ส่อง ‘งบกลางฯปี 67‘ 6 แสนล้าน สะท้อนจัดงบฯ ‘รัฐราชการ’ ?

ส่อง ‘งบกลางฯปี 67‘ 6 แสนล้าน สะท้อนจัดงบฯ ‘รัฐราชการ’ ?

ส่องตัวเลขงบกลางฯปี 67 จัดสรร 6 แสนล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนกว่า 2.8% หรือกว่า 1.69 หมื่นล้านบาท พบข้อมูลตัวเลขงบกลางฯ5 แสนล้านบาทใช้เป็นงบที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรภาครัฐ เบี้ยหวัด บำนาญเฉียด 3.3 แสนล้าน ค่ารักษาพยาบาลขรก.-ลูกจ้างรัฐ 7.6 หมื่นล้าน งบขึ้นเงินเดือนหมื่นล้าน

              ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรกระหว่างวันที่ 3 – 5 ม.ค. 2567 มีหลายประเด็นที่ฝ่ายค้านอภิปรายการจัดทำงบประมาณของ “รัฐบาลเศรษฐา1” โดยเฉพาะประเด็นการจัดทำงบประมาณไม่แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ได้ตอบโจทย์ นโยบายเร่งด่วนตามที่รัฐบาลได้มีการแถลงนโยบายไว้

โดยประเด็นหนึ่งที่มีการอภิปรายคือการตั้งงบประมาณรายจ่ายงบกลางไว้กว่า 6 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน  “กรุงเทพธุรกิจ” ตรวจสอบงบกลางในปีงบประมาณ 2567 พบว่ารัฐบาลได้ตั้งวงเงินเป็นงบกลางไว้ทั้งสิ้น 606,765 ล้านบาท คิดเป็น  17.4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า จำนวน 16,295 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.8%

สำนักงบประมาณของรัฐสภา (PBO) ระบุในเอกสารการวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ว่างบกลางกว่า 6 แสนล้านส่วนใหญ่เป็นเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐสะท้อนถึงจำนวนบุคลากรภาครัฐที่เพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรประเภทข้าราชการที่เพิ่มขึ้นจากจำนวน 1,271,395 คน ในปี 2556 มาเป็น 1,775,812 คน ในปี 2565 หรือ เพิ่มขึ้น 504,417 คน คิดเป็น39.7%

 ส่งผลให้รายจ่ายบุคลากรมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้รับจัดสรร 785,957.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 17,849 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.3% ทั้งนี้ งบบุคลากรเป็นค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ในแผนงานบุคลากรภาครัฐ ตามมาตรา 38 ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 785,957.6 ล้านบาท คิดเป็น22.6% ของ

วงเงินงบประมาณรายจ่ายฯยังไม่ครอบคลุมบางรายการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรภาครัฐ

ส่อง ‘งบกลางฯปี 67‘ 6 แสนล้าน สะท้อนจัดงบฯ ‘รัฐราชการ’ ?

ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆของบุคลากรของรัฐที่เกี่ยวข้องได้มาตั้งไว้เป็นงบกลาง เป็นจำนวนเงิน 500,165  ล้านบาท คิดเป็น 82.4% ของงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ประกอบด้วย

  1.  รายจ่ายงบกลางรายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ  329,430 ล้านบาท
  2. เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ   11,000 ล้านบาท  
  3. เงินสมทบของลูกจ้างประจำ  440 ล้านบาท
  4. เงินสำรอง เงินสมทบ เงินชดเชยของข้าราชการ  78,775 ล้านบาท
  5. เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐสภา  4,520 ล้านบาท
  6. ค่าใช้จ่ายในการรักษา พยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ  76,000 ล้านบาท  

นอกจากนี้ ยังมีเงินอุดหนุน ให้กับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐ ด้วยเช่นกัน เช่น ค่าใช้จ่ายบุคลากรที่ตั้งเป็น เงินอุดหนุนให้ท้องถิ่น เงินอุดหนุนสำหรับการจัดการศึกษาภาคบังคับ ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลฯ อีกจำนวน 62,338.5 ล้านบาท

ทั้งนี้หากรวมค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐทั้งสิ้นจะเป็นจำนวนเงิน 1,348,460 ล้านบาทคิดเป็น 38.7% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท

จะเห็นได้ว่าการจัดสรรงบประมาณปี 2567 หากมองจากงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในส่วนของบุคลากรภาครัฐ และการจัดสรรงบกลางที่เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับบุคลากรภาครัฐกว่า 5 แสนล้านบาท จากงบกลางที่จัดไว้ทั้งหมด 6 แสนล้านบาท สะท้อนการเป็น “รัฐราชการ” ของไทยที่ยังคงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ว่าจะลดขนาดของหน่วยงานราชการ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการเพิ่มขึ้น