TDRI ห่วงไทยพัฒนาพันธุ์ข้าว 'สะดุด'!!

สิ่งที่น่าเป็นห่วงในระยะหลังภาครัฐให้เงินอุดหนุนจำนวนมากในภาคการเกษตรและเป็นการให้เปล่าที่มีการพิสูจน์จากงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศแล้วว่าไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน

นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร เผยผลการศึกษาวิจัยในโครงการศึกษา “ผลกระทบของโควิด-19 ต่อรายได้ รายจ่าย สินทรัพย์ การศึกษา อาชีพ และการปรับตัวของครัวเรือนเกษตรและสมาชิกผู้อพยพ” ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาภาคการเกษตรประเทศหนึ่ง เห็นได้ชัดเจนจากการเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับสำคัญของโลก ความสำเร็จมาจากการพัฒนาคน และงานวิจัยทำให้เกษตรกรมีผลิตภาพสูงขึ้น ต้นทุนต่อไร่ต่ำลงรวมถึงเอกชนมีบทบาทในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ แต่ปัจจุบันการวิจัยพัฒนาเริ่มอ่อนแรงลงเห็นได้ชัดจากข้าวที่เกษตรกรหันไปใช้พันธุ์ข้าวจากต่างประเทศ ประเทศไทยยังติดบ่วงความคิดว่าข้าวหอมมะลิของไทยดีที่สุดในโลก ระบบของไทยไม่ได้ส่งเสริมให้ปรับปรุงพัฒนาข้าวหอมมะลิใหม่ๆ ให้มีคุณสมบัติแตกต่างจากเดิม รวมถึงเงินลงทุนด้านการวิจัยเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ข้าวลดลงไปมาก นักปรับปรุงพันธุ์เริ่มขาดแคลน แรงจูงใจของนักวิจัยทั้งในมหาวิทยาลัยและกรมการข้าวยังเป็นปัญหาใหญ่ รวมทั้งนโยบายต่างๆ ยังมาจากส่วนกลางไม่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงในระยะหลังภาครัฐให้เงินอุดหนุนจำนวนมากในภาคการเกษตรและเป็นการให้เปล่าที่มีการพิสูจน์จากงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศแล้วว่าไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน วันนี้ต้องกลับมาคิดว่าเงินอุดหนุนเหล่านี้จะให้ต้องมีเงื่อนไข เช่น การเผาไร่นา หากรับเงินอุดหนุนต้องเลิกเผา เป็นการแก้ปัญหา PM2.5 ได้ด้วย

สำหรับข้อเสนอด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการสร้างสถาบัน ด้านนโยบายการสร้างงานและพัฒนาทักษะ แรงงานในชนบท สร้างอุปสงค์การจ้างงานในชนบทที่สอดคล้องกับทรัพยากรที่มี และศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ส่งเสริมการลงทุนในชนบท ในกิจกรรมที่ขาดแคลน

ด้านนโยบายสร้างงานและทักษะรองรับ AI, Green economy และสังคมสูงอายุในอนาคต ศึกษาความต้องการแรงงานในยุค AI และแรงงานที่ AI ทดแทนไม่ได้รวมทั้งการจ้างงานยุคสังคม สูงอายุ และเศรษฐกิจสีเขียวหรือคาร์บอนต่ํา ยกเครื่องหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน และการ ฝึกอบรม โดยให้เอกชนมีบทบาทนํา

ด้านนโยบายด้านการเกษตร เพิ่มทุนวิจัยพันธุ์พืชและในฟาร์ม เกษตรกร ยกเลิกนโยบายเสื้อโหลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนออกแบบ อุดหนุนเกษตรกรแบบมีเงื่อนไข รวมถึงทบทวนและปรับปรุงประเด็นเรื่องสิทธิทํากิน