’ญี่ปุ่น’ ส่งสัญญาณลุย ‘แลนด์บริดจ์’ เล็งปล่อยกู้ - ร่วมประมูล ’PPP’

’ญี่ปุ่น’ ส่งสัญญาณลุย ‘แลนด์บริดจ์’ เล็งปล่อยกู้ - ร่วมประมูล ’PPP’

“เศรษฐา” โรดโชว์แลนด์บริดจ์กล่อม 30 นักลงทุน ลงทุนแจงได้เปรียบ ต้นทุนขนส่งลดเฉลี่ย 15% ลดเวลาขนส่งเฉลี่ย 4 วัน เล็งเปิดโครงการให้เป็นจุดรับส่งน้ำมันภูมิภาค หวังส่วนแบ่งเรือจากช่องแคบมะละกา 23% จ้างงาน 2.8 แสนตำแหน่ง ดันGDPไทยโต 5.5% พร้อมดึงแบงก์ญี่ปุ่นปล่อยกู้ PPP

การเดินทางเยือนญี่ปุ่นของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 14-19 ธ.ค.2566 นอกจากเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ยังได้หารือกับบริษัทญี่ปุ่นในหลายธุรกิจเพื่อเพิ่มการลงทุนในไทย เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์

รวมทั้งได้จัดงาน “Thailand Landbridge Roadshow” ในวันที่ 18 ธ.ค.2566 เพื่อให้ข้อมูลโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์) โดยมีบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นเกือบ 30 บริษัทให้ความสนใจร่วมเข้ารับฟัง

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญจากคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่โครงการแลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยริเริ่มจากโอกาสและศักยภาพของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งภูมิภาค และอนาคตอาจเป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งอีกแห่งหนึ่งของโลก

“ไทยพร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากนักลุงทุนญี่ปุ่น ซึ่งเอเชียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสูงสุดที่ 40% รองลงมาเป็นยุโรปที่สัดส่วน 38% ซึ่งการค้าขายส่วนใหญ่จะอาศัยการขนส่งทางเรือเพราะขนส่งได้มากและประหยัดที่สุด และการเดินเรือสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปส่วนใหญ่ผ่านช่องแคบมะละกา”

 

ทั้งนี้แม้ปัจจุบันช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลหลัก โดยตู้สินค้าผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วน 25% ของจำนวนตู้สินค้าทั่วโลก รวมทั้งการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกามีสัดส่วน 60% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก ทำให้ช่องแคบมะละกามีปริมาณการเดินเรือคับคั่งและแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

รวมทั้งปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์ในท่าเรือที่อยู่บริเวณช่องแคบมะละกามี 70.4 ล้านตู้ต่อปี และมีเรือผ่านช่องแคบมะละกา 90,000 ลำต่อปี คาดการณ์ว่าปี 2573 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะประสบปัญหาตู้สินค้าจำเป็นต้องรอที่ท่าเรือ เพื่อรอเรือเข้ามาทำการขนถ่ายตู้สินค้า ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากความล่าช้า

ทั้งนี้ไทยเห็นโอกาสพัฒนาเส้นทางบรรเทาผลกระทบ โดยใช้ที่ตั้งกลางคาบสมุทรอินโดจีนที่พัฒนาเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยไทยเชื่อว่าแลนด์บริดจ์เป็นเส้นทางเลือกสำคัญที่จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น

กลุ่มเป้าหมาย“เรือขนส่งขนาดกลาง”

รวมทั้งเมื่อเทียบต้นทุนและเวลาการขนส่งตู้สินค้าผ่านแลนด์บริดจ์กับช่องแคบมะละกา พบว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของเรือขนส่งตู้สินค้าที่จะมาใช้แลนด์บริดจ์ ได้แก่ เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดกลาง (Feeder) ที่ขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย

นอกจากนี้ ปัจจุบันการขนส่งตู้สินค้าจากประเทศผู้ผลิตในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ ไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง จะขนส่งมาโดยเรือขนาดใหญ่ (Mainline) แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder ที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา เพื่อขนส่งไปประเทศผู้บริโภค ซึ่งเมื่อมีแลนด์บริดจ์จะทำให้ตู้สินค้าเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากประเทศผู้ผลิต โดยใช้เรือ Feeder แล้วมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าลงเรือ Feeder อีกลำที่แลนด์บริดจ์ ซึ่งประหยัดต้นทุนขนส่งอย่างน้อย 4% และประหยัดเวลา 5 วัน

สำหรับสินค้าที่ผลิตจากประเทศผู้ผลิตในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีนด้านตะวันออก ไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาประเทศผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่ขนส่งด้วยเรือ Feeder แล้วมาถ่ายลำที่ท่าเรือในช่องแคบมะละกา ไปลงเรือ Feeder อีกลำ เพื่อขนส่งตู้สินค้าไปประเทศผู้บริโภค เมื่อมีแลนด์บริดจ์จะทำให้ตู้สินค้ามาถ่ายลำที่แลนด์บริดจ์ ซึ่งประหยัดต้นทุนขนส่งอย่างน้อย 4% และประหยัดเวลา 3 วัน

ส่วนกลุ่มสินค้าที่ผลิตในไทย ลาว กัมพูชา เมียนมาและจีนตอนใต้ จะขนถ่ายตู้สินค้าผ่านโครงข่ายคมนาคมทางบกของไทยไปออกที่ แลนด์บริดจ์ด้วยเรือ Feeder ไปประเทศผู้บริโภค เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ประเทศในเอเชียกลางและตะวันออกกลาง ซึ่งแลนด์บริดจ์จะประหยัดค่าใช้จ่ายจากเดิมได้ถึง 35% และประหยัดเวลาถึง 14 วัน

’ญี่ปุ่น’ ส่งสัญญาณลุย ‘แลนด์บริดจ์’ เล็งปล่อยกู้ - ร่วมประมูล ’PPP’

“แลนด์บริดจ์”ลดเวลาขนส่งเฉลี่ย4วัน

ดังนั้น เฉลี่ยแล้วการขนส่งตู้สินค้าในทุกเส้นทางผ่านแลนด์บริดจ์จะลดเวลาเดินทางได้ 4 วัน และลดต้นทุนได้ 15% ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าที่จะผ่านท่าเรือฝั่งตะวันตกของแลนด์บริดจ์อยู่ที่ 19.4 ล้านตู้ และผ่านท่าเรือฝั่งตะวันออกอยู่ที่ 13.8 ล้านตู้ หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนตู้สินค้าทั้งหมดที่ผ่านท่าเรือในช่องแคบมะละกา จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 23%

“เป็นการประมาณการแบบขั้นต่ำ (Conservative) และพิจารณา การเชื่อมโยงสินค้าที่เกิดจากเรือ Feeder มาต่อเรือ Feeder เท่านั้น ยังไม่รวมโอกาสที่เรือขนาดใหญ่จะมาเทียบท่าในแลนด์บริดจ์”

ส่วนการขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง พบว่าปัจจุบันขนส่งน้ำมันดิบ 19 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยที่ 56% หรือ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งหากใช้แลนด์บริดจ์เป็นจุดกระจายน้ำมันดิบในภูมิภาค จะประหยัดต้นทุนขนส่งอย่างน้อย 6%

อีกทั้งการลงทุนโครงการนี้ นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาโครงการอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการ ธุรกิจภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและการธนาคาร ซึ่งผลประโยชน์เกิดขึ้นกับธุรกิจภาคเกษตรกรรม และธุรกิจภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curves ที่จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่ม

นอกจากนี้แลนด์บริดจ์จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยจะสร้างงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 280,000 อัตรา และจีดีพีของไทยจะเติบโตถึง 5.5% ต่อปี หรือไปอยู่ที่ 6.7 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อมีการพัฒนาโครงการอย่างเต็มรูปแบบ

’ญี่ปุ่น’ ส่งสัญญาณลุย ‘แลนด์บริดจ์’ เล็งปล่อยกู้ - ร่วมประมูล ’PPP’

ดึงแบงก์ญี่ปุ่นแหล่งทุนแลนด์บริดจ์

รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายจุนอิจิ ฮันซาวะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MUFG Bank จำกัด และนายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2566 โดยหารือประเด็นการเป็นแหล่งทุนให้แลนด์บริดจ์

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์มีมูลค่าการลงทุน 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรัฐ (PPP) ประกอบด้วยการลงทุน 4 ระยะ ครอบคลุมโครงการท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร และระนอง มอเตอร์เวย์ ท่อขนส่งน้ำมัน ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน รองรับการขนส่งสินค้าจากทางเรือจากท่าเรือ 2 ฝั่ง แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 มีการลงทุน 6.09 แสนล้านบาท
  • ระยะที่ 2 มีการลงทุน 1.647 แสนล้านบาท
  • ระยะที่ 3 มีการลงทุน 2.28 แสนล้านบาท และ
  • ระยะที่ 4 ใช้เงินลงทุน 8.51 หมื่นล้านบาท

สำหรับการขับเคลื่อนโครงการนี้หลังจากที่ ครม.เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการจะเริ่มจากโรดโชว์ลงทุนโครงการนี้ในต่างประเทศตั้งแต่เดือน พ.ย.2566 ถึงเดือน ม.ค.2567 จากนั้นจะเร่งการทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ ร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ....

’ญี่ปุ่น’ ส่งสัญญาณลุย ‘แลนด์บริดจ์’ เล็งปล่อยกู้ - ร่วมประมูล ’PPP’

ดึงสายเดินเรือญี่ปุ่นมาร่วมลงทุน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้ร่วมประชุมหารือทวิภาคีกับ นายไซโต เท็ตสึโอะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ระหว่างร่วมคณะนายกรัฐมนตรี โดยมีการนำเสนอการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือที่อยู่ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน 

พร้อมทั้งได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากนักลงทุนญี่ปุ่น เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ต่อไป

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้เชิญชวนให้บริษัทโลจิสติกส์ และบริษัทเดินเรือขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนในโครงการดังกล่าวของประเทศไทยด้วย

อีกทั้งในการประชุมหารือครั้งนี้ ยังได้หารือถึงความร่วมมือการลงทุนระบบราง โดยได้หารือให้ MLIT และผู้ประกอบการญี่ปุ่นร่วมมือในการผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ของประเทศไทย ตามแผนแม่บทระบบการขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือ M-MAP 

รวมถึงจัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรางมาประจำที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีในการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ในไทย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือความร่วมมือทางด้านการบินในเส้นทางระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อแก้ปัญหาราคาค่าโดยสารแพง และตอบสนองต่อความต้องการในการเดินทางของนักท่องเที่ยวในเส้นทางดังกล่าว เนื่องจากแต่ละสายการบินจะสามารถขอตารางการบิน (Slot) ในเส้นทางไทย - ญี่ปุ่นเพิ่มเติมได้ ภายหลังจากการเปิดให้บริการทางวิ่งเส้นที่ 3 (รันเวย์ที่ 3) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณเที่ยวบินได้มากถึง 2,800 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมี Slot เพิ่มมากขึ้น