ปี 66 “ธุรกิจท่องเที่ยว” มาแรง ตั้งใหม่ทั้งจำนวน-มูลค่าธุรกิจเพิ่ม 60%

ปี 66 “ธุรกิจท่องเที่ยว” มาแรง  ตั้งใหม่ทั้งจำนวน-มูลค่าธุรกิจเพิ่ม 60%

จุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่ว่าด้วยการจัดตั้งธุรกิจซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่รับจดทะเบียนและติดตามสถานการณ์ธุรกิจต่างๆ พบว่าปี 2566 มีกลุ่มธุรกิจต่างๆที่เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก

ขณะเดียวกันก็มีบางธุรกิจที่จดเลิกกิจการไป ซึ่งสามารถสะท้อนทิศทางเศรษฐกิจไทยได้อย่างน่าสนใจ 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวถึงจากการวิเคราะห์ธุรกิจจดทะเบียนช่วงปี 2566 ว่า ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจให้เติบโตสูงขึ้นได้แก่  ภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเฉพาะการสนับสนุน Soft Power ของรัฐบาล และนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว สะท้อนจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจตัวแทนการเดินทาง เติบโต 1.04 เท่า ธุรกิจจัดนำเที่ยว เติบโต 69.35% จากการจัดงานเทศกาลที่สำคัญในทุกพื้นที่ของประเทศ รวมทั้ง ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร เติบโต 36.34% จากการผลักดันอาหารไทยที่เป็นเอกลักษณ์และให้ชาวต่างประเทศ ได้รู้จักอาหารไทยมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เติบโต 1.56 เท่า ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด เติบโต 30.69% โดยใน 11 เดือนแรกปี 2566 มีจำนวน การจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 45.58% มีสัดส่วนคิดเป็น 8.59% ของจำนวนธุรกิจ ที่จัดตั้งทั้งหมดใน 11 เดือนแรกปี 2566 

ธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่ม 63%มูลค่าเพิ่ม 67%

“โดยอันดับ 1 ในจำนวน  5 ธุรกิจมาแรงในปี 2566 ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว มีจำนวนธุรกิจตั้งใหม่ 2,882 ราย เพิ่มขึ้น 63.84%  ทุนจดทะเบียนรวม7,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67.74%”

นางอรมน กล่าวอีกว่า ส่วนธุรกิจมาแรงปี 2566 อันดับที่2คือ ธุรกิจสมุนไพร จำนวนจดตั้ง 711 ราย ทุนจดทะเบียน2,083 ล้านบาท และ อันดับที่ 3 คือ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 7,878 ราย ทุนจดทะเบียน 32,615 ล้านบาท  

จากการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ ส่งผลให้ หลายธุรกิจมีการเติบโตที่สูงและน่าจับตามอง เช่น ธุรกิจขายส่งข้าวเปลือกและธัญพืช เติบโต 1.58 เท่า (เพิ่มขึ้น 122 ราย) จากการส่งเสริมนโยบาย BCG Model  : เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เช่น การสนับสนุนต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก ธุรกิจผลิต แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เติบโต 2.2 เท่า (เพิ่มขึ้น 11 ราย) จากความต้องการในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า และกลุ่ม สินค้าเทคโนโลยี รวมทั้งธุรกิจ e-Commerce เติบโต 18.95% (เพิ่มขึ้น 264 ราย) จากรูปแบบช่องทางการซื้อขาย 

ปี 66 “ธุรกิจท่องเที่ยว” มาแรง  ตั้งใหม่ทั้งจำนวน-มูลค่าธุรกิจเพิ่ม 60%

ตั้งเป้าทั้งปี66ธุรกิจตั้งใหม่ 8.4 หมื่นราย

“สินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าคาดการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ ตลอดทั้งปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 84,000 – 86,000 ราย และมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งอยู่ที่ประมาณ 550,000 – 600,000 ล้านบาท”

สำหรับการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือนพ.ย. 2566ว่าจำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศในเดือนพ.ย. จำนวน 5,979 ราย เพิ่มขึ้น 4% เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 25,272.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26%ส่วนจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 2,608 ราย ลดลง 3% มีมูลค่า ทุนจดทะเบียน 17,374.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84%

ส่วนสถิติสะสมธุรกิจจัดตั้งใหม่ 11 เดือนปี2566 (ม.ค.-พ.ย.) จำนวน 81,291 ราย เพิ่มขึ้น 12% ทุนจดทะเบียน 546,855 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% ธุรกิจเลิกประกอบกิจการ17,858 ราย เพิ่มขึ้น 11% ทุนจดทะเบียน 107,728 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 3%

ควบรวมกิจการดันสถิติสะสม11 เดือนพุ่ง

 โดยการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในเดือนพ.ย. 2566 ยังคงเป็นไปตามช่วงเวลาของ การจดทะเบียนจัดตั้งที่จะมีแนวโน้มการจดจัดตั้งสูงในช่วงต้นปีและลดลงในช่วงปลายปี ทั้งนี้ พบว่า มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ใน 11 เดือนของปี 2566 เพิ่มขึ้น จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึง 33.83% (11 เดือนแรกปี 2565) เนื่องจากในเดือนมี.ค. 2566 มีการควบรวมกิจการในธุรกิจสื่อสาร โทรคมนาคมและธุรกิจประกันวินาศภัย รวมทั้งมีการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในกลุ่มธุรกิจโฮลดิ้งและ โรงแรม

ในส่วนการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ พ.ย. จำนวน 6,804 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน จำนวน 103,228 ล้านบาท โดยทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ มากที่สุด ได้แก่ สิทธิเรียกร้อง เช่น บัญชีเงินฝาก ลูกหนี้การค้า สิทธิการเช่า คิดเป็น  80.09%   มูลค่า 82,680 ล้านบาท  รองลงมาคือ สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่นเครื่องจักร สินค้าคงคลัง คิดเป็น 19.09%   มูลค่า 20,539 ล้านบาท  กิจการ มีการจดทะเบียนคิดเป็น 0.01%   มูลค่า 8 ล้านบาท  ไม้ยืนต้น มีการจดทะเบียน คิดเป็น 0.001% 

 มูลค่า 913,898 บาท  ทั้งนี้ มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 482 คำขอ และจดทะเบียนยกเลิกสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 11,011 คำขอ โดยมีผู้รับหลักประกัน จำนวนทั้งสิ้น 395 ราย