รู้จักกองทุนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันหลัง ‘เศรษฐา’ จ่อเพิ่มวงเงินแสนล้าน

รู้จักกองทุนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันหลัง ‘เศรษฐา’ จ่อเพิ่มวงเงินแสนล้าน

รู้จักกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หลังจาก "เศรษฐา" ประกาศเพิ่มงบประมาณให้ 1 แสนล้านบาท

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ “รัฐบาลเศรษฐา” ที่ได้แถลงไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากการประกาศกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ด้วยการแจกเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 10,000 บาท ให้ประชาชน 50 ล้านคน คนละ 10,000 บาท โดยออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ยังมีอีกมาตรการคือการเติมงบประมาณให้กับกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศวงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนของบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทยมากขึ้น

ทั้งนี้การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศถือว่าเป็นนโยบายและภารกิจสำคัญของรัฐบาล และสอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ที่กำหนดให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงขึ้นในอนาคต

ในรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีการกำหนดประเภทของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศใน 13 อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่จะสร้างการเติบโตไปตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต

ในปี 2560 รัฐบาลได้มีการออกกฎหมายพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทดศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2560 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 12 ก.พ.2560   

รู้จักกองทุนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันหลัง ‘เศรษฐา’ จ่อเพิ่มวงเงินแสนล้าน

ทั้งนี้“อุตสาหกรรมเป้าหมาย” หมายความว่า อุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ สร้างประโยชน์อย่างสูงต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ และสามารถเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน ซึ่งต้องเป็นอุตสาหกรรมประเภทใหม่ที่ไม่เคยมีการผลิตหรือการให้บริการ ในประเทศมาก่อน หรือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่หรือใช้ความรู้ในการผลิตขั้นสูง เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรม ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกําหนด โดยอุตสาหกรรมเป้าหมาย 13 สาขา ประกอบไปด้วย

  1. อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility)
  2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Intelligent Electronics)
  3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มผู้มีรายได้สูงและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ High Wealth and Medical Tourism
  4. อุตสาหกรรมด้านการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Advance Agriculture and Biotechnology)
  5. อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Food For the Future)
  6. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Industrial Robotics)
  7. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
  8. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Bio-based Energy & Chemicals)
  9. อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry)
  10. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
  11. อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (National Defense Industry)
  12. อุตสาหกรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
  13. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการวิจัยพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย

ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการตั้ง “กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสําหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย”  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนา อุตสาหกรรมเป้าหมาย อันจะนําไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

โดยเงินกองทุนและทรัพย์สินประกอบด้วยเงิน

  1. เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
  2. เงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาล
  3. เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้แก่กองทุน
  4. เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุน
  5. ดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน เงินและทรัพย์สินของกองทุนตามวรรคหนึ่งไม่ต้องนําส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน ดังต่อไปนี้

  1. เป็นเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมนวัตกรรม หรือ การพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
  2. เป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินงานของกองทุนตามที่คณะกรรมการนโยบายกําหนด การจ่ายเงินสนับสนุนตาม ได้ต้องปรากฏว่าผู้ได้รับการส่งเสริมได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ คณะกรรมการนโยบายกําหนดไว้แล้ว

สำหรับวงเงินตั้งต้นของกองทุนฯนี้วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท นั้นรัฐบาลจัดสรรจากรายได้แผ่นดินโดยเงินตั้งต้นส่วนนี้มาจากการประมูลคลื่นความถี่ 4G ซึ่งได้รับเงินพิเศษเข้ามาเป็นรายได้รัฐทำให้สามารถนำไปทำเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนำเงิน 1 หมื่นล้านบาทมาใส่ในกองทุนนี้

ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่าโครงการที่จะขอรับส่งเสริมเงินจากกองทุนฯนี้ต้องมีคุณลักษณะ ดังนี้

1. Pioneer : กิจการผลิตหรือบริการใหม่ หรือ ใช้เทคโนโลยีใหม่ หรือ ใช้ความรู้ในการผลิตขั้นสูง

2. Innovation-driven Transformation : มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญให้ยั่งยืนในประเทศและผลักดันประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

3. Public Benefit ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงในวงกว้างต่อเศรษฐกิจและสังคม / สร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศ / พัฒนาบุคลากรในภาคส่วนต่างๆ และถ่ายทอดเทคโนโลยี

สิทธิและประโยชน์

  • ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ
  • VISA และ Work Permit
  • เงินสนับสนุน

ทั้งนี้สิทธิและประโยชน์เป็นไปตามผลการเจรจาซึ่งสะท้อนคุณค่าที่โครงการนั้น ๆ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยมากน้อยเพียงใด