'กกพ.' ย้ำ ค่าไฟงวดพ.ค.-ส.ค. 67 ต่ำกว่า 3.60 บาท ตามข้อเสนอเอกชน ทำยาก

'กกพ.' ย้ำ ค่าไฟงวดพ.ค.-ส.ค. 67 ต่ำกว่า 3.60 บาท ตามข้อเสนอเอกชน ทำยาก

“กกพ.” ย้ำ ค่าไฟงวดพ.ค.-ส.ค. 2567 ต่ำกว่า 3.60 บาทต่อหน่วย ทำยาก ลุ้น 5 ปัจจัย หลักกดกดค่าไฟให้ต่ำกว่าต้นทุน 4.20 บาท อาทิ กำลังผลิตก๊าซในอ่าวไทยได้ตามสัญญา และปริมาณก๊าซฯ จากพม่า หวังราคานำเข้า LNG ไม่พุ่ง ในขณะที่ กฟผ. ยังคงแบกภาระกว่า 1 แสนล้าน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้างวดเดือนพ.ค.-ส.ค. 2567 นี้ว่า จากโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติปัจจุบันนี้ ถือว่าไม่ใช่อำนาจของสำนักงาน กกพ. เนื่องจากก๊าซฯ ในอ่าวไทยถือเป็นทรัพยากรณ์ที่ใช้อย่างแพร่หลายที่ไม่ใช่เฉพาะใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าอย่างเดียวแล้ว จึงเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ดังนั้น มาตรการปรับราคาก๊าซธรรมชาติเข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอื่น ๆ ด้วย ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติเท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย (Gulf Gas) ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจาก 365 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 343 บาทต่อล้านบีทียู จึงต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล

"ครม.ให้อิงราคาโครงสร้างนี้ไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ต้องยอมรับว่าโครงสร้างราคาก๊าซฯ มีการคุยกันมานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่เข้าครม. ดังนั้น การปรับราคาค่าไฟงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ครั้งนี้ กระทรวงพลังงาน มีความเป็นห่วงทั้งเรื่องราคา LNG spot และจะต้องดูว่าปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่ปัจจุบันตัวเลขก็ยังไม่ชัดเจน จึงได้คำนวณปริมาณไว้ที่ 30% เพื่อไม่ให้กระทบ แล้วใช้วิธีคำนวนเชื้อเพลิงอื่น ๆ มาที่ 70%"

ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน ราคานำเข้า LNG ขณะนี้อยู่ในระดับ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และมีแนวโน้มลดลง จะทำให้ต้นทุนอื่น ๆ ต่ำกว่าที่ประมาณการ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็จะได้เงินคืนด้วย ดังนั้น หากยืนราคานี้ในระยะยาวจะทำให้กฟผ. ได้เงินคืนซึ่งอาจจะเอาไปหักกับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ที่ยังไม่ได้เอาตัวเลขมากบวกลบ จึงทำให้หนี้คงค้างยังไม่ได้รับคืนอยู่ที่ 95,777 ล้านบาท

“ครม.ให้ไปศึกษาทั้งต้นทุน ปริมาณก๊าซฯ ว่าจะเป็นเท่าไหร่ และภาระที่ต้องคืนกฟผ.ด้วย จึงต้องหารือในภาคนโยบายกับกระทรวงพลังงานเพื่อให้ กฟผ. กระทบน้อยสุด ดังนั้น ตัวเลขภาระกฟผ. งวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 2566 น่าจะออกในช่วงเดือนมี.ค. นี้ หากดูคร่าว ๆ น่าจะอยู่หลักหมื่นล้านบาท อาจส่งผลให้ภาระที่กฟผ. จะต้องรับสะสมในระดับ 1.1-1.2 แสนล้านบาท จากที่กฟผ. เคยรับภาระสูงสุดที่ 150,268 ล้านบาท ในงวดก.ย.-ธ.ค.2565”

นายคมกฤช กล่าวว่า จากข้อเสนอของเอกชนที่อยากให้ค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับ 3.60 บาทต่อหน่วย และในระยะยาวไม่เกิน 3 บาทต่อหน่วยนั้น หากมองการดำเนินตามโครงสร้างเดิมต้นทุนค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ระดับ 4.30 บาท เมื่อปรับโครงสร้างก๊าซฯ จึงขยับมาที่ 4.20 บาท อีกทั้ง งวดปัจจุบันมีเงิน Shortfall จาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 4,300 ล้านบาท เข้ามาช่วย จึงทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับ 4.18 บาท ซึ่งงวดที่ 2/2567 จะไม่มีเงินตรงนี้เข้ามาช่วย

ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้างวดเดือนพ.ค.-ส.ค. 2567 จะต้องจับตา 5 ปัจจัย หลักคือ

1. กำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทย ที่จะต้องผลิตให้ได้ตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจน

2. ปริมาณก๊าซฯ จากแหล่งพม่าจะหายไปหรือไม่ 

3. ราคา LNG spot

4. การคืนหนี้ให้กับกฟผ. และ

5. นโยบายภาครัฐที่จะเข้ามาอุดหนุนจากต้นทุนตามโครงสร้างเดิมที่ระดับ 4.20 บาทต่อหน่วย

“การเอาราคา 3 บาท กว่า ๆ คงยาก เพราะรื้อจนไม่รู้จะรื้ออย่างไรแล้ว เพราะต้องมีคนขาดทุน นโยบายคือการให้อยู่ร่วมกัน หากเทียบการใช้ไฟของคนกทม. กับต่างจังหวัด ซึ่งคนต่างจังหวัดมีตันทุนในการเดินสายไฟ เราจะยอมแยกประเภทหรือไม่ เพื่อให้คนกทม.จ่ายถูกกว่า ถ้านโยบายรัฐจะดึงความเท่าเทียมให้ยังอยู่ เป็นต้น ค่าไฟจะแพงหรือถูกแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับหลายอย่าง ต้องดูทรัพยากรว่ามีหรือไม่ โดยเฉพาะเชื้อเพลิง ถือเป็นต้นทุนที่สูงกว่าการลงทุนโรงไฟฟ้าด้วยซ้ำ”

สำหรับคำถามที่หลายคนมองว่าช่วงนี้ราคานำเข้า LNG ถูกลง ทำไมไม่รีบสั่งซื้อมาเก็บไว้ ปัญหาคือ ประเทศไทยมีถังเก็บไม่เพียงพอ โดยปัจจุบันมีแค่ 4 ถัง เพราะช่วงที่ทั่วโลกขาดก๊าซฯ ใน 3 วัน ก็ใช้หมดไปถึง 1 ถัง โดยปีที่ผ่านมาไทยนำเข้าเฉพาะ LNG spot อย่างเดียวมากกว่า 90 ลำ ส่วนปีนี้ คาดว่าตัวเลขจะใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่รวมสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวอีก 55 ล้านตัน