ถอดรหัสทุนเทคโนโลยีสหรัฐเข้าไทย หัวใจคือผลประชุมเอเปคที่ซานฟรานฯ

ถอดรหัสทุนเทคโนโลยีสหรัฐเข้าไทย  หัวใจคือผลประชุมเอเปคที่ซานฟรานฯ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำ 21 เศรษฐกิจแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค ได้ไปชุมนุมกันที่นคารซานฟรานซิสโกสหรัฐ

“ซานฟรานซิสโก” คือสถานที่จัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก  หรือ เอเปค ซึ่งปี 2023 สหรัฐเป็นเจ้าภาพและสาเหตุที่เลือกซานฟรานซิสโกเพราะเป็นที่ตั้งของ“ซิลิคอนวัลเลย์” ที่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกมีที่ตั้งสำนักงาน หรือ สำนักงานใหญ่ที่นี่ เช่น Adobe Systems, Apple Inc., Cisco Systems, Facebook, Google, Yahoo เป็นต้น

สหรัฐ ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมได้ออกสรุปผลการประชุม“U.S. 2023 APEC Outcomes”สาระสำคัญบางส่วนระบุว่า 

ตลอดปี 2566 สหรัฐปฎิบัติหน้าที่เจ้าภาพโดยเน้นให้ความร่วมมือเอเปคมุ่งสู่เป้าหมาย“ความยั่งยืน” ด้วยการให้ความสำคัญด้านการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด การสร้างความก้าวหน้าด้านดิจิทัลให้ภูมิภาคแปซิฟิกผ่านการพัฒนาการทั้งทักษะและการเชื่อมโยงถึงกัน และยังส่งเสริมความยืดหยุ่นและการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ถอดรหัสทุนเทคโนโลยีสหรัฐเข้าไทย  หัวใจคือผลประชุมเอเปคที่ซานฟรานฯ

ทั้งนี้ ผู้นำเอเปคได้รับรองคำประกาศ  Golden Gate  หรือ  Golden Gate Declaration อย่างเป็นเอกฉันท์ซึ่งมีสาระสำคัญว่าด้วยการนำพาเอเปคไปสู่ความท้าทายที่ว่าด้วยความยั่งยืนและการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คำประกาศนี้มีสาระคู่ขนานไปกับแถลงการณ์ของประธาน หรือ ในที่นี้ก็คือ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ได้สะท้อนการหารือในระดับผู้นำเรื่องความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ  ไว้ในแถลงการณ์ด้วย 

ขณะเดียวกัน เวทีระดับรัฐมนตรีก็มุ่งเนื้อหาสาระไปในทิศทางเดียวกันเพื่อส่งต่อไปสู่การประชุมเอเปค 2024 ที่จะมีขึ้นที่เปรู ส่วนเวทีการประชุมร่วมกับนักธุรกิจเอเปค หรือ The APEC CEO Summit นั้น ผู้นำสหรัฐได้ประกาศอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคเอกชนถึงการลงทุนและผลของการลงทุนจากบริษัทสหรัฐไปสู่ภูมิภาคเอเปค ที่มีมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ช่วงปี 2566 นี้

 โดยการลงทุนเหล่านี้จะมีส่วนเชืื่อมต่อซึ่งกันและกันไปสู่ “ดิจิทัลแปซิฟิก“ หรือ”Digital Pacific”  ซึ่งจะส่งเสริมกันและกันให้มากขึ้น อย่างเท่าเทีียมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การลงทุนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาด การค้ำยันห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อถือได้ การส่งเสริมสุขภาพถ้วนหน้าของภูมิภาค การส่งเสริมความพร้อมด้านไซเบอร์ การสนับสนุนเอสเอ็มอี และหากจะนับมูลค่าการลงทุนของสหรัฐในเอเปคตั้งแต่รัฐบาลไบเดนเข้ามาบริหารจะมีมูลค่าสูงเกือบ  เกือบ 200,000 ล้านดอลลาร์

จากสรุปผลการประชุมของรัฐบาลสหรัฐเป็นเหมือนการถอดรหัสถึงสาเหตุที่ต้องใช้นครซานฟรานซิสโกเป็นสถานที่จัดการประชุมแม้ในสภาพความเป็นจริงที่พบเห็นดูจะเป็นเมืองที่เงียบเหงาและมีคนไร้บ้านอยู่หนาตา แต่รหัสลับไม่ได้จบแค่นี้ เพราะสหรัฐมีทิศทางส่งเสริมให้บริษัทไฮเทคต่างๆ ออกไปลงทุนในเอเปค และไทยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายจึงไม่น่าแปลกใจที่จะเกิดบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ระหว่างรัฐบาลไทยและเอกชนด้านเทคโนโลยีรายใหญ่ๆของสหรัฐ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป้าหมาย ”Digital Pacific"แม้สิ่งนี้จะเป็นเป้าหมายของสหรัฐ   แต่ผลของความร่วมมือในส่วนของไทยคือเป้าหมายที่ชัดเจนว่าด้วยการชวนทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อผลลัพธ์ด้านเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการจ้างงาน ที่สะท้อนผ่านท่าทีไทยต่อเวทีเอเปค 

     นภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เล่าถึง ถ้อยแถลงของไทยสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเอเปค  หรือ  APEC Ministerial Meeting: AMM  ประจำปี ค.ศ. 2023 วาระที่ 2 การสร้างภูมิภาคที่ยืดหยุ่นและเชื่อมโยง (Interconnected) ที่ส่งเสริมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ว่า ไทยขอแจ้งเป็นรายประเด็นดังนี้ ประเด็นที่ 1 ไทยยืนยันสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือกฎเกณฑ์ซึ่งมีองค์การการค้าโลก(WTO) และเห็นว่าการค้ากับการพัฒนา อาทิ การสนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจขนาดเล็กตอบสนองต่อประเด็นทางการค้าอย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำหรับการประชุมรัฐมนตรีWTO หรือ  MC ในปี2567 

“สำหรับประเด็นที่ 2 ในการปฏิรูปการค้า/การลงทุนอย่างยั่งยืน นั้น ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลไทยปัจจุบัน ไทยให้ความสำคัญกับเรื่องความครอบคลุมและการค้าอย่างยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการค้าการลงทุน”

โดยขอแบ่งเป็นหัวข้อสำคัญๆดังนี้ 1.การสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ทางการแข่งขันให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงสตรี 2.การแก้ไขปัญหาเชิงรุกโดยสร้างความรู้/นวัตกรรมในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและทำให้เกษตรกรมีรายได้ 3.การลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อพัฒนา Start-up ที่มีศักยภาพให้แข่งขันได้ในระดับโลก

     4.การสร้างระบบนิเวศน์ในการยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และ 5.การเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็ก สามารถดำเนินธุรกิจที่สอดรับกับกฎกติกาใหม่ ๆ เช่น Carbon Credit หรือ BCG และ SDGs เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและ สร้างสินค้าแบรนด์ไทยที่สอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืน 

การประชุมเอเปค 2023 เสร็จสิ้นลงแล้วแต่ยังมีงานอีกมากที่ต่อยอดจากผลการประชุมที่ผ่านไป หลังสะพานแห่งความร่วมมือเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่เทีียบชั้น“Golden Gate”ได้ถูกสร้างขึ้นแล้ว ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้จะต้องขอบคุณกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เพราะนั่นหมายถึงจากเวทีโลกสู่ประชาชนไทย