เหมืองอัคราเดินเครื่องเต็ม 100% ปีนี้ ลุยขุดแร่ทองสำรอง 1.3 ล้านออนซ์

เหมืองอัคราเดินเครื่องเต็ม 100% ปีนี้ ลุยขุดแร่ทองสำรอง 1.3 ล้านออนซ์

คิงส์เกตเผยสื่อนอกมั่นใจเดินเครื่องเหมืองทองชาตรีต้นทุนต่ำแข่งขันได้ระดับโลก แหล่งข่าวเผยคิงส์เกต-รัฐบาลไทย อยู่ระหว่างเจรจาตกลงยุติข้อพิพาท เลื่อนนัดอ่านคำตัดสินอนุญาโตตุลการออกไปอีก 6 เดือน

Key Points

  • ข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยและคิงส์เกต ผู้ประกอบการเหมืองจากออสเตรเลีย มีมาตั้งแต่ปี 2560
  • ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนำมาสู่การยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และคดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด
  • คิงส์เกต มั่นใจว่าในปี 2567 จะเดินเครื่องเหมืองทองอัคราได้เต็ม 100% หลังจากปี 2566 ทำได้เฉพาะนำสินแร่เก่ามาถลุง
  • ปริมาณทองคำสำรองอยู่ที่ 1.3 ล้านออนซ์ ที่เหมืองทองอัคราจะสามารถผลิตได้ในช่วง 9 ปี นับจากนี้

ข้อพิพาทระหว่าง บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทสัญชาติออสเตรเลียกับรัฐบาลไทยในประเด็นเหมืองทองอัคราไมนิ่งที่มีมา 6 ปี ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศยังไม่มีข้อยุติ

ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 หลังจากนั้นคิงส์เกตได้ทำหนังสือแจ้งรัฐบาลไทยลงวันที่ 3 เม.ย.2560 เพื่อใช้สิทธิ์หารือ (Consultation Process) ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ออสเตรเลีย แต่ไม่เป็นผลทำให้วันที่ 2 พ.ย.2560 ได้แจ้งนำเรื่องเข้าอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

การไต่สวนของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศมีมาต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.พ.2563 และที่ผ่านมามีการเจรจาระหว่าง 2 ฝ่าย จนนำมาสู่การอนุญาตให้เหมืองทองอัคราเดินเครื่องการผลิต

ทั้งนี้ คณะกรรมการแร่แห่งชาติเห็นชอบการอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรออกไปอีก 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2564 ถึงวันที่ 29 ธ.ค.2574 ด้วยวิธีการทำเหมืองแร่แบบเหมืองเปิดโดยประทานบัตร 4 แปลง ในพื้นที่ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ และพื้นที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ได้แก่

  • ประทานบัตรที่ 25528/14714
  • ประทานบัตรที่ 26910/15365 
  • ประทานบัตรที่ 26911/15366
  • ประทานบัตรที่ 26912/15367

รวมทั้งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้อนุญาตการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่1/2551เพื่อประกอบโลหกรรมแร่ทองคำออกไปอีก 5 ปีตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.2565 ถึงวันที่ 18 ม.ค.2570 ด้วยวิธีการโลหะวิทยาสารละลายวิธีการโลหะวิทยาไฟฟ้าและวิธีการโลหะวิทยาความร้อนที่ตำบลเขาเจ็ดลูกอำเภอทับคล้อจังหวัดพิจิตรและที่ตำบลท้ายดงอำเภอวังโป่งจังหวัดเพชรบูรณ์

เจมี่ กิ๊บสัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อโปรแอคทีฟ อินเวสเตอร์ส เกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินการเหมืองทองชาตรี (เหมืองทองอัครา) ระบุว่า แม้บริษัทจะยุติการผลิตไปในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา แต่เราได้เจรจากับรัฐบาลไทยอย่างราบรื่นในการกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง ในเดือน มี.ค.2566 ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยใช้โรงประกอบโลหกรรมที่ 2 โดยตั้งแต่เปิดดำเนินการ สามารถผลิตแร่ทองคำได้ 22,000 ออนซ์ และแร่เงินกว่า 270,000 ออนซ์

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการซ่อมแซมโรงประกอบโลหกรรมที่ 1 ภายในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งเมื่อโรงโลหกรรมทั้ง 2 แห่ง กลับมาเปิดเต็มรูปแบบจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตแร่ทองคำถึง 100,000-120,000 ออนซ์ต่อปี

สำหรับต้นทุนการผลิตในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีสต็อกแร่เดิมคงเหลืออยู่ ดังนั้นเมื่อเดินเครื่องถลุงแร่อีกครั้งจึงสามารถลดต้นทุนการดำเนินการลงได้ นอกจากนี้บริษัทยังมีความเชี่ยวชาญในการบีบมาร์จิน จากหินกว่า 6 ล้านต้นจากการถลุงแร่ นี่จึงเป็นข้อได้เปรียบของบริษัทด้านต้นทุนเมื่อเทียบกับผู้ผลิตสัญชาติออสเตรเลียรายอื่นๆ

ส่วนในมุมของนักลงทุนการกลับมาเปิดดำเนินการของเหมืองชาตรีถือเป็นข่าวน่ายินดี แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาบริษัทจะถูกมองข้ามไป แต่คาดว่าหลังจากนี้จะเป็นโอกาสของเรา ด้วยประสบการณ์ดำเนินงานกว่า 16 ปี ทั้งยังมีปริมาณแร่สำรองกว่า 1.3 ล้านออนซ์ หรือประมาณ 9 ปี อีกทั้งเมื่อเรากลับมาดำเนินการเต็มศักยภาพแล้วยังจะเป็นแหล่งผลิตทองคำที่ต้นทุนต่ำสุดในออสเตรเลีย รวมถึงระดับโลก

“ทั้งนี้ บริษัทเริ่มใส่เงินทุนหมุนเวียนราว 55 ล้านดอลลาร์ในกิจการอีกครั้งเมื่อเดือน มี.ค.เพื่อใช้ในการซ่อมแซมโรงประกอบโลหกรรม และมีแผนจะทยอยใส่เพิ่มขึ้นเพื่อเปิดดำเนินการโรงประกอบโลหกรรมที่ 1 ในระยะต่อมา ซึ่งเชื่อมั่นว่าบริษัทจะสามารถกลับมาดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบได้ในปี 2567”

แหล่งข่าวจากบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จํากัด (มหาชน) ผู้ดำเนินการเหมืองทองอัครา กล่าวว่า การดำเนินการในปี 2566 เป็นการนำแร่ที่ขุดไว้ก่อนที่จะหยุดเหมืองนำมาถลุง ส่วนการขุดแร่รอบใหม่คาดว่าดำเนินการได้ในปี 2567

แหล่งข่าวจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า การเจรจาอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศของรัฐบาลไทยและคิงส์เกตยังอยู่ในกระบวนการ โดยทั้งสองฝ่ายคาดว่าจะตกลงยุติข้อพิพาทกันได้ภายใน 6 เดือน โดยรัฐบาลไทยไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมได้