อีโคซิสเต็ม 'นวัตกรรม' ปตท.สร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อีโคซิสเต็ม 'นวัตกรรม' ปตท.สร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“ปตท.” ระบุ นวัตกรรมช่วยบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ย้ำ รัฐต้องสร้าง “อีโคซิสเต็ม” หนุนเอกชนลงทุน ผสมผสานเป็นทีมเดียวกันดัน GDP ประเทศโต ปูทางก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว

นวัตกรรมถือว่ามีบทบาทช่วยสร้างเศรษฐกิจ และหากดูเศรษฐกิจแต่ละประเทศตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน จะพบว่าประเทศพัฒนาแล้วล้วนเป็นประเทศนวัตกรรม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมแต่ละยุคสมัยนำมาซึ่งการการเติบโต มีความได้เปรียบด้านการแข่งขัน 

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นวัตกรรมก่อให้เกิดสิ่งดี เช่น ปฏิวัติอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมการเกษตร และขยับมาเป็นเครื่องจักรหัวไอน้ำและมาสู่ยุคดิจิทัล และก้าวสู่ยุคนวัตกรรมใหม่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ นวัตกรรมพัฒนามากขึ้น เช่น นวัตกรรมการแพทย์ นวัตกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในอดีตอาจไม่ได้ยินคำว่า “Circular Economy” โดยมีหลายนวัตกรรมตอบสนองเรื่องสีเขียวมากขึ้น ดังนั้น นวัตกรรมเป็นเรื่องหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

“ไทยตั้งแต่อดีตเติบโตจากเกษตรกรรม และขยับมาสู่อุตสาหกรรมอาหาร ไปสู่อุตสาหกรรมหนัก โดยเฉพาะยุค 2.0-3.0 เกิดนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่ไทยค่อนข้างทำได้ดี มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเกษตรแปรรูป ถือว่ามีการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมอย่างดีจากนวัตกรรมแต่ละยุคสมัย”

ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่ยุค 4.0 ภาคอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ปรับเป็นสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงยานยนต์เปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ส่วนอาหารจะกลายเป็น ฟู้ด อินโนเวชั่น และอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ไทยทำได้ดี คือ “พลังงาน” ที่มีความมั่นคงทั้งเรื่องน้ำมันและไฟฟ้าที่เพียงพอ และเหลือส่งออกด้วย ดังนั้น ซึ่งจะต้องเปลี่ยนสู่พลังงานสีเขียวเช่นกัน 

ดังนั้น ในยุค 4.0 ไทยยังมีโอกาสในการปรับตัว เปลี่ยนแปลง และปรับปรุงอุตสาหกรรมที่มีอยู่โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น

“ส่วนเป้าหมายของไทยจะต้องพ้นกับดักรายได้ปานกลาง นั้น เศรษฐกิจจะต้องโตอย่างน้อย 3-5% ต่อเนื่องในระยะเวลา 10-20 ปี ซึ่งแนวทางถ้าอยู่ในอุตสาหกรรมเดิมคงไปไม่ถึง แต่หากปรับปรุงและเพิ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้นวัตกรรมมากขึ้นก็จะมีโอกาสที่จะไปถึงได้”

สำหรับ ปตท.ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศมาก โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานตั้งแต่อดีตมาสู่การขยายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อใช้ในภาคปิโตรเคมี ส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ  รวมทั้งจากการที่ประเทศต้องใช้นวัตกรรม ปตท.จึงเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่เป็น “Powering Life with Future Energy and Beyond : ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต” ที่อธิบายได้ชัดเจนว่า ปตท.ยังอยู่ในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยอาศัยนวัตกรรมมาช่วยสร้างพลังงานสะอาดขึ้น ในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และสามารถแข่งขันได้

สำหรับการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศไทยมีสิ่งที่ต้องเห็น คือ 

1.Digital Transformation ถือเป็นเรื่องแรกที่จะก้าวสู่นวัตกรรมต่างๆ 

2.Climate Change ซึ่งการที่ไทยจะต้องตอบโจทย์เรื่องของ Net Zero จะต้องใช้พลังงานในรูปแบบของพลังงานสีเขียว รูปแบบ Smart Energy 

3.Health & Wellness ที่เศรษฐกิจไทยทำได้ดีอยู่แล้ว ซึ่งการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยจึงต้องอาศัยนวัตกรรมด้านสุขภาพ ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ โภชนบำบัด เพื่อดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านนี้ได้ จะสนับสนุนการท่องเที่ยวด้วย 

4.Circular Economy เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศไม่ใหญ่มาก โครงสร้างประชากร 70 กว่าล้านคน ประเทศจะพัฒนาจึงต้องใช้แนวคิดเศรษฐกิจแบบใหม่

ประเทศไทยมีความโชคดี คือ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และที่สำคัญมีฐานอุตสาหกรรมที่หลากหลาย มีการยอมรับนวัตกรรมได้ง่าย ดังนั้น สิ่งที่อาจต้องปรับ คือ สร้างนวัตกรรมโดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูงนั้น การจะก้าวเป็นผู้ผลิตจะต้องสร้างอีโคซิสเต็ม เพราะไทยยังถือเป็นผู้บริโภค และจะต้องทำต่อเนื่องและจริงจัง โดยภาครัฐและเอกชนจะต้องเป็นทีมเดียวกัน

“การสร้างอีโคซิสเต็มต้องใช้เวลาถึง 20 ปี ซึ่งนโยบาย ปตท.จึงไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ การสร้างให้เร็วให้ทันจึงต้องสอดคล้องกับเทรนด์ ดังนั้นจึงต้องมีทีมดูแลเครื่องจักรโดยใช้ AI Big Data พร้อมตั้งบริษัทใหม่เป็นสตาร์ทอัป เพื่อจะได้ไม่อยู่แค่ในโรงงานออกมารับงานนอกเหนือจากกลุ่มปตท. และอีกกลุ่มอยู่ระหว่างพัฒนาคือ ธุรกิจทำเฟอร์นิเจอร์จากกากกาแฟเพื่อตอบรับเทรนด์ Circular Economy”

นอกจากนี้ เมื่อพูดถึง Deep TECH สิ่งที่สำคัญ คือ 

1.Speed to Market ถือเป็นสิ่งสำคัญเพราะคู่แข่งเยอะ 

2.Scale จากการที่นวัตกรรมต้องใช้เงินลงทุนวิจัยและพัฒนาสูง ทำในไทยประเทศเดียวจึงไม่พอ

“เราไม่สามารถเป็นฮับตั้งแต่ต้นได้ แต่อาจเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน และต้องเลือกอุตสาหกรรมที่จะทำ และเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศต้องได้เปรียบ ดังนั้น การเปลี่ยนโรงงานให้ฉลาดและสมาร์ท โดยใช้นวัตกรรมจะตอบโจทย์ลดการใช้พลังงาน ทรัพยากร โลกร้อน”

นายบุรณิน กล่าวว่า กลยุทธ์ธุรกิจใหม่ ปตท.จะเน้น ดังนี้ 1.ปรับปรุงธุรกิจเดิมให้ดีขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี 2.สร้างการเติบโตโดยหาอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ธุรกิจยา, EV และพลังงานสะอาด ถือเป็นเทรนด์ของโลก แม้ปัจจุบันจะยังมีราคาสูงแต่อนาคตจะถูกลง 

ทั้งนี้ จะเห็นว่าเมื่อก่อน ปตท.ทำธุรกิจ Oil ก็ปรับมาสู่ Non-Oil ส่วนธุรกิจก๊าซฯ ก็ปรับมาสู่ปิโตรเคมี และขยับมาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่ง ปตท.ตั้งเป้ากำไรจากธุรกิจใหม่ 30% ในปี ค.ศ.2030

ทั้งนี้ ปตท.จัดตั้ง บริษัท เมฆา วี จำกัด เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ AI & Robotic ในด้านต่าง ๆ อาทิ PowerTECH, HealthTECH, MobilityTECH, IndustrialTECH และ SoftpowerTECH ขยายจากเดิมที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการ Cloud, ธุรกรรมซื้อขาย Renewable Energy Certificate (REC) โดยออก Certificate รับรองถึงการใช้พลังงานทดแทน และพัฒนาการใช้ System Integration (SI) เชื่อมโยงระบบและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

“เมื่อมีอุตสาหกรรมแล้วต้องดูว่าจะอยู่ตรงไหนของอุตสาหกรรม จึงต้องทำ Performance ให้เห็น และสุดท้ายระหว่างทางที่พัฒนาได้สร้างคนหรือไม่ จึงจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ในกลุ่ม ปตท.โดยเฉพาะในธุรกิจใหม่บางคนสติปัญญาสูงกว่ามาตรฐาน ซึ่งทีม HR จะคัดเลือกโดยให้ส่งผลงานทั้ง Resume, Board Game และ Portfolio ก่อนสัมภาษณ์รับเข้าทำงาน”