“พลังงาน” แจงลดวงเงินสนับสนุนกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 3ปี

“พลังงาน” แจงลดวงเงินสนับสนุนกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 3ปี

“พลังงาน” แจงสาเหตุปรับลดการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 3ปี จากกรอบเดิมปีละ 10,000 ล้านเหลือปีละ 4,000 ล้านบาท   

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน โดยปรับลดอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันดีเซลหมุนช้า และน้ำมันเตา ในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี และอัตรา 0.05 บาทต่อลิตร ระยะเวลา 2 ปี มีผลทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา

“เพื่อช่วยเหลือช่วงน้ำมันแพง จึงเสนอให้กพช.เห็นชอบปรับลดเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจากที่เคยเก็บ 10 สตางค์ต่อลิตร เหลือ 0.005 บาทต่อลิตร ซึ่งจากการคำนวณการเก็บเงินเข้ากองทุนดังกล่าว 10 สตางค์ จะทำให้จำนวนเงินที่เก็บจากประชาชนในการเติมน้ำมันชนิดต่างๆ ปีละราว 3,500 ล้านบาท และหากคิดการเก็บเหลือ 0.005 บาทต่อลิตร จะเหลือเพียง 145-150 ล้านบาทต่อปี เป็นเวลา 1ปี และหลังจากนั้นปี 2566-2567 ก็จะเก็บจำนวน 5 สตางค์ต่อลิตร” นายกุลิศ กล่าว

อีกทั้ง ยังเห็นชอบแนวทางหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปีงบประมาณ พ.ศ.2565-2567 ปรับลดจากเดิมที่มีกรอบไว้ 10,000 ล้านบาท ซึ่ง 3 ปีต่อจากนี้ไปในปี 2565-2567 จะจัดสรรปีละ 4,000 ล้านบาท และให้คณะกรรมการกองทุนฯ มีอำนาจปรับปรุงแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ และการจัดสรรเงินตามแผนและกลุ่มงานต่างๆ ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมภายในวงเงินรวม 12,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี 2563 กองทุนฯ ได้กำหนดวงเงินเพื่อสนับสนุนพลังงานสะอาดไว้ที่ 5,600 ล้านบาท พบว่ามีโครงการที่ผ่านการอนุมัติและพิจารณาราว 1 พันกว่าล้านบาท ส่วนปี 2564 ได้กำหนดวงเงินไว้ที่ 6,300 ล้านบาท โครงการที่ผ่านการพิจารณาอยู่ที่ 3,000 กว่าล้านบาท ดังนั้น กองทุนฯ จึงเห็นสมควรว่าวงเงินที่จะพิจารณาจัดสรรให้สนับสนุนสำหรับการอนุรักษ์พลังงานและการสร้างพลังงานทดแทนน่าจะอยู่ที่ประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กองทุนฯ จะแบ่งเงินอีกครึ่งหนึ่งคือ 2,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือส่งเสริมพลังงานทดแทนในชุมชนเศรษฐกิจฐานราก และเสริมสร้างความเข้มแข็งกับชุมชนเศรษฐกิจฐานรากทั่วประเทศ สร้างรายได้เพื่อเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานให้จำนวน 76 จังหวัด จังหวัดละ 25 ล้านบาท เป็นเงิน 1,900 ล้านบาท ซึ่งจะยังคงไว้เหมือนปี 2564

นายกุลิศ กล่าวว่า ในการเปิดให้ยื่นขอเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ประจำปี2565 นั้น สัปดาห์หน้าคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ จะประชุม เพื่ออนุมัติแผนยุทธศาสตร์เพื่อประกาศให้ทราบว่าแผนงานทั้ง 7 กลุ่ม อาทิ กลุ่มกฎหมาย กลุ่มนโยบายกลุ่มส่งเสริม กลุ่มสื่อสาร กลุ่มพัฒนาบุคลากร กลุ่มอนุรักษ์พลังงาน กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก จะมีวงเงินเท่าไหร่ และมีเกณฑ์พิจารณาอนุมัติอย่างไร จะต้องใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานทดแทนเท่าไหร่ ก่อนจะเปิดเสนอได้ ซึ่งปีนี้จะเหมือนปีที่แล้วว่าโครงการแต่ละจังหวัดที่ได้งบประมาณจังหวัดละ 25 ล้านบาท ก็สามารถเสนอผ่านเพื่อผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กลั่นกรองโครงการมาเสนอมายังกองทุนฯ คาดว่าเดือนม.ค.2565 จะสามารถดำเนินการได้