เศรษฐกิจไทย มองภาพรวม "วิกฤติที่เนิบช้า"

เศรษฐกิจไทย มองภาพรวม "วิกฤติที่เนิบช้า"

ไม่เคยมีครั้งใดในชีวิตการทำงานของผู้เขียน ที่การประกาศตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) โดยสภาพัฒน์ฯ จะถูกจับตาและเป็นประเด็นการเมืองได้เท่าการประกาศตัวเลขไตรมาส 3 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

เพราะก่อนหน้านี้ ประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตาคือ เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ "วิกฤติ" หรือไม่ เพราะจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้นโยบายเรือธงของรัฐบาล อันได้แก่ Digital Wallet 10,000 บาท สามารถทำได้หรือไม่

ก่อนที่จะลงไปในรายละเอียดของตัวเลข GDP ที่เป็นที่ตกใจของทั้งตัวผู้เขียนและอีกหลายฝ่ายแล้ว ก็จะขอนิยามคำจำกัดความของคำว่า "วิกฤติ" ก่อน โดยอาจสรุปโดยง่ายว่า คำว่าวิกฤติไม่มีคำจำกัดความชัดเจน โดยเฉพาะวิกฤติเศรษฐกิจ แต่น่าจะเป็นการรวมหลายตัวแปรเข้าด้วยกัน เช่น การหดตัวรุนแรงของ GDP การผลิตภาคอุตสาหกรรม การว่างงานพุ่ง

หรือหากเป็นวิกฤติการเงิน ดังเช่นในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผู้เขียน ที่ทำเรื่องวิกฤติการเงินเอเชียปี 2540 นั้น นิยามว่า "วิกฤติ" ได้แก่ค่าเงินที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ดอกเบี้ยที่ต้องกระชากขึ้นเพื่อดึงเงินทุน และทุนสำรองที่หดหายเพราะต้องเอาไปต่อสู้นักเก็งกำไร เป็นต้น

แต่ในความเป็นจริง วิกฤติไม่ได้มีแค่วิกฤติการเงินหรือวิกฤติเศรษฐกิจในความหมายแคบ แต่ก็วิกฤติภาพรวมด้านเศรษฐกิจสังคม รวมถึงด้านการบริหารจัดการองค์กรหรือประเทศด้วย

ในเชิงการบริหารองค์กร (Organizational management) วิกฤติมี 3 ระดับ ได้แก่ วิกฤติที่คืบคลาน (Creeping crisis) วิกฤติที่เนิบช้า (Slow-burn crisis) และวิกฤติทันที (Sudden crisis)

โดยถ้าเป็นในมุมมองผู้เขียน สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2538-39 อาจเป็น Slow-burn crisis ที่นำไปสู่วิกฤติปี 2540 หลังโดนนักเก็งกำไรนำโดย จอร์จ โซรอส ค่อย ๆ โจมตีค่าเงินต่อเนื่อง ท่ามกลางปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น ค่าเงิน ที่แข็งค่าเกินไป จนทุนสำรองหมดประเทศ ต้องลอยตัวค่าเงิน และนำไปสู่วิกฤติต้มยำกุ้งในที่สุด

เศรษฐกิจไทย มองภาพรวม \"วิกฤติที่เนิบช้า\"

กลับมายุคปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปีนี้ ขยายตัว 1.5% ต่ำกว่าที่ผู้เขียนคาดที่ 2.3% พอสมควร จาก

(1) สินค้าคงคลังที่หดตัวแรงมาก โดยหากพิจารณาเป็นองค์ประกอบของการขยายตัวของ GDP แล้ว หดตัว -7.1% percentage point (p.p.) โดยในเชิงมูลค่า หดตัว 1.9 แสนล้านบาท

โดยสินค้าสำคัญที่หดตัวได้แก่ ข้าวเปลือก น้ำตาล อัญมณี พลาสติก อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ น้ำมันดิบ ซึ่งทั้งหมดคือสินค้าส่งออกสำคัญ บ่งชี้ว่าผู้ส่งออกไม่ผลิตสินค้าใหม่ แต่เร่งระบายสต็อกเป็นหลัก

(2) การนำเข้าสินค้าและบริการที่หดตัวรุนแรงถึง -10.2% แบ่งเป็นการนำเข้าสินค้าที่หดตัว -11.8% (จากสินค้าส่งออกหมวดหลัก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล รวมถึงวัตถุดิบอื่น ๆ ตามภาคการผลิตที่หดตัว) และการนำเข้าบริการที่หดตัว -3.5% (จากค่าระวางเรือที่หดตัวลงตามการส่งออก)

ซึ่งการนำเข้าที่หดตัวแรงมาก ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย (+0.2%) ทำให้การส่งออกสุทธิเป็นบวก และทำให้ GDP ขยายตัวได้ +8.0% (p.p.)

เศรษฐกิจไทย มองภาพรวม \"วิกฤติที่เนิบช้า\"

(3) การบริโภคที่ขยายตัว 8.1% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากหมวดภัตตาคารและโรงแรม ขยายตัว 36.9% จากการขยายตัว 47.8% ในไตรมาสก่อน ขณะที่การบริโภคในหมวดอื่น ๆ ขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

(4) การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวที่ 1.5% เร่งขึ้นเล็กน้อยจาก 0.4%  โดยเป็นการลงทุนด้านก่อสร้างเป็นหลัก และ

(5) การใช้จ่ายภาครัฐหดตัว โดยการบริโภคภาครัฐหดตัว -3.8% ขณะที่ลงทุนหดตัว -2.6% ทั้งจากการก่อสร้างและเครื่องมือเครื่องจักรที่หดตัว

และหากพิจารณาภาคการผลิต เราจะเห็น Momentum ที่ชะลอลงในเกือบทุกภาคการผลิต โดยภาคเกษตร ชะลอตัวลงอันเนื่องมาจากผลผลิตพืชหลัก เช่น ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ลดลง หลังเกิดภาวะ El Nino ทำให้เกษตรกรปรับลดพื้นที่เพาะปลูก

สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 4.0% ต่อเนื่องจากการลดลง 3.2% ในไตรมาสที่ 2 ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งผลิตเพื่อส่งออกหดตัว -14.7% โดยสินค้าสำคัญได้แก่คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสินค้าผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ เช่น รถยนต์นั่งและพาณิชย์ และการผลิตพลาสติก

ขณะที่ภาคบริการอื่น ๆ ขยายตัวชะลอลงเป็นส่วนใหญ่ เช่น โรงแรมและภัตตาคาร ค้าส่งค้าปลีก ขนส่ง

เศรษฐกิจไทย มองภาพรวม \"วิกฤติที่เนิบช้า\"

ดังนั้น หากมองภาพรวมทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่า เรากำลังเกิด "วิกฤติที่เนิบช้าภาคการผลิต" การที่ผู้ผลิตไม่ผลิตสินค้าเลย และเร่งระบายสต๊อก ที่ทำให้สินค้าคงคลังหายไปกว่า 2 แสนล้านบาทนั้น

บ่งชี้ว่า ผู้ประกอบการกังวลถึงภาพเศรษฐกิจโลกและไทยในปัจจุบันและระยะต่อไป จึงไม่ผลิต ทำให้ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวมาแล้วกว่า 1 ปี และทำให้การลงทุนภาคเอกชน หดตัวตาม

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาว่าการส่งออกที่เริ่มดีขึ้นตามมุมมองสภาพัฒน์ (ซึ่งผู้เขียนเห็นต่าง เพราะมองว่าปีหน้าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งอาจกลับมากดดันส่งออกในระยะถัดไป) จะทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นจนเต็มกำลังการผลิต และผลักดันให้เอกชนหันกลับมาลงทุนได้หรือไม่

ด้านภาคการเงินก็เป็นตัวกดดัน ไม่ว่าจะพิจารณาจากปริมาณเงินในระบบ (M2) ที่หดตัวไปกว่า1.2 แสนล้านบาทจากจุดสูงสุด หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นดอกเบี้ยกว่า 2% รวมกับเงินทุนไหลออกจากตลาดเงินตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมา

ซึ่งสอดคล้องกับ ปริมาณสินเชื่อในระบบ ที่ปรับตัวลดลงหลังความเสี่ยงเศรษฐกิจมีมากขึ้น โดยปัจจุบันยอดคงค้างสินเชื่อลดลง 4.3 แสนล้านบาท

เศรษฐกิจไทย มองภาพรวม \"วิกฤติที่เนิบช้า\"

ขณะที่ด้านรายได้เกษตรกร ที่มีความเสี่ยงจากปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่สูญหายจากภาวะ El Nino ท่ามกลางการระบายสินค้าคงคลังอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุด รายได้เกษตรกรกลับมาไม่ขยายตัว (0%) อีกครั้ง (ผลจากปริมาณสินค้าเกษตรที่หดตัวเป็นหลัก) หลังจากที่ฟื้นขึ้นเล็กน้อยในเดือน ก.ย. (หลังจากหดตัวแบบลูกผีลูกคนมาตั้งแต่เดือน มี.ค.) และทำให้ผู้เขียนใจชื้นขึ้นได้บ้าง

และสุดท้ายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่หดตัวประมาณ 6% ต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 2 ปี หลัง FDI ของไทยลดลงกว่า 45% (จาก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2021 เป็น 8.0 พันล้านดอลลาร์ (ตัวเลขคาดการณ์) ในปี 2023) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเติบโตต่ำ สังคมสูงวัย และคู่แข่งของไทยที่เดินหน้าดึง FDI อย่างต่อเนื่อง

โดยสรุป ผู้เขียนมองว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติที่เนิบช้าและคืบคลานเข้ามา แต่ในปีหน้า อีกสิบปีข้างหน้า และในอนาคต ไทยจะหลุดพ้นจากวิกฤตนี้หรือถลำลึกลงไปมากขึ้น หรือจะเกิด Sudden crisis เช่นเดียวกับวิกฤตต้มยำกุ้งนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเราทุกคน