เศรษฐกิจฟื้น การเมืองมีเสถียรภาพทำดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคดีต่อเนื่อง

เศรษฐกิจฟื้น การเมืองมีเสถียรภาพทำดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคดีต่อเนื่อง

หอการค้าไทย เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สูงสุดในรอบ 46 เดือน จากเศรษฐกิจฟื้น การเมืองมีเสถียรภาพ ชี้ ปีนี้ไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เหตุดอกเบี้ยปัจจุบันยังเอื้อต่อการรักษาระดับเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบ ฟันธง เศรษฐกิจไทย ไม่วิกฤติ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ม.หอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า จากการสำรวจตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,241 ตัวอย่าง พบว่า   ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ธ.ค. 2566 ว่า ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 60.9 เป็น 62.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สูงสุดในรอบ 46 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2563 เป็นต้นมา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 56.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ระดับ 58.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 71.3

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องมาจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลและรัฐบาลจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพโดยลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน ตลอดจนมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ นอกจากนี้ผู้บริโภคเห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคตหลังจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่างๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกันโดยความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะคลี่คลายลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้หลังมีการจัดตั้งรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเพิ่มแรงกดดันให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ธ.ค. 2566 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 21-29 พ.ย. 2566 โดยดัชนีอยู่ที่ 54.7 พลิกกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากที่ 2 เดือนที่ผ่านมาปรับลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นเดือนเทศกาลปีใหม่ประชาชนมีการใช้จ่ายมากขึ้น รัฐบาลมี มาตรการยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ดีขึ้นอย่างไรก็ตามภาคธุรกิจกังวลสงครามในอิสราเอล และสถานการณ์ในอนาคต ทั้งภัยแล้ง ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 น้ำท่วมภาคใต้ ขาดสภาพคล่อง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี 67 ล่าช้า และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐยังล่าช้า และน้อยเกินไป ทำให้เศรษฐกิจยังโตไม่โดดเด่น

“ ดัชนีทั้ง2 ตัว มีแนวโน้มที่ดีขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าสภาพเศรษฐกิจไทยกำลังวิ่งเข้าสู่การฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคธุรกิจมองว่า สงครามฮามาส จะไม่ยืดเยื้อ มาก แต่ทั้งนักธุรกิจและผู้บริโภคยังมองเหมือนกันว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยง เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช้า ปัญหาภัยแล้งเริ่มมีผลกระทบต่อภาคการเกษตรซึ่งเป็นฐานกำลังซื้อสำคัญของประเทศ “

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยในปัจจุบันเป็นอัตราดอกเบี้ยเชิงธรรมชาติ ที่น่าจะอยู่ในจุดสมดุลเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อทั่วไปของไทยที่ไม่เกิน 2% หรืออยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ของธนาคารของแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งปี 66 เงินเฟ้อทั่วไปไทยอยู่ที่ 1.23% โดยดอกเบี้ยจะต้องสูงกว่าเงินเฟ้อ เพื่อทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก หากดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินเฟ้อ ประชาชนก็จะไม่ฝากเงิน ทั้งนี้ คาดว่า เงินเฟ้อทั่วไปของไทยปีนี้ จะใกล้เคียง 2% ดังนั้น ดอกเบี้ยนโยยายของไทยปัจจุบัน ยังเอื้อต่อการรักษาระดับเงินเฟ้อ ไม่จำเป็นต้องขยับขึ้นอีกแล้วในปีนี้

 “ตอนที่ไทยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปีที่แล้ว เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ รักษาช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐฯ และไทย ไม่ให้ห่างกันจนเกินไป และรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท แต่ขณะนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ถ้าเฟดลดเมื่อไร ไทยก็ควรลดเหมือนกัน เพราะคาดว่า เงินเฟ้อปีนี้ไม่เกิน 2% จากการที่รัฐยังมีมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ทำให้มองว่า ไตรแรกปีนี้ มีโอกาสที่เงินเฟ้อทั่วไปจะยังติดลบอยู่ หลังจากติดลบมาแล้ว 3 เดือน และเข้าสู่ภาวะเงินฝืดทางเทคนิคจากการแทรกแซงราคาพลังงาน ไม่ใช่เงินฝืดจากกำลังซื้ออ่อนแรง”

ปีนี้เศรษฐกิจไทย นอกจากมีความเสี่ยงจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยแล้ว ยังมีเรื่องการชำระหนี้ของตราสารหนี้ ที่ปีนี้ต้องชำระคืนมูลค่าหลายแสนล้านบาท แต่เริ่มเห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ และการเลื่อนชำระหนี้แล้ว 2-3 บริษัทนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา หากมีมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้ ตราสารทุน ตลาดหุ้น ความมั่นคงทางการเงินของไทย และเศรษฐกิจไทยได้

ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ส่วนต่าง (สเปรด) ดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินกู้ของไทยอยู่ในระดับสูง เพราะสถาบันการเงินจำเป็นต้องตั้งสำรองสูงเผื่อหนี้เสีย ทรัพย์สินด้อยค่า และตั้งสำรองตามมาตรฐานการบัญชีใหม่ เพราะไทยเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยเงินกู้มากกว่าเงินฝาก อีกทั้งหลายบริษัทพยายามกู้เงินเพื่อเอาไปชำระคืนตราสารหนี้ หุ้นกู้ต่างๆ ทำให้สถาบันการเงินต้องระมัดระวังปล่อยกู้ และมีสเปรดดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าเงินฝาก แต่ถือว่าสเปรดดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับกลางๆ ของอาเซียน เป็นไปตามดีมานด์ ซัปพลายในตลด อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้หารือกับผู้ว่าการธปท.ไปแล้ว จะทำให้ธปท.กลับมาพิจารณาว่าสเปรดดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร และหาแนวทางดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไx

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่าหากตีความตามคำนิยมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) และหน่วยงานวิชาการต่าง ๆ ชัดเจนว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะหากจะวิกฤติเศรษฐกิจจะต้องขยายตัวในอัตราติดลบ เกิดปัญหาการว่างงานในอัตราที่สูง สถาบันการเงินมีปัญหาล้มละลาย เหมือนกรณีต้มยำกุ้งที่มีสถาบันการเงินในไทยล้มละ56แห่ง เกิดปัญหาการว่างงานสูงถึง4% ทำให้ไทยต้องกู้เงินจากไอเอ็มเอฟเพื่อฟื้นฟูประเทศ

“ในมุมมองวิชาการมองว่าเศรษฐกิจไทย ไม่เข้าเงื่อนไขเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะมีสัญญานฟื้นตัวต่อเนื่อง จาก ปี 2563 วิกฤติโควิด ขยายตัวติดลบ 6.1 แต่ในปี 64 กลับมาขยายตัว 1.5 ปี 2565 ขยายตัว 2.4 ปี 2566 ขยายตัว 2.5 แต่มีภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เพราะมีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า และไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณมาใช้จ่ายได้ ส่วนอัตราการว่างงานขณะนี้ก็อยู่ที่ 1% เท่านั้นถือว่าต่ำมาก ขณะที่สถาบันการเงินของไทยทุกแห่งยังมีความมั่นคง”