คมนาคมทบทวนนโยบาย 'โมโนเรล' จี้เปลี่ยนอะไหล่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง

คมนาคมทบทวนนโยบาย 'โมโนเรล' จี้เปลี่ยนอะไหล่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง

คมนาคมจ่อทบทวนนโยบายสร้าง “โมโนเรล” ถอดบทเรียนอุบัติเหตุซ้ำสองเดือนติด พร้อมจี้ “อัลสตอม” ผู้ผลิตล้อรถไฟฟ้ารับผิดชอบ เปลี่ยนอะไหล่ภายใน 6 เดือน หลังตรวจสอบพบข้อบกพร่องต้นเหตุรถไฟฟ้าสายสีเหลืองล้อหลุดร่วง ขณะที่ประชาชนใช้บริการฟรีถึง 5 ม.ค.นี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) เป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง โดยระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สาเหตุเบื้องต้นพบว่าเกิดจากเบ้าลูกปืน (Bearing) ของล้อประคอง (Guide Wheel) เสียหาย ทำให้ล้อประคองหลุดร่วงลงมา

ซึ่งขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ประสบเหตุเป็นขบวนใหม่ จากการตรวจสอบประวัติการซ่อมบำรุง (Maintenance Log) พบว่า มีการซ่อมบำรุงตามรอบวาระโดยสม่ำเสมอ ทั้งประจำวัน ประจำสัปดาห์ และวาระตรวจละเอียดทุก 15 วัน โดยปัจจุบันบริษัท Alstom หรืออัลสตอม (ผู้ผลิต) อยู่ระหว่างตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมา เพื่อหาสาเหตุโดยละเอียดต่อไป  

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ขอยืนยันความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และจะดำเนินทุกมาตรการไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกทั้งการป้องกัน ตรวจสอบในด้านความปลอดภัยการเดินรถและกำหนดมาตรการ กฎระเบียบลงโทษผู้รับเหมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั้งที่ใช้บริการรถไฟฟ้า โดยในอนาคตจะมีการพิจารณาถึงเรื่องการตัดคะแนนหรือพิจารณาขึ้นบัญชีแบล็คลิสต์ เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการ 

คมนาคมทบทวนนโยบาย \'โมโนเรล\' จี้เปลี่ยนอะไหล่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง

“อนาคตหากตรวจพบว่าเป็นข้อบกพร่องจากผู้ประกอบการ ซ่อมบำรุงไม่ดี รับผิดชอบไม่เต็มที่ จะต้องถูกตัดคะแนน และมีผลต่อการประมูลงานครั้งต่อไปจะถูกยกเลิกได้ ซึ่งเรื่องนี้กำลังหารือกับกระทรวงการคลัง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน ถือเป็นการจัดทำมาตรฐานใหม่ในการคุมมาตรฐานของผู้ประกอบการ เพราะเชื่อว่าหากมีมาตรการคุมเข้มเรื่องนี้ผู้ประกอบการจะรักษาธุรกิจให้ดี เพื่อไม่ให้บริษัทต้องถูกแบล็คลิสต์ประมูลงาน”

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุเมื่อเจ้าหน้าที่พบสัญญาณแจ้งเตือนความผิดปกติบริเวณล้อ จึงทำการขนถ่ายผู้โดยสารจากขบวนรถไฟฟ้า YM17 ลงที่สถานี แล้วนำขบวนรถไฟฟ้าออกจากระบบ เพื่อไปตรวจสอบที่ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ศรีเอี่ยม และนำขบวนรถหมายเลข YM 08 ขึ้นให้บริการทดแทนที่สถานีศรีเอียม (YL17) โดยไม่มีส่วนโครงสร้างทางได้รับความเสียหายจึงให้บริการจนถึงเวลา 24.00 น. ตามปกติ

คมนาคมทบทวนนโยบาย \'โมโนเรล\' จี้เปลี่ยนอะไหล่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง

 

สำหรับในวันนี้ (3 ม.ค.) ได้นำขบวนรถที่ได้รับการตรวจสอบว่า มีความมั่นคงปลอดภัยมาให้บริการจำนวน 6 ขบวน ปกติวิ่ง 21 ขบวนจากทั้งหมด 30 ขบวน โดยปรับรูปแบบการให้บริการมีความถี่ทุก 30 นาที จนถึง 6 ม.ค.2567 ที่จะมีการตรวจสอบจนครบ 100% และทยอยปรับความถี่ในการให้บริการจนเป็นปกติ (ทุก 5-10 นาที) ภายใน 8 ม.ค.2567 ทั้งนี้ จะให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฟรีโดยไม่คิดค่าโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 3 - 5 ม.ค. 2567 และกลับมาเก็บค่าโดยสารในวันที่ 6 ม.ค.นี้ โดยหากเกิดข้อผิดพลาดในการเก็บค่าโดยสารไปแล้ว สามารถเรียกขอเงินคืนได้ทันที

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กระทรวงฯ ต้องกลับมาทบทวนว่าระบบรถไฟรางเดี่ยว (โมโนเรล) เหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ โดยจะต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับสมมติฐานประเด็นอุณหภูมิความร้อน ความชื้น และระยะเวลาการใช้งาน เพราะต้องยอมรับว่ารถไฟฟ้าโมโนเรลเป็นระบบรถไฟฟ้าแบบใหม่ที่ไทยเพิ่งนำมาใช้ อีกทั้งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบสองเดือนที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ในคนละลักษณะกัน

“เหตุการณ์ล้อหลุดนี้ เกิดขึ้นที่ไทยเป็นประเทศที่ 3 ของโลก หลังจากบราซิล และจีน ก็เป็นคำถามส่วนตัวว่าวันนี้คงต้องกลับมาดูว่ารถไฟฟ้าโมโนเรลยังเหมาะสมไหมกับการใช้งานในประเทศไทย เพราะถึงแม้ว่าจะเกิดเหตุขึ้นติดๆ กัน แต่เกิดขึ้นเป็นคนละสาเหตุ โมโนเรลมีทั้งข้อดี คือ ระยะเลี้ยวสั้น ไต่ลาดชันได้ดี เหมาะกับการใช้งานในเมือง ส่วนข้อเสีย ก็เกิดเหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ เพราะจุดอ่อนรางจ่ายไฟและล้อประคองรางไม่มีอะไรปิดกั้น”

คมนาคมทบทวนนโยบาย \'โมโนเรล\' จี้เปลี่ยนอะไหล่รถไฟฟ้าสายสีเหลือง

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับผู้ประกอบการ ยอมรับว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นเป็นข้อบกพร่องของล้อประคอง ซึ่งได้ประสานไปยังผู้ผลิตเปลี่ยนอะไหล่ทั้งหมดในล็อตนี้พร้อมทั้งนำอะไหล่ใหม่เข้ามาเสริมบริการแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ขณะที่การให้บริการในปัจจุบันยืนยันได้ว่ามีความปลอดภัยตามมาตรฐาน โดยอะไหล่ล้อส่วนดังกล่าวได้นำมาจากการผลิตล็อตอื่น

สำหรับ รถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง ผู้ให้บริการคือ บริษัท อีสเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (EBM) โดยใช้รถรุ่น Bombardier Innovia Monorail 300 ผลิตจากโรงงานประเทศจีน เป็นรูปแบบ 4 ตู้ ตัวรถกว้าง 3.162 เมตร เท่ากับรถไฟฟ้าบีทีเอส มีน้ำหนักตัวรถ 14,500-15,000 กก./ตู้ วิ่งความเร็ว 35 กม./ชม. สูงสุด 80 กม./ชม. ใช้แรงดันไฟฟ้าแบบกระแสตรง 750 โวลต์ ควบคุมด้วยระบบอาณัติสัญญาณ CITYFLO 650 แบบอัตโนมัติไร้คนขับ