เวที APEC ระอุ 'ไทย-อินโดฯ' แย่งดึงลงทุนจากบริษัทสหรัฐ

เวที APEC ระอุ 'ไทย-อินโดฯ' แย่งดึงลงทุนจากบริษัทสหรัฐ

เวทีการประชุม APEC2023 ระอุ เมื่อกลุ่มประเทศอาเซียนชั้นนำอย่าง 'ไทย-อินโดนีเซีย' ต่างแย่งปิดดึงการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐสำเร็จ

ในการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) 2023 ที่สหรัฐ ผู้นำนานาประเทศต่างใช้เวทีสำคัญนี้ในการปิดดิลธุรกิจสำคัญให้กับประเทศของตน จะเห็นได้จาก 3 ดีลที่กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ทั้งไทย และอินโดนีเซีย ต่างก็สามารถปิดดีลการลงทุนได้ในระดับหลายแสนล้านบาท

ทั้งไทยและอินโดนีเซียต่างเป็นคู่แข่งสำคัญในการดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะการดึงบริษัทข้ามชาติที่มีเทคโนโลยีระดับสูง

ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นประธานาธิบดี "โจโก วิโดโด" แห่งอินโดนีเซีย พยายามดึงการลงทุนจากเทสล่า ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รายใหญ่ของโลก โดยประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้เข้าพบ "อีลอน มัสก์" CEO ของ เทสล่า เมื่อเดือน พ.ค.2565 ระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐ 

เวที APEC ระอุ \'ไทย-อินโดฯ\' แย่งดึงลงทุนจากบริษัทสหรัฐ

ในขณะที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ได้พยายามดึงเทสล่ามาลงทุนในไทยเช่นกัน โดยเคยทดลองนั่งรถเทสล่าเข้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อกลางเดือน ต.ค.2566

รวมทั้งล่าสุดในระหว่างการเข้าร่วมประชุม APEC 2023 ได้เยือนโรงงานเทสล่า ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งขณะนี้เทสล่ายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกเข้าไปลงทุนในประเทศใด

ในระหว่างการประชุม APEC 2023 “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี สามารถปิดดีล 2 ยักษ์ “กูเกิล" และ "ไมโครซอฟท์” รวมกันกว่า 2 แสนล้าน เพื่อหนุนอินฟราสตรัคเจอร์ ด้านดิจิทัลในไทย

นายเศรษฐา กล่าวเมื่อวันที่ 16 พ.ย.2566 ว่า ความร่วมมือกับกูเกิล เป็นก้าวสำคัญเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการปรับปรุงภาคส่วนต่างๆ ที่มีความสำคัญกับประชาชนชาวไทย ธุรกิจ และนักลงทุน ด้วยการลงทุนผ่านนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policies) พร้อมกับการสร้างไซเบอร์สเปซที่ปลอดภัย ความเชี่ยวชาญและการลงทุนจากกูเกิลในด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 

รายงานข่าวระบุว่า การลงทุนของกูเกิลในไทยครั้งนี้ จะใช้เงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท

เวที APEC ระอุ \'ไทย-อินโดฯ\' แย่งดึงลงทุนจากบริษัทสหรัฐ

ขณะเดียวกัน นายเศรษฐา ยังได้หารือกับ นายอาห์เหม็ด มาซารี ประธาน ไมโครซอฟท์ เอเชีย พร้อมกับเซ็นเอ็มโอยูความร่วมมือ ซึ่งไมโครซอฟท์จะลงทุนในไทยเฟสแรกราว 1 แสนล้านบาท เน้นลงทุน “ดาต้าเซ็นเตอร์” และ “พลังงานสะอาด” ซึ่งก่อนหน้านี้ ไทยมีคู่แข่งที่ไมโครซอฟท์ เตรียมแผนเข้าไปลงทุน คือ มาเลเซีย และเวียดนาม

ในขณะที่อินโดนีเซียสามาราถปิดดีลยักษ์กับ “เอ็กซอนโมบิล” เพื่อให้เข้ามาลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5 แสนล้านบาท หลังประธานาธิบดีโจโก วิโดโดพบ นายดาร์เรน วูดส์ ประธานบริษัทเอ็กซอนโมบิล

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เอ็กซอน วางแผนลงทุนในโครงการด้านปิโตรเคมี และการสร้างโรงงานดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) ในอินโดนีเซีย โดยโรงงานดังกล่าวจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ก่อนหน้านี้ในปี 2563 เอ็กซอนโมบิลได้ตัดสินใจ “ยกเลิก” แผนการที่จะลงทุนโรงงานปิโตรเคมีเทคโนโลยีชั้นสูง มูลค่า 330,000 ล้านบาท ที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนั้น ที่มีความผันผวนของราคาน้ำมันและสถานการณ์โควิด-19

หลังจากนั้นในเดือน ม.ค. 2566 เอ็กซอนโมบิลได้ประกาศขายหุ้นของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้กับ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 65.99% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ เอสโซ่ มูลค่ากว่า 5.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ธุรกิจโรงกลั่นและค้าปลีกน้ำมันที่เป็นธุรกิจหลักของเอ็กซอนโมบิลในไทยเปลี่ยนมือไปเป็นของบางจาก โดยมีสินทรัพย์ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.โรงกลั่นน้ำมันกำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรลต่อวัน 2.เครือข่ายคลังน้ำมัน 3.สถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศกว่า 700 แห่ง

เมื่อรวมกับธุรกิจของบางจากจะทำให้มีกำลังการกลั่นจากโรงกลั่นบางจากและโรงกลั่นศรีราชา (เอสโซ่) รวม 294,000 บาร์เรลต่อวัน และเครือข่ายสถานีบริการรวม 2,100 แห่ง ซึ่งบางจากจะทำการรีแบรนด์ปั๊มเอสโซ่ 700 แห่ง ให้เสร็จภายใน 2 ปี รวมทั้งคาดหวังว่าจะดำเนินธุรกิจโรงกลั่นได้ครบวงจรมากขึ้น จัดหาน้ำมันดิบได้หลากหลายขึ้น รวมถึงความสามารถในการมีท่อส่งน้ำมันทั้ง 2 ท่อ คือ บางประอิน และสระบุรี ถือว่าใหญ่สุดในประเทศ

โดย นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้ระบุไว้ว่า การซื้อหุ้นเอสโซ่เบื้องต้นจะประหยัดค่าใช้จ่ายและมีรายได้ เพิ่มขึ้นระดับ 1,500-2,000 ล้านบาททันที และยังได้รับประโยชน์ในเรื่องของเทคโนโลยีการกลั่นที่เสริมกัน รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี ช่วยเพิ่มพูนทักษะและความสามารถของพนักงาน ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน

รายงานข่าวระบุว่า การขายหุ้นของเอสโซ่จะทำให้เอ็กซอนโมบิลประเทศไทยเหลือธุรกิจในไทยที่สำคัญเพียง 2 ธุรกิจ คือ

1.ธุรกิจสำรวจ ค้นหาและผลิตปิโตรเลียม ในนามบริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ จำกัด โดยผลิตก๊าซธรรมชาติในเขต อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ผ่านโครงการสินภูฮ่อม ห่างจากน้ำพอง 60 กิโลกเมตร

2.ศูนย์ธุรกิจระดับโลก ในนามบริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ซึ่งจะให้บริการลูกค้า 60 ประเทศ โดยให้บริการงานบัญชี ทรัพยากรบุคคล เทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์บริการลูกค้าสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น เคมีภัณฑ์ การจัดซื้อ เครดิตลูกค้าและภาษี

อย่างไรก็ตาม เอ็กซอนโมบิล เคยมีแผนลงทุนโรงงานปิโตรเคมีเทคโนโลยีชั้นสูง แห่งที่ 2 บริเวณใกล้เคียงโรงกลั่นศรีราชา กำลังการผลิตโพลิเมอร์เกรดพิเศษ 1.25 ล้านตันต่อปี มูลค่าการลงทุน 330,000 ล้านบาท โดยได้เข้าพบรัฐบาลไทยต่อเนื่องในช่วงปี 2561-2562 และกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาแผนถมทะเลบริเวณนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 3,000 ไร่ เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

รวมถึงการลงทุนโครงการปิโตรเคมีด้วยเทคโนโลยีทันสมัยของเอ็กซอนโมบิล ซึ่งต้องการพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงกลั่นศรีราชาที่จะเป็นฐานให้กับการลงทุนดังกล่าว และต่อมาเอ็กซอนโมบิลได้ยกเลิกแผนการลงทุนในปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนั้น ที่มีความผันผวนของราคาน้ำมันและสถานการณ์โควิด-19

สำหรับการที่เอ็กซอนโมบิลเคยเลือกไทย เพราะโรงกลั่นศรีราชามีขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพสูงติดอันดับโรงกลั่นที่ดีที่สุด 1 ใน 3 ของโลกที่เอ็กซอนโมบิลลงทุน ทำให้ต่อยอดจากโรงงานเดิมไปตั้งโรงงานผลิตปิโตรเคมีชั้นสูงได้ไม่ยากและมีต้นทุนต่ำ รวมทั้งใช้ท่าเรือ คลังเก็บน้ำมันดิบ โครงสร้างพื้นฐาน และวัตถุดิบตั้งต้นบางส่วนจากโรงกลั่นเดิมได้ทันที