สรรหา 'บอร์ดกฟผ.' ยืดเยื้อ ฉุดแต่งตั้ง 'ผู้ว่าฯ' คนใหม่

สรรหา 'บอร์ดกฟผ.' ยืดเยื้อ ฉุดแต่งตั้ง 'ผู้ว่าฯ' คนใหม่

กระบวนการสรรหา "บอร์ดกฟผ." ต้องยืดเยื้ออีกครั้ง "พลังงาน" เปิดรับสมัครแทนการเชิญชวนนั่งบอร์ดบริหาร ฉุดการแต่งตั้งผู้ว่าฯ คนที่ 16 ล่าช้าไปด้วย ด้าน สหภาพฯ แนะ รัฐปรับโครงสร้างพลังงาน มองประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่กดรัฐวิสาหกิจเอื้อนายทุน

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ (คนที่ 16) แทน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.ที่ได้ครบวาระไปแล้วในวันที่ 21 ส.ค.2566 นั้น ยังต้องรอการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร กฟผ. (บอร์ดกฟผ.) ชุดใหม่ หลังจากบอร์ดชุดเก่าได้ลาออกไปทั้งชุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 

อย่างไรก็ตาม ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้ระบุถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการ กฟผ. ที่จะต้องมีการเปิดรับสมัครคณะกรรมการฯ ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงอยู่ระหว่างเปิดรับสมัครผู้ที่มีคุณสมบัติและมีความสนใจเพื่อจะเข้ามาเป็นบอร์ด กฟผ. ซึ่งขณะนี้ นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างขั้นตอนการลงนามถึงประกาศการสมัครคณะกรรมการบริหาร กฟผ. 

นายประเสริฐ กล่าวว่า ไม่ต้องห่วงรายชื่อคณะกรรมการ กฟผ. ที่ก่อนหน้านี่ที่กระทรวงพลังงานได้มีการทาบทามให้มานั่งบริหาร เพราะบุคคลเหล่านั้นล้วนมีความสามารถตรงตามภารกิจของ กฟผ. ดังนั้น เมื่อเปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการ ตนจะเชิญให้กลุ่มบุคคลที่ได้มีการทาบทามมาสมัคร จึงมั่นใจว่าขั้นตอนจะไม่ล่าช้า และหากท่าน รมว.พลังงาน ลงนามแล้ว คาดว่าจะได้รายชื่อบอร์ด กฟผ. ภายในปีนี้แน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ ได้ประเมินว่าจะสามารถเสนอรายชื่อคณะกรรมการ กฟผ.ชุดใหม่ให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้ภายใน 1 เดือน นับจากกลางเดือน ต.ค.2566 แต่เมื่อกระบวนจัดตั้งบอร์ด กฟผ. จะต้องเปิดรับสมัครก็จะส่งผลให้การแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. ต้องล่าช้าลงไปด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความเห็นให้อำนาจ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบันอนุมัตินายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ภายหลังผ่านขั้นตอนการสรรหา อีกทั้งบอร์ด กฟผ. ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ได้มีมติเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2566 ไปแล้วก็ตาม แต่ภายหลังรัฐบาลรักษาการได้เสนอรายชื่อให้ครม. เห็นชอบ แต่ด้วยมีข้อจำกัดในอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการ จึงต้องให้ กกต. เป็นผู้ร่วมเห็นชอบ

ดังนั้น เมื่อต้องเปลี่ยนกรรมการ กฟผ. กระทรวงพลังงาน จึงอยากให้กรรมการ กฟผ. ชุดใหม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาว่า นายเทพรัตน์ ที่ผ่านการคัดเลือกมาจากกรรมการชุดก่อนเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายไปในทิศทางเดียวกันได้

สำหรับโจทย์หลัก ๆ ที่ บอร์ดกฟผ. จะให้นายเทพรัตน์ ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่สำคัญ อาทิ การแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ออกจาก กฟผ. เพื่อให้มาบริหารที่ดึงคนนอกเข้าร่วมเพื่อความเป็นกลาง รวมไปถึงสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (internal PPA) ของ กฟผ. ที่ไม่เกี่ยวกับเอกชนที่จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น 

นายปรีชา กรปรีชา รองยุทธศาสตร์แผนงาน และวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) กล่าวว่า ในส่วนของสหภาพฯ และพนักงาน กฟผ. ก็อยากให้มีบอร์ดบริหารและตัวผู้ว่าฯ โดยเร็ว เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาภายในด้วยเช่นกัน เนื่องจากกระบวนการแต่งตั้งผู้บริหารภายในยังต้องอาศัยอำนาจของผู้ว่าฯ มาอนุมัติ พร้อมมอบนโยบายทิศทางการดำเนินงาน รวมถึงการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่บอร์ดหรือตัวผู้ว่าฯ กฟผ. แต่ปัญหาอยู่ที่ความตั้งใจในการแก้ปัญหาของรัฐบาล เพราะปัญหาต่าง ๆ ใน กฟผ. รัฐก็รับทราบมาโดยตลอด เมื่อฝ่ายบริหารไม่มี ระบบภายในระดับถัดมาก็จะเดินหน้าได้ลำบากไปด้วย จึงเห็นได้ชัดถึงเจตนาที่ต้องการให้ กฟผ. อ่อนแอ จากนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่การลดกำลังการผลิต กฟผ. ลง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน และล่าสุดเมื่อเกิดปัญหาค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ที่สูงขึ้น รัฐก็ให้รัฐวิสาหกิจอย่าง กฟผ. รับผิดชอบแทนหลักแสนล้านบาท

"เรื่องของค่าไฟ รัฐบาลสามารถสั่งการได้ เมื่อไม่มีผู้ว่าฯ ในฐานะรัฐวิสาหกิจ เพราะสั่งง่ายกว่าการมีผู้ว่าฯ หรือมีบอร์ด ซึ่งอาจจะมีการทักท้วงเมื่อเห็นความไม่ถูกต้องหรือเหมาะสม หรือ อีกนัยหนึ่งคือ กระทรวงพลังงานทำตนเองเป็นผู้ว่าการฯ กฟผ.เสียเอง เท่าที่ทราบท่าน รมว. พลังงาน ท่านเก่งด้านกฎหมาย จากการแถลงนโยบาย ว่าจะแก้ไขกฎหมาย จึงหวังว่าท่านจะเข้ามาช่วยปรับโครงสร้างพลังงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชน

นายปรีชา กล่าวว่า เมื่อภายใน กฟผ. สะดุด งานที่จะทำก็ทำต่อไม่ได้ ที่ผ่านมารัฐเองต้องทำลายรัฐวิสาหกิจโดยการลดบทบาทรัฐวิสาหกิจลง หรือให้อ่อนแอ เพิ่มบทบาทเอกชนโดยการเอื้อนายทุน ปัญหาคือถ้าทำให้รัฐวิสาหกิจอ่อนแอ ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชน ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน โดยหลักแล้ว รัฐวิสาหกิจถือเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยไม่เลวร้ายไปกว่านี้ ควรทำให้รัฐวิสาหกิจเข้มแข็ง เพราะว่ารัฐวิสาหกิจเป็นของประชาชน อย่างเช่น หนี้ที่เกิดขึ้นจากการขอให้รับภาระค่าเอฟทีเพื่อทำให้ค่าไฟลดลง กฟผ. ต้องแบกรับและกลายเป็นหนี้สะสม สุดท้ายประชาชนก็ต้องเป็นผู้จ่ายหนี้รวมถึงดอกเบี้ยในก้อนนี้อยู่ดี ดังนั้น การแก้ไขปัญหาควรแก้ไขที่ต้นเหตุ ไม่ใช่แก้ไขที่ปลายเหตุ

"การแก้ปัญหาภาครัฐที่ผ่านไม่ใช่วิธีที่ถูก รัฐควรปรับโครงสร้างพลังงานทั้งหมด ซึ่งก็ไม่ยอมทำ เมื่อนายทุนพยายามเข้ามาควบคุมรัฐวิสาหกิจ อย่างเช่น สมมุติว่า ผู้ว่าการฯ กฟผ. เป็นคนของนายทุน ก็เป็นการทำลายรัฐวิสาหกิจจากภายใน นั่นคือเจตนารมณ์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นของประชาชน ก็จะเปลี่ยนไปเป็นของนายทุน ผลประโยชน์ย่อมเปลี่ยนจากของประชาชน ไปเป็นของนายทุนแทน ที่ผ่านมามีความพยายามยื้อเวลาแทบทุกเรื่อง แม้กระทั่งผู้ว่าฯ ต่างจากก่อนยุบสภาฯ ที่พยายามเร่งให้มีผู้ว่าฯ และเมื่อได้คนไม่ถูกใจก็หยุดเรื่องไว้ บางหน่วยงานก็ไม่อยากร่วมรับผิดชอบเพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์มหาศาล ซึ่งรัฐไม่เคยคิดถึงภาคประชาชนเลย"