‘กิตติรัตน์‘ จี้ ’ธปท. ’ลดดอกเบี้ย’ แนะเร่งกำกับดูแล ‘ธนาคารพาณิชย์‘

‘กิตติรัตน์‘ จี้ ’ธปท. ’ลดดอกเบี้ย’  แนะเร่งกำกับดูแล ‘ธนาคารพาณิชย์‘

“กิตติรัตน์” กระทุ้ง “ธปท.” ลดดอกเบี้ยนโยบาย  ชี้ประชาชนจับตาการประชุม กนง. 7 ก.พ.นี้ จี้ ธปท.กำกับการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์หลังกำไรพุ่ง เพราะขยับดอกเบี้ยตาม  ระบุไม่กลัวเงินทุนไหลออก ค่าเงินอ่อน ช่วยหนุนส่งออก เพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศ

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ใน รายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand วันนี้ (8 ม.ค.) เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย และการทำหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกำไรของธนาคารพาณิชย์ ว่าในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโนยายในวันที่ 7 ก.พ.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อีกครั้งนึง ซึ่งต้องจับตามอง แต่หากเป็นตนเองนั้นตนเคยแสดงความเห็นแล้วว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่มากและเร็วเป็นทางรอด และแม้จะประกาศว่าการประชุม กนง.จะมีการประชุมปีละ 6 ครั้ง แต่กฎหมายกำหนดว่าให้มีการประชุมนอกรอบได้หากมีความจำเป็นหากมีความเร่งด่วนและสำคัญ แต่เดิมนั้นประชุมกันปีละ 8 ครั้งซึ่งดีกว่าเพราะมีความถี่ของระยะเวลาที่จะตัดสินใจหากมีเรื่องอะไรต้องตัดสินใจและควรทำ หลายประเทศที่เป็นประเทศชั้นนำยังประชุม 8 ครั้ง

“คนจะจับตาดูการประชุม กนง.วันที่ 7 ก.พ.นี้แน่นนอน เพราะมีเรื่องวิพากษ์วิจารณ์กันมาก แล้วหากเอาเรื่องการวิจารณ์นั้นไปคิดให้รอบครอบก็จะดีมาก แต่หากนำมาเป็นทิฐิก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ หวังว่าจะเป็นฟางเส้นแรกๆที่ถูกถอนออกจากน้ำหนักที่กดทับและทำให้เบาลงได้”นายกิตติรัตน์ กล่าว 

ทั้งนี้การกำหนดกรอบเงินเฟ้อทั่วไปไว้ที่ 1 – 3 % นั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเวลาเงินเฟ้อจะเกิน 3% นั้นจะมีการเข้ามารีบจัดการเพราะว่าตั้งตนเป็นผู้รักษาวินัยทางการเงินของประเทศ แต่เมื่อเงินเฟ้อลงไปต่ำกว่า 1% แล้วถือว่าบกพร่องเหมือนกันก็ถือว่ามีความรับผิดชอบเหมือนกัน

โดยข้อกฎหมายตรงๆหน่วยงานที่กำกับธนาคารพาณิชย์มีความเป็นอิสระอยู่ แต่อย่างไรก็ตามตนคิดว่าในขณะนี้สังคมเริ่มเห็นชัดว่าการกำกับดูแลที่ไม่เป็นคุณกับประชาชนนั้นควรที่จะถูกตำหนิ  ที่จริงแล้วข้อกฎหมายนั้นก็มีเปิดไว้บ้างว่าที่จริงแล้วผู้กำกับดูแลซึ่งก็คือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องทำหน้าที่ให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล

“ในขั้นนี้ผู้กำกับธุรกิจต้องส่องกระจกดูตัวเองแล้วนะ อย่าให้ถึงขั้นต้องทำอะไรกันเลย” นายกิตติรัตน์ กล่าว 

ตนเองไม่ได้ออกมาตามกระแส แต่ได้พูดเรื่องนี้มาก่อนตั้งรัฐบาลแล้วด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่เคยหยุดพูดเลยเมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น เป็นโอกาสในการทำรายได้ที่สูงขึ้นของธนาคารพาณิชย์ เพราะเมื่อดอกเบี้ยเงินกู้ถูกขยับเร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แล้วไม่ใช่เร็วกว่าอย่างเดียวยังมากกว่าด้วย  ซึ่งเรื่องนี้พูดมาตั้งแต่เดือน ส.ค. ก.ย. ธ.ค. และม.ค.คือพูดมาเรื่อยๆทุกเดือน ในกรณีของสถาบันการเงินไม่ค่อยมีคนอยากออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเขาเป็นลูกค้าของธนาคารกันทั้งนั้นเพราะก็กลัวผลกระทบในเชิงลบแต่ในความเป็นจริงก็เห็นอยู่โดยที่ไม่ต้องมีใครวิจารณ์ก็ได้

“ความหมายอาจกว้างกว่านี้เพราะหมายถึงธุรกิจที่มีน้อยราย แล้วมีความเข้าใจร่วมกัน ทำให้ราคาและเงื่อนไขต่างๆไม่เป็นคุณต่อผู้บริโภค แล้วได้กำไรสูงๆผมว่ามันไม่ถูกต้อง ธุรกิจหลายอันมีผู้กำกับ ท่านมีหน้าที่ต้องกำกับดูแล ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนต้องมาเดือดร้อนแล้ววิพากษ์วิจารณ์กัน ”

เมื่อขอให้ขยายความว่ากฎหมายมีช่องในการให้กำกับดูแลจะทำอย่างไรนั้น นายกิตติรัตน์กล่าวว่าในกรณีนี้กฎหมายเปิดช่องไว้เหมือนกันว่ากรณีที่กฎหมายอ่อนเกินไป รัฐบาลก็สามารถที่จะแก้กฎหมายให้มีความเข้มงวดได้อีกเหมือนกัน แต่ในทางปฏิบัติไม่มีรัฐบาลไหนจะทำหรอก เพราะจะถูกมองถูกวิจารณ์ว่าไปก้าวก่ายความเป็นอิสระ

ชี้เงินเฟ้อจากต้นทุนแก้ไม่ได้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้ที่ผ่านมาการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ เพราะเงินเฟ้อมี 2 แบบ แบบแรกคือเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนสินค้าซึ่งต้นทุนนั้นอาจมาจากผลกระทบในอีกซีกโลกหนึ่งที่ทำให้ราคาสินค้า หรือราคาน้ำมันแพง วัตถุดิบเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุน (cost push inflation) ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาเงินเฟ้อจากสาเหตุนี้ได้ เพราะดอกเบี้ยก็เป็นต้นทุนชนิดหนึ่ง แต่หากเงินเฟ้อเกิดจากอุปสงค์ร้อนแรง (Demand-Pull Inflation) การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอความร้อนแรงของการจับจ่ายของประชาชนแบบนั้นเข้าใจได้ ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เกิด cost push inflation ไม่ได้ช่วยอะไร ซึ่งที่ผ่านมามองเห็นตั้งแต่กลางปีที่แล้วว่าการไปขึ้นดอกเบี้ยแล้วทำให้กำลังซื้ออ่อนแอนั้นทำให้เศรษฐกิจยิ่งแย่ลงไป การขึ้นดอกเบี้ยที่ต่อเนื่องหลายๆครั้งจนเกินความพอดีไปมากก็ถึงเวลาที่ต้องออกมาพูดบ้าง

“มองไปแล้วก็ไม่มีใครกล้าพูด มีแต่ไปแอบพูดกันในร้านกาแฟ สภาฯกาแฟ ผมเองไม่ได้หิวแสงอะไร ไม่ได้อยากกระทบกระทั่งจากใคร แต่ผมอยากพูดเตือนสติเตือนใจรุ่นน้องว่าไม่ใช่แค่ยึดหลักควบคุมเงินเฟ้อ เพราะมันคุมได้แต่ไปทำลายกำลังซื้อที่อ่อนแออยู่แล้ว จนกระทั่งเงินเฟ้อที่รายงานติดลบแล้ว”นายกิตติรัตน์กล่าว

 

ไม่กังวลเงินไหลออก

เมื่อถามว่ากรณีที่ธปท.อธิบายว่าหากประเทศไทยไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบกับเงินทุนไหลออก แล้วกระทบกับค่าเงินบาทนั้นมองอย่างไร นายกิตติรัตน์กล่าวว่าถ้าประเทศไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ แล้วเกิดมีเงินเข้ามาหากำไร แล้วกังวลว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเราจะมีปัญหานั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ปัจจุบันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของเรามากกว่าเพียงพอ แม้ว่าจะมีเงินมาหาผลตอบแทนระยะสั้นๆแล้วจะไหลออกไปก็ขอให้ถือว่าอนุโมทนาสาธุให้ออกไปเก็งกำไรที่อื่น แต่เมื่อกระทำการจนเศรษฐกิจอ่อนแอนั้น เงินทุนที่มาลงทุนในประเทศไทยโดยหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะแข็งแรง เงินส่วนนี้ออกไปด้วยก็เป็นเรื่องทีไม่ควรให้เกิดขึ้น

“การไหลออกของเงินร้อนที่เข้ามาเก็งกำไร แล้วทำให้ค่าบาทอ่อนนั้นถือว่าเป็นคุณกับภาคการส่งออก หลังปี 2540 เงินบาทอ่อนก็ทำให้ภาคการส่งออกไปได้ และบางธุรกิจแข่งขันได้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นเพราะเงินบาทที่เคยอ่อน ส่วนถ้าสินค้านำเข้าสูงขึ้นเราก็ต้องเพิ่มการผลิตสินค้าเองได้ก็เป็นประโยชน์เศรษฐกิจ”

เมื่อถามว่าทำไม ธปท.ไม่เข้าไปควบคุมธนาคารพาณิชย์ที่มีการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ไปมากเพราะอะไร นายกิตติรัตน์กล่าวว่าก็ธปท.ไม่คุม แล้วที่ต้องวิจารณ์ก็คือในส่วนของธนาคารพาณิชย์โดยดุลยพินิจแล้วแม้ว่า ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ของตัวเองก็ได้ เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่ได้เป็นผู้ใช้เงินทุนจากธนาคารกลางแต่เป็นผู้ให้ธนาคารกลางกู้เงินเพราะเป็นผู้ถือพันธบัตรของธปท.ดังนั้นจึงไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ก็ได้ ตนเองก็เคยตั้งคำถามว่าธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยไม่สงสารลูกค้าตัวเองบ้างหรือ

วันนี้ดีใจที่มีส่วนต่างๆของสังคมออกมาช่วยกันพูด ซึ่งหลังจากคิดและพูดแล้วก็จะนำไปสู่ขั้นปฏิบัติ แล้วถ้าหากทำโดยตัวเองได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด แต่หากไม่ทำจะรอให้ใครมาทำหรือ จะต้องรอให้ลูกค้าของตัวเองมีปัญหาหรือ  ซึ่งก็เชื่อว่าจะมีการคุยและหารือทางออกของปัญหากันต่อไป

“การไม่คุมธนาคารพาณิชย์ อาจเป็นการคุมอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ให้กลไกตลาดทำงาน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ก็ต้องรู้จักคุมตัวเอง สมาคมธนาคารไทยก็มีก็ควรต้องปรึกษาหารือกันว่าสมควรที่จะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่”นายกิตติรัตน์ กล่าว