กลยุทธ์ “บีโอไอ” ตั้งสำนักงานเพิ่ม 3 ประเทศ ดึงลงทุนเอเชีย

กลยุทธ์ “บีโอไอ” ตั้งสำนักงานเพิ่ม 3 ประเทศ ดึงลงทุนเอเชีย

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2566 ให้จัดตั้งสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ 3 แห่ง

ได้แก่ 

1.กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพด้านการลงทุนสูง

2.นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญในภาคตะวันตกของจีน โดยจีนเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย และมีการเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

3.สิงคโปร์ เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพด้านการลงทุนสูง ซึ่งเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้อนุมัติการเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสำนักงานบีโอไอ 4 แห่ง ในจีนและไต้หวัน เพื่อเร่งชักจูงการลงทุนเชิงรุกอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ เช่น Semiconductor, Printed Circuit Board (PCB) และยานยนต์ไฟฟ้า 

ทั้งนี้ ปัจจุบันบีโอไอ มีสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ จำนวน 16 แห่ง ใน 12 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ญี่ปุ่น 2 แห่ง ที่กรุงโตเกียวและนครโอซากา , จีน 3 แห่ง ที่กรุงปักกิ่ง นครกวางโจว และนครเซี่ยงไฮ้ , ไต้หวัน 1 แห่ง ที่กรุงไทเป , เกาหลีใต้ 1 แห่ง ที่กรุงโซล , อินเดีย 1 แห่ง ที่นครมุมไบ , เวียดนาม 1 แห่ง ที่กรุงฮานอย , อินโดนีเซีย 1 แห่ง ที่กรุงจาการ์ตา

ออสเตรเลีย 1 แห่ง ที่นครซิดนีย์ , สหรัฐ 2 แห่ง ที่นครนิวยอร์คและนครลอสแอนเจลิส , เยอรมนี 1 แห่ง ที่นครแฟรงก์เฟิร์ต , ฝรั่งเศส 1 แห่ง ที่กรุงปารีส และสวีเดน 1 แห่ง ที่กรุงสต็อกโฮม

การดำเนินงานของบีโอไอมีแผนเร่งแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกในการลงทุน (Ease of Investment) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน 

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคของการประกอบธุรกิจ และการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐใน 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 

1.การปลดล็อกธุรกิจบริการของคนต่างชาติในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ

2.การขยายขอบเขตและอำนวยความสะดวกในการทำงานของบุคลากรต่างชาติ

3.การแก้ปัญหาผังเมืองในพื้นที่อุตสาหกรรม

4.การจัดหาพลังงานสะอาด

5.การลดขั้นตอนในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของอุตสาหกรรมเป้าหมาย