‘เศรษฐา’ ยื้ออุ้มพลังงาน บีบราคาก๊าซต้นทุนไฟฟ้า ยืดลดภาษีน้ำมัน

‘เศรษฐา’ ยื้ออุ้มพลังงาน บีบราคาก๊าซต้นทุนไฟฟ้า ยืดลดภาษีน้ำมัน

นายกฯ สั่งต่ออายุมาตรการลดราคาพลังงาน ต้องมากที่สุด “พีระพันธุ์” ยืนยันลดค่าไฟ น้ำมัน LPG เป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้ประชาชน ชี้เป็นมาตรการระยะสั้น เตรียมรื้อกฎหมายและปรับโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิด คาดค่าไฟใหม่ 4.18 บาท ด้าน ส.อ.ท.ลุ้นค่าไฟไม่เกิน 4.10 บาทต่อหน่วย

มาตรการดูแลราคาพลังงานที่ประกาศใช้หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใกล้ครบกำหนด โดยการตรึงราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.2566 ในขณะที่มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันกลุ่มเบนซินลง 1 บาท จะสิ้นสุดในวันที่ 7 ม.ค.2567 รวมทั้งค่าไฟฟ้าจะปรับเพิ่มในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 จากปัจจุบันหน่วยละ 3.99 บาท 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ธ.ค.2566 ได้สั่งการให้นายพีระพันธ์ุ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หาทางตรึงราคาพลังงานให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบค่าของชีพของประชาชน โดยค่าไฟฟ้าให้ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย โดยต้องดูราคาต้นทุนก๊าซธรรมชาติว่าปรับขึ้นหรือลดลงมากเพียงใด

ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลจะไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งกระทรวงพลังงานได้รับเรื่องไปศึกษาเพื่อที่จะนำเสนอสู่ที่ประชุม ครม.โดยเร็ว

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน เพื่อลดความเดือดร้อนจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูงตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ดังนี้

1.มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่ง ครม.มีมติตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร รวม 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2567 โดยกระทรวงพลังงานจะหารือกระทรวงการคลัง โดยใช้กลไกภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนราคาก๊าซหุงต้มจะตรึงราคาที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค.2567 โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

2.มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าจะปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ตามข้อเสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 13 ธ.ค.2566 รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระเงินคงค้างสะสม (AF) สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 แทนผู้ใช้ไฟฟ้าไปพลาง

ส่วนบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะทบทวนสมมติฐานปริมาณและราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้คำนวณอัตราค่าไฟฟ้าให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน และจะนำส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติ 4,300 ล้านบาท จากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของผู้ผลิต (Shortfall) ในปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 มาช่วยลดราคาก๊าซธรรมชาติรอบนี้ด้วย

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้ค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย โดยมีอัตราเป้าหมายที่ 4.18 บาท แต่ยังไม่สรุป เพราจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ส่วนกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนจะได้รับส่วนลดเพิ่ม 21 สตางค์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 17 ล้านครัวเรือน จะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดิมคือ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยในส่วนนี้จะใช้งบกลางในการบริหารคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 1,950 ล้านบาท

“หลังผมรับตำแหน่ง ทั้งผมและข้าราชการเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่กระทรวงพลังงานนำเสนอเข้าที่ประชุมครม.ในวันนี้ ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการหาแนวทาง ใช้ทุกมาตรการเพื่อลดราคาพลังงานทุกชนิดให้แก่ประชาชน" นายพีรพันธุ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ราคาก๊าซธรรมชาตินำเข้าจากต่างประเทศอยู่ในระดับสูง ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตในประเทศยังผลิตไม่ได้ตามแผน เพราะมีการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทาน อีกทั้งสงครามภายนอกที่ยืดเยื้อ และพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่ในระบบปัจจุบันยังมีต้นทุนสูง ทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบมาเป็นต้นทุนค่าไฟ 

รวมทั้งที่ผ่านมาได้รับการช่วยเหลือจาก กฟผ.ในการแบกรับภาระค่าไฟฟ้าบางส่วนมาโดยตลอด รวมทั้งให้ประมาณการราคาก๊าซธรรมชาติให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม ดังนั้นต้องรักษาสมดุลให้กับทุกฝ่าย

หารือคลังต่อมาตรการลดภาษีน้ำมัน

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการตรึงราคาน้ำมันได้หารือกับกระทรวงการคลังในการใช้กลไกการลดการเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อให้สามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อไปอีก 3 เดือน ส่วนราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่ได้สั่งการให้มีการลดราคาตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2566 จะยังมีผลต่อเนื่องยาวไปจนถึง 31 ม.ค.2567

“ขอยืนยันอีกครั้งว่า การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ครม.มีมติในวันนี้ ถือเป็นของขวัญปีใหม่จากกระทรวงพลังงาน แต่เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเท่านั้น ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการรื้อกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ ประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์สูงสุด จะไม่มีเสียงครหาว่ากระทรวงพลังงานเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน”

ส.อ.ท.ลุ้นค่าไฟไม่เกิน 4.10 บาท

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้นทุนพลังงานในปัจจุบันทั้งน้ำมันดิบซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญในการผลิตค่าไฟลดลง จากสมมุติฐานเดิม กกพ.กำหนดเมื่อรวมกับค่าปรับที่ ปตท. จำนวน 4,300 ล้านบาท มาช่วย และปัจจัย LNG นำเข้าที่ลดลง อีกทั้งค่าเงินบาทที่ทรง ๆ ไม่อ่อนตัวมาก

ทั้งนี้ เอกชนมองว่าภาครัฐสามารถกดราคาค่าไฟฟ้าให้ต่ำกว่า 4.20 บาทต่อหน่วยได้ โดยเป้าหมายอยู่ที่ไม่เกิน 4.10 บาทต่อหน่วย โดยมองราคาที่สมเหตุสมผลด้วยการใช้กลไกที่มีอยู่ และแก้ที่ต้นเหตุให้มากที่สุดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งไม่เป็นภาระของผู้บริโภคมากจนเกินไป อีกทั้ง การเอางบกลางมาอุ้มกลุ่มเปราะบางก็จะลดลง

ครม. มีหน้าที่ให้นโยบายเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องไปกำกับดูแลค่าไฟให้ดีที่สุด ส่วนเอกชนมีหน้าที่สะท้อนความเห็นในฐานะทั้งนักลงทุน/นักธุรกิจและในหมวกของประชาชน ที่ผ่านมา กฟผ. แบกรับภาระจนหลังแอ่นแล้ว ทั้ง ๆ ที่มีส่วนแบ่งในการผลิตไฟฟ้าเพียง 30% รัฐบาลต้องการหาทางออกในการแก้ต้นเหตุให้มากที่สุด ซึ่งครั้งนี้จะเห็นว่ามีปตท. มามีส่วนร่วมรับผิดชอบมากขึ้น ถือเป็นสิ่งที่ดีต่อภาพรวม”