กพอ.เคาะ ‘เมืองอัจฉริยะ EEC’ เป็นเขตส่งเสริมกิจการพิเศษ ดึงลงทุน 5.3 แสนล้าน

กพอ.เคาะ ‘เมืองอัจฉริยะ EEC’ เป็นเขตส่งเสริมกิจการพิเศษ ดึงลงทุน 5.3 แสนล้าน

กพอ. ไฟเขียวตั้งศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะเป็นเขตส่งเสริมกิจการพิเศษ พื้นที่ 5,795 ไร่ จากทั้งหมด 14,619 ไร่ ลงทุนกว่า 5.3 แสนล้านบาท หวังดึงลงทุนอุตฯ เป้าหมายและรองรับผู้อยู่อาศัยได้ 3.5 แสนคน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4/2566 วันนี้ (26 ธ.ค.) ว่า กพอ. ได้พิจารณาเห็นชอบการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษศูนย์ธุรกิจอีอีซี และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ โดยประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษประเภทเพื่อกิจการพิเศษ บนพื้นที่พัฒนาระยะที่ 1 ประมาณ 5,795 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 14,619 ไร่ ในตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มูลค่าการลงทุนประมาณ 534,985 ล้านบาท 

ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพครบวงจร การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ดิจิทัล การบินและโลจิสติกส์ การแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและเชิงสุขภาพ 

รวมทั้งเป็นที่ตั้งศูนย์สำนักงานใหญ่ภูมิภาคและศูนย์ราชการสำคัญ ศูนย์บริการทางการเงิน ศูนย์ธุรกิจเฉพาะด้านและบริการอื่นๆ กิจการพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย 

โดยมีแนวคิดการพัฒนาที่มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่ผสมผสานระหว่าง ธรรมชาติ วิถีชีวิต นวัตกรรม และการออกแบบที่เน้นความยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เข้ากับเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสอดคล้องกับอนาคต  

ทั้งนี้ ศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ จะสามารถรองรับคนอยู่อาศัยได้กว่า 350,000 คน คาดว่าจะเกิดการสร้างงานทางตรงไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง สร้างแรงงานทักษะสูง มีรายได้สูงขึ้น เกิดมูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท

รวมถึงมีกลุ่ม Startup ในธุรกิจและบริการล้ำสมัย ประมาณ 150–300 กิจการ สามารถกระตุ้นการขยายตัวของ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 2 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปี และเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 ของโลกภายในปี 2580

กพอ.เคาะ ‘เมืองอัจฉริยะ EEC’ เป็นเขตส่งเสริมกิจการพิเศษ ดึงลงทุน 5.3 แสนล้าน

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพอ. ได้เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กพอ. เรื่องสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ... เพื่อนำเสนอต่อ ครม. ต่อไป โดยจะประกาศใช้และมีผลบังคับตั้งแต่ม.ค. 2567 ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ โดยใช้รูปแบบการเจรจาสิทธิประโยชน์กับนักลงทุน 

 

โดยสาระสำคัญของร่างประกาศฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย 7 หมวด ได้แก่ 

หมวด 1 บททั่วไป กำหนดให้มีการให้บริการภาครัฐเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์แบบเบ็ดเสร็จ  และการกำกับดูแลนักลงทุน 

หมวด 2 กำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตประกอบกิจการ 

หมวด 3 กำหนดกระบวนการเจรจาและทำความตกลงเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ และกำหนดให้มีคณะกรรมการเจรจาสิทธิประโยชน์ 

หมวด 4 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับสิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุด 

หมวด 5 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับสิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร และการยื่นขอรับ EEC Visa และ EEC work permit 

หมวด 6 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับสิทธิในการได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร 

หมวด 7 กำหนดกระบวนการเกี่ยวกับการได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ขณะเดียวกันที่ประชุม กพอ. ได้รับทราบเรื่องการประกาศจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยวิธีประกวดราคานานาชาติ ของกองทัพเรือ 

พร้อมกันนี้ ได้เร่งรัดให้ สกพอ. รฟท. และเอกชนคู่สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินและเอกชนคู่สัญญาโครงการสนามบินอู่ตะเภาสรุปแผนการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เงื่อนไขบังคับก่อนการเริ่มต้นโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ ทั้งหมดครบสมบูรณ์ตามที่กำหนดในสัญญา เพื่อให้โครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ เริ่มต้นการก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2567 

นอกจากนี้ กพอ. ได้เห็นชอบให้ สกพอ. ปฏิบัติตามรายงาน EHIA ของโครงการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 รวมถึงงานก่อสร้างอื่น ๆ ภายในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา อย่างเคร่งครัด โดยให้ สกพอ. ขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2568 จากสำนักงบประมาณ เพื่อจัดหาบุคคลที่ 3 (Third Party) เป็นผู้ดำเนินการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้รับเหมาให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใต้รายงาน EHIA อาทิ เสียง อากาศ การสั่นสะเทือน การจัดการของเสีย เป็นต้น