ลดลง 2.48 %  ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานทดแทน 1.01 ล้านตัน ลดลงจาก 3.34% เนื่องจากในปี 2567 คาดว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ส่งผลกระทบทั้งภาคธุรกิจด้านการบริการร้านอาหาร โรงแรม และธุรกิจ ด้านคมนาคม ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคและเพื่อพลังงานทดแทนลดลง

ส่วนการ การส่งออก คาดว่าปริมาณและมูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์ของไทย จะอยู่ที  1 ล้านตัน ลดลง 2.44 % มูลค่า 27,380 ล้านบาท ลดลง 18.02%  เนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการเสียเปรียบ ด้านต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันการส่งออกน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ของไทยลดลง   

 สำหรับราคา มันปาล์มดิบภายในประเทศเคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก ในปี 2567 คาดว่าราคาน้ำมันปาล์มอยู่ที่กก.ละ 31.70 บาท และราคาผลปาล์มดิบ กก.ละ 5.70 บาท โดยปัจจัย ที่มีผลสถานการณ์ปาล์มน้ำมันของไทย  ด้านบวก คือการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยว  ส่วนปัจจัยด้านลบ ยังต้องเฝ้าระวังสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจส่งผลต่อราคาปุ๋ย และราคาน้ำมันดิบ

สถานการณ์ราคาปาล์มหากบริหารจัดการได้ดีผลกระทบก็จะไปไม่ถึงเกษตรกร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่น แต่ในทางตรงกันข้ามการบริหารจัดการไม่ดี เศรษฐกิจท้องถิ่นอาจสะดุดและกระทบถึงเศรษฐกิจในภาพใหญ่ได้