‘พีระพันธุ์’ รื้อกองทุนอนุรักษ์ฯ – กองทุนโรงไฟฟ้า แก้ปัญหาใช้เงินผิดประเภท

‘พีระพันธุ์’ รื้อกองทุนอนุรักษ์ฯ – กองทุนโรงไฟฟ้า แก้ปัญหาใช้เงินผิดประเภท

“พีระพันธุ์” เตรียมลุยรื้อ เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน หลัง ปปช. ตั้ง 7 ประเด็นโครงการระบบสูบน้ำจาก พลังงานแสงอาทิตย์  เผยเตรียมรื้อการใช้เงินกองทุนรอบโรงไฟฟ้าด้วย เตรียมตั้งกรรมการขึ้นมาดูการใช้เงินใหม่ทั้งหมด เลขาฯ ครม.ให้ทำเอกสารเข้า ครม.ชี้แจงด้วย

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” ในกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานรากโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ

ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการศึกษาเพื่อเฝ้าระวังในโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” ในกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานรากโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล พบประเด็นในขั้นตอนต่าง ๆ ของโครงการอาจนำไปสู่การทุจริตและประพฤติมิชอบดังนี้

  1. การจัดสรรงบประมาณ
  2. การยื่นขอโครงการต่อกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
  3. การจัดซื้อจัดจ้าง
  4. กรรมสิทธิ์และการบำรุงรักษา
  5. การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินและความคุ้มค่า
  6. การติดตามและประเมินผลโครงการ
  7. การเปิดเผยข้อมูลโครงการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

ทั้งนี้ครม.มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ

โดยให้กระทรวงพลังงานสรุปผลการพิจารณา ผลการดำเนินการ ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป

ผู้สื่อข่าวสอบถามว่ากรณีนี้ ป.ป.ช.ได้มีการบอกหรือไม่ว่ากองทุนอนุรักษ์พลังงานได้รับงบประมาณเท่าไหร่ และวงเงินในโครงการที่ป.ป.ช.จับตาอยู่นั้นมีวงเงินอยู่เท่าไหร่ นายคารมกล่าวว่าไม่ได้มีการรายงานในแง่ของงบประมาณแต่มีการพูดถึงรายละเอียดของโครงการที่มีการยกตัวอย่างเช่น โครงการระบบสูบน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ ของ กอ.รมน.ภาค 3 ที่อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ขนาด 210 กิโลวัตต์ ซึ่งมีลักษณะการของบประมาณสูงกว่าปกติ

นอกจากนั้น ป.ป.ช.ได้ตั้งข้อสังเกตว่าในเรื่องของโครงการสูบน้ำจากระบบโซลาร์เซลล์ต้องใช้วัสดุที่เรียกว่าอินเวอร์เตอร์ ซึ่งในประเทศไทยนั้นมีผู้ผลิตเพียง 4 รายเท่านั้น และมีเพียงรายเดียวที่สามารถผลิตอิเวอร์เตอร์ที่ใช้สูบน้ำจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าตั้งข้อสังเกต

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม.เปิดเผยว่าในระหว่างที่มีการรายงานเรื่องนี้ให้กับ ครม.รับทราบ เลขาธิการ ครม.กล่าวว่าเรื่องนี้รัฐบาลจะต้องชี้แจงกลับไปยัง ป.ป.ช.ภายในวันที่ 4 มี.ค.2567 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สารีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กลับมารายงานให้ ครม.รับทราบภายในเวลา 30 วัน โดยนายพีระพันธุ์ได้ยกมือขึ้นและกล่าวกับที่ประชุม ครม.ว่าเรื่องนี้ไม่ต้องใช้เวลาถึง 30 วัน เพราะกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (ก.พ.ช.) ได้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้แล้วเบื้องต้นพบว่ากองทุนอนุรักษ์พลังงานนั้นมีลักษณะของการใช้เงินผิดประเภทอยู่ แล้วไม่ใช่แค่เงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานเท่านั้นจะมีการตรวจสอบการใช้เงินของกองทุนรอบโรงไฟฟ้าด้วยซึ่งจะสามารถรายงานให้ ครม.รับทราบโดยเร็วขึ้น ทั้งนี้ เลขาธิการ ครม.ได้ได้ขอให้กระทรวงพลังงานทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร เข้ามาเสนอยัง ครม.ด้วย