ดับบลิวทีโอ กังวล ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ ฉุดการค้าโลกปี 67

ดับบลิวทีโอ กังวล ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ ฉุดการค้าโลกปี 67

ทูตไทยในดับบลิวทีโอ เผย รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศโลก ชี้ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สร้างความตึงเครียดทางการค้า ด้านสมาชิกดับบลิวทีโอ ยกข้อกังวลทางการค้าหารือกันมากถึง 45 ข้อ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนใหญ่กังวลปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และบังคับใช้มาตรการสิ่งแวดล้อม

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา เปิดเผยผลรายงานขององค์การการค้าโลก(World Trade Organization: WTO) เรื่องพัฒนาการของสภาวะการค้าระหว่างประเทศของโลก (Overview of Developments in the International Trading Environment) ว่า การค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัว 3.3%ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวการค้าโลกในปี 2566 ที่ 0.8%

แต่มีความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ 1.เศรษฐกิจจีนที่อาจเติบโตช้ากว่าที่คาดไว้ โดยมีแนวโน้มขยายตัว4.6%ในปี 2567 ลดลงจาก 5.4%ในปี 2566 (ข้อมูลจากIMF)

2.แรงกดดันจากเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาพลังงานและอาหาร) ยังคงอยู่ในระดับสูงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

3.ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งล่าสุดในตะวันออกกลาง ที่รายงานนี้ยังไม่ได้นำมาผลกระทบมาพิจารณา

อย่างไรก็ดี ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกมีการประกาศใช้มาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้ามากกว่ามาตรการจำกัดทางการค้า ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีของการค้าโลก โดยมีการใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า 303 มาตรการ ครอบคลุมมูลค่าการค้ารวม 977.2 พันล้านดอลลาร์ มากกว่ามาตรการจำกัดทางการค้า 193 มาตรการ ครอบคลุมมูลค่าการค้า 337.1 พันล้านดอลลาร์

เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการจำกัดการนำเข้ามีความครอบคลุมทางการค้าสะสมเพิ่มขึ้นอย่างมากจากเพียง 73 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 0.6%ของมูลค่าการนำเข้ารวมของโลกในปี 2552 (ค.ศ.2009) มาเป็น 9.9%หรือ 2,480 พันล้านดอลลาร์และยังไม่มีสัญญาณลดลงในอนาคต

ดับบลิวทีโอ กังวล ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ ฉุดการค้าโลกปี 67

โดยมาตรการจำกัดการส่งออกที่เริ่มบังคับใช้ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ครอบคลุมสินค้าประเภทเครื่องจักรกล ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยา และเหล็กและเหล็กกล้า และสำหรับมาตรการจำกัดการนำเข้า ส่วนใหญ่ครอบคลุมสินค้าประเภท น้ำมันเชื้อเพลิง อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ ธัญพืช และเคมีภัณฑ์

ส่วนความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมทั้งความรุนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีแนวโน้มก่อให้เกิดการแบ่งแยกการค้า (Fragmentation)หรืออาจรุนแรงถึงปรากฏการณ์ลดลงของโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) โดยหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการแบ่งแยกทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ดัชนีมูลค่าการค้าระหว่างกลุ่มประเทศที่มีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันที่ขยายตัวช้ากว่ามูลค่าการค้าภายในกลุ่มที่ 4-6% ตั้งแต่สงครามในยูเครนอุบัติขึ้น

นอกจากนี้ รายงานยังพบว่าสัดส่วนการค้าสินค้าขั้นกลางในการค้ารวมของโลกลดลงอยู่ที่ 48.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 51 %ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า ในการประชุมคณะมนตรีว่าด้วยการค้าสินค้าของ WTO เมื่อเดือนพ.ย.66  สมาชิกได้หยิบยกข้อกังวลการค้ามากถึง 45 ข้อมาหารือกัน ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากปี 62 โดยประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นเป้าหมายของการสร้างความกังวลทางการค้า เช่น สหภาพยุโรป 11 ข้อ, จีน 7 ข้อ, สหรัฐฯ 7 ข้อ โดยทั้ง 45 ข้อนั้น มี 9 ข้อที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ และ 7 ข้อเกี่ยวกับการใช้มาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมแบบฝ่ายเดียวที่ส่งผลกระทบทางการค้า

การค้าโลกยังมีแนวโน้มกระจุกตัวมากขึ้นในประเทศผู้ส่งออกที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าโลกที่เข้าข่ายกระจุกตัวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจาก 9% ในปี 43 มาเป็น 19 ในปี 64 มีจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 778 รายการในปี 43 มาเป็น 1,075 รายการในปี 64 โดยมีจีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าคอขวดนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น โทรศัพท์มือถือและเซมิคอนดักเตอร์

รวมถึงมาตรการการค้าสินค้าเกษตร ยังคงเป็นมาตรการที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยมาตรการอุดหนุนสินค้าเกษตร สมาชิกให้ความสำคัญมากที่สุด และประเด็นอื่นๆ เช่น มาตรการจำกัดการเข้าสู่ตลาดของสินค้าเกษตร มาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าอาหาร และมาตรการกฏหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า และการให้ทำให้ป่าเสื่อมโทรม ของสหภาพยุโรป ความมั่นคงทางอาหาร

รายงานของ  OECD พบว่า มูลค่าการอุดหนุนสินค้าเกษตรสมาชิก OECD และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่สำคัญรวม 54 ประเทศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 851,000 ล้านดอลลาร์ ต่อปีในช่วงปี 63-65 โดยมาตรการอุดหนุนมูลค่าถึง 410,000 ล้านดอลลาร์ บิดเบือนกลไกตลาด และกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง ทั้งในแง่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตร การสร้างมลพิษทางน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งการใช้ปุ๋ย อาหารสัตว์ และเชื้อเพลิงที่มากเกินความจำเป็น” 

นอกจากนี้มาตรการอุดหนุนสินค้าเกษตรมูลค่าถึง 3.79 แสนล้านดอลลาร์ยังเป็นมาตรการอุดหนุนสินค้าเกษตรแบบเฉพาะรายสินค้า ซึ่งส่งผลกระทบในทางลบอย่างมากต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ การอุดหนุนสินค้าปศุสัตว์ และข้าวที่เป็นต้นกำเนิดสำคัญของก๊าซเรือนกระจกและมีเทน ตามลำดับในทางตรงกันข้าม มีการอุดหนุนเพียง 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีในการสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนา และ 1.6 พันล้านดอลลาร์ต่อปีที่ให้กับการใช้อุดหนุนเกษตรกรที่ใช้สินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม (Environmental public goods)

นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า ปัจจุบันการค้าโลกมีความท้าทายอยู่รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความตึงเครียดทางด้านภูมิศาสตร์และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ รวมทั้งประเด็นการค้าทั้งเก่าและใหม่ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอนาคตของการค้าโลก โดยเฉพาะเรื่องของการอุดหนุนที่สร้างความบิดเบือนทางการค้าอย่างมหาศาล ส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาและความมั่นคงทางอาหาร การเจรจาความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงที่ถือเป็นประเด็นเร่งด่วนในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ การปฏิรูปกลไกการระงับข้อพิพาทที่จะช่วยสร้างความชัดเจนและความสามารถในการบังคับใช้กฎระเบียบการค้าโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการปฏิรูปองค์การการค้าโลกเองเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการค้าพหุภาคี