เปิดวิสัยทัศน์ 'ประธาน ทอท.' คนใหม่ ยกระดับสนามบินไทย สู่ 'ประตูการบินโลก'

เปิดวิสัยทัศน์ 'ประธาน ทอท.' คนใหม่ ยกระดับสนามบินไทย สู่ 'ประตูการบินโลก'

"วิสนุ ปราสาททองโอสถ" เปิดวิสัยทัศน์ขับเคลื่อน ทอท.สู่เป้าหมายประตูการบินของโลก ดัน "สุวรรณภูมิ" ติด 1 ใน 50 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของโลกภายใน 2 ปี พร้อมเข็นทุกโครงการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท

ท่าอากาศยานของ ทอท.เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางอากาศแห่งภูมิภาค สู่ประตูการบินของโลก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.นับเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจเกรด A ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยในช่วงปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิดสามารถสร้างรายได้สูงถึง 6.2 หมื่นล้านบาท

พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ ก้าวเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) คนใหม่ภายใต้รัฐบาล “เศรษฐา” โดยฉายภาพการขับเคลื่อนองค์กรที่มีรายได้หลายหมื่นล้านบาทนี้ว่า “วิกฤติต้องเป็นโอกาส เมื่อผู้โดยสารยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นับเป็นเวลาที่ดีของการลงทุนขยายขีดความสามารถ และบริการให้ดีขึ้น เพื่อพร้อมรับต่อการกลับมาของผู้โดยสาร”

เนื่องจาก ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางผ่าน 6 ท่าอากาศยานภายใต้การดูแลของ ทอท.ฟื้นตัวอยู่ในระดับ 70% หากเทียบกับปี 2562 ที่มีผู้โดยสารรวมกว่า 141 ล้านคน โดยการฟื้นตัวดังกล่าวพบว่าตลาดจีนที่เคยเป็นตลาดใหญ่ในการเดินทางมาไทยยังไม่ฟื้นตัวตามสัดส่วนที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นขณะนี้นับเป็นโอกาสที่ ทอท.จะใช้ช่วงเวลาผู้โดยสารกำลังฟื้นตัว ท่าอากาศยานยังไม่แออัด ถึงเวลาลงทุนขยายขีดความสามารถ และบริการเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อม

อย่างไรก็ดี ในยุคที่ตนเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาท่าอากาศยานของ ทอท.โดยเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่เป็นประตูของประเทศไทย ต้องติด 1 ใน 50 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของโลก ภายใน 2 ปีนี้ และต้องการยกระดับให้ท่าอากาศยานของ ทอท.เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางอากาศแห่งภูมิภาค สู่ประตูการบินของโลก

เปิดวิสัยทัศน์ \'ประธาน ทอท.\' คนใหม่ ยกระดับสนามบินไทย สู่ \'ประตูการบินโลก\'

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักในการทำให้ ทอท. บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมายนั้น ตนมองว่าต้องมุ่งมั่นบริหารงานโดยยึด 5 ปัจจัยหลัก คือ

1. ให้คุณค่ากับกำลังคนทุกระดับ ทุกฝ่าย

2. สร้างความมั่นใจทางธุรกิจ เพื่อความมั่นคงในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

3. ความโปร่งใสตรวจสอบได้ คือ หัวใจสำคัญ

4. สร้างการยอมรับ (Trust) จากสังคม ประชาชน ผู้ใช้บริการทุกส่วน ในอุตสาหกรรมการบิน

5. บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการบินในรูป Home Team เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จร่วมกัน

นอกจากนี้ โจทย์สำคัญของการทำงานในปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่การเดินทางเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังผ่านพ้นช่วงเวลาของโควิด ส่งผลให้ปริมาณการจราจรทางอากาศเริ่มกลับมาฟื้นตัว ทอท.ได้วางกรอบนโยบาย แนวทางการบริหารงาน และพัฒนาท่าอากาศยาน แบ่งเป็น “นโยบายเร่งด่วน” คือ เร่งปรับปรุงพื้นที่ทางกายภาพ และระบบอำนวยความสะดวกทั้งในและนอกอาคารของท่าอากาศยาน นำระบบเทคโนโลยีบริการต่างๆ มาให้บริการ อาทิ ระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง (Common Use Passenger Processing Systems: CUPPS)

ขณะที่ “นโยบายแผนระยะยาว” ทอท.ต้องเดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยาน ลงทุนขยายพื้นที่และพัฒนาท่าอากาศยานแห่งใหม่เพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสาร ซึ่งเบื้องต้นมีแผนลงทุนใช้เม็ดเงินมากกว่าแสนล้านบาท ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ลงทุนโครงการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก เพื่อให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถเพียงพอต่อการให้บริการ และเติบโตไปสู่เป้าหมายการเป็นประตูการบินโลก รองรับทั้งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า

“อนาคตสุวรรณภูมิจะต้องมีโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็น 90 ล้านคนต่อปี ซึ่งปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้ให้ความเห็นชอบแล้วและอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติงบประมาณ”

นอกจากนี้ ยังมีโครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติงบประมาณและรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับความเห็นชอบแล้ว โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารอาคาร 1 เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ซึ่งจะทำให้ลดความแออัดของผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการได้เป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ต้องเดินหน้าโครงการเพิ่มสนามบินแห่งใหม่อีก 2 จังหวัด เพื่อรองรับเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ได้แก่

1.ท่าอากาศยานล้านนา ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการทางด้านพัสดุ ในการจัดหาที่ปรึกษาศึกษาแผนเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างท่าอากาศยาน

2.ท่าอากาศยานอันดามัน ตั้งอยู่ที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาขั้นตอนการจัดทำ TOR เพื่อศึกษาความพร้อมในการก่อสร้างท่าอากาศยาน

“ท่าอากาศยาน” เป็นประตูด่านแรกที่ต้อนรับผู้มาเยือน และเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่โลกกว้างของคนไทย การบริหารจัดการบริการที่ดีจึงเป็นคำตอบของโจทย์เพื่อทำให้ “ทอท.” เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้เข้ารัฐด้วยศักยภาพท่าอากาศยานที่เป็นประตูการบินโลก