120 วัน รัฐบาล ‘เศรษฐา’ ขัดแย้ง ธปท. 3 ปมร้อน ‘เงินดิจิทัล-ดอกเบี้ย-หั่น GDP’

120 วัน รัฐบาล ‘เศรษฐา’ ขัดแย้ง ธปท. 3 ปมร้อน ‘เงินดิจิทัล-ดอกเบี้ย-หั่น GDP’

รัฐบาล ‘เศรษฐา’ รับหน้าที่บริหารประเทศมากว่า 120 วัน พบว่า มีความขัดแย้งกับผู้ว่า ธปท. 2 ปมร้อน ‘เงินดิจิทัล-ดอกเบี้ย-ค่าเงินบาท’

ข่าวการปลดนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาเป็นระยะนับตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วง 120 วัน ที่ผ่านมา และบางครั้งนายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันว่ารัฐบาลไม่มีความขัดแย้งในการทำงานร่วมกัน

“เป็นเรื่องที่ตลกมาก ผมไม่เคยมีความคิดและคราวนี้ไม่แน่ใจว่ามีข่าวได้อย่างไร เคยเจอผู้ว่า ธปท.ก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่พรรคเพื่อไทยเพื่อหารือ Digital Wallet ได้ให้ข้อเสนอแนะ ผมน้อมรับมา และได้เจอกันที่กระทรวงการคลังวันที่มอบนโยบาย คือทุกคนไปพูดว่านายกรัฐมนตรีไม่มีสิทธิที่จะไปไล่ผู้ว่า ธปท.” นายเศรษฐา กล่าวเมื่อวันที่ 21 ก.ย.2566

ถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรีจะออกมายืนยันอย่างชัดเจนไปแล้วแต่หลังจากนั้นยังคงมีข่าวการปลดผู้ว่า ธปท.ออกมาเป็นระยะถึงปัจจุบัน

นอกจากข่าวการปลดผู้ว่า ธปท.แล้วในช่วงที่ผ่านมาระหว่างรัฐบาลและ ธปท.มีความเห็นไม่ตรงกันใน 3 ประเด็น คือ

1.การแจกเงินดิจิทัล โดย ธปท.เห็นว่าไม่ควรแจกเป็นการทั่วไป ในขณะที่ช่วงแรกรัฐบาลมีนโยบายแจกให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน จะใช้งบประมาณ 500,000 ล้านบาท

2.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยมีทิศทางลดลงมาตั้งแต่ช่วงครึ่งปลังของปี 2566 ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% รวมเป็น 2.50% เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2566 และในการประชุม กนง.วันที่ 29 พ.ย.2566 ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

3.การลดเป้าหมาย GDP แต่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดย กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยาย 27 ก.ย.2566 มาอยู่ที่ 2.50% และรัฐบาลเห็นแย้งการขึ้นดอกเบี้ยสวนทางการลดเป้า GDP เหลือ 2.8%

 

การเห็นต่างระหว่างรัฐบาลและ ธปท.นำมาสู่แนวปฏิบัติของนายเศรษฐา ในการเชิญผู้ว่า ธปท.มาหารืออย่างไม่เป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีตั้งใจที่จะหารือลักษณะนี้เดือนละ 1 ครั้ง และหารือครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2566

การหารือครั้งดังกล่าว นายกรัฐมนตรีให้คำนิยามว่า “เป็นการหารือของผู้ใหญ่ 2 คนคุยกัน” โดยเป็นการหารือในฐานะที่ ธปท.เป็นผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ รวมทั้งยืนยันว่า ไม่ใช่การจัดฉากและไม่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและ ธปท.

“การหารือมีทั้งเรื่องที่ผมเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราก็ต่างเป็นผู้ใหญ่กัน จะเห็นตรงกันทุกเรื่องคงเป็นไปไม่ได้ แต่ก็พูดคุยกันด้วยเหตุและผล” นายเศรษฐา กล่าวเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2566

ในขณะที่นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงการหารือดังกล่าวว่า มีบางเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน เพราะสวมหมวกคนละใบ แต่มีการแลกเปลี่ยนทั้ง 2 ฝ่าย โดย ธปท.มีกรอบการทำงานในการดำเนินนโยบายการเงินที่มี กนง.และคณะกรรมการหลายชุด รวมทั้งมีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง

ล่าสุดเมื่อวันที่  8 ม.ค.2567 นายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่านแอพลิเคชัน X ระบุถึง แบงก์ชาติ ใช้นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ย กระทบเศรษฐกิจและมีผลต่อประชาชน สวนทางกับเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงกระทบเศรษฐกิจ และคาดหวังแบงก์ชาติจะดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางเงินเฟ้อ 

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า ระหว่างรัฐบาลและ ธปท.หารือกันต่อเนื่องเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ถือเป็นอำนาจของ ธปท.

สถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การที่นายกรัฐมนตรีเชิญผู้ว่า ธปท.มาหารืออย่างไม่เป็นทางการที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งที่ 2 เพื่อหารือเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและปัญหาหุ้นกู้ผิดนัดชำระ

"จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ ธปท.ในหลายๆ เรื่อง ร่วมถึงกรณีหุ้นกู้เอกชนด้วย เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องให้ความสำคัญ และเอาข้อมูลมาหยิบยกคุยกัน" นายเศรษฐา กล่าว