กกร.ชี้ดอกเบี้ยไทยผ่านจุดสูงสุดแล้ว แนะลดทันทีตาม FED

กกร.ชี้ดอกเบี้ยไทยผ่านจุดสูงสุดแล้ว แนะลดทันทีตาม FED

กกร. ชี้ดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ในจุดสูงสุดแล้ว หากเฟดปรับลดดอกเบี้ย ธปท.ควรปรับลงทันที มองเศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัวได้ 2.8-3.3% จากแรงหนุนมาตรการรัฐและท่องเที่ยว ลดกรอบเงินเฟ้อปี 67 อยู่ที่ 0.7-1.2% จากเดิม 1.7-2.2% จับตาความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจลุกลาม

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นระดับสูงสุดแล้ว ดังนั้นในระยะข้างหน้าการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรปรับทิศทางทางให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีแนวโน้มลดลงในปีนี้ 

ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเดิมที่ 2.8-3.3% โดยมีแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการ Easy E-Receipt ทั้งนี้ ยังไม่รวมมาตรการเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่คาดว่าจะมีส่วนช่วยหนุน GDP ขยายตัวราว 1%

การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 33-34 ล้านคน ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่องจากนโยบายลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ส่งผลให้ประมาณการเงินเฟ้อปรับลดลงอยู่ในกรอบ 0.7-1.2% 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่มีมากขึ้นจากทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ เนื่องจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้นำไปสู่การโจมตีเรือสินค้าในบริเวณคลองสุเอซและทะเลแดงทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นกดดันต้นทุนการผลิต

ขณะที่สงครามรัสเซียและยูเครนยังไม่ยุติลง รวมถึงความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศปีนี้ เช่น การเลือกตั้งประธารนาธิบดี ไต้หวัน รัสเซีย และสหรัฐ 

ปัจจัยความไม่แน่นอนเหล่านี้ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว และทำให้ต้องติดตามผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่พึ่งพาตลาดยุโรป ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม กกร. ยังประเมินว่าส่งออกไทยปี 2567 จะขยายตัวได้ 2.0-3.0%

นอกจากนี้ ที่ประชุมมองว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามศักยภาพ แต่ศักยภาพมีแนวโน้มด้อยลง และยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงในรูปแบบ K-Shape ยังมีบางกลุ่มที่รายได้ไม่ฟื้นตัวและมีกำลังซื้ออ่อนแอ จึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในระดับกลางและระดับล่าง 

ทั้งนี้รัฐบาลควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณโดยในระหว่างรองบประมาณ ปี 67 ภาคเอกชนเห็นว่าควรจัดทำมาตรการเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ และควรมีการหารือกับรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการนำงบประมาณลงทุนที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่แล้วเร่งใช้งานไปพลางก่อน เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่อง  

รวมทั้งที่ประชุม กกร. เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนสินเชื่อในการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง โดยรัฐบาลสนับสนุนทุนจัดตั้งในระยะแรกก่อน แล้วนำดอกเบี้ยหรือได้เงินมาบริหารหมุนเวียนในกองทุนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยมีความยืดหยุ่นในการขอหลักประกันได้ สำหรับหนี้นอกระบบที่เป็นปัญหาของการเข้าถึงสินเชื่อ และเอาหนี้นอกระบบทางการค้าเข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนสูงได้