เปิดฉากประชุมเอเปค2023 “สหรัฐ”นั่งหัวโต๊ะ เคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤติ

เปิดฉากประชุมเอเปค2023 “สหรัฐ”นั่งหัวโต๊ะ  เคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤติ

ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ (13-17 พ.ย.2566) จะเป็นช่วงการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปีก่อน สำหรับปีนี้สหรัฐรับไม้ต่อจากไทยท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ไม่ต่างกันทั้งความล่อแหลมด้านภูมิรัฐศาสตร์

รวมถึงแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และปัญหาสภาพอากาศสุดขั้วอันเกิดจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง 

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และคณะ จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders’ Meeting) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 12 - 19 พ.ย. 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ

นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเด็นที่ไทยผลักดัน ได้แก่ 1. การค้าการลงทุน ย้ำความมุ่งมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคีที่มีองค์การการค้าโลก(WTO)เป็นแกนกลาง 2.ความเชื่อมโยง ผ่านการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นศูนย์กลางขนส่งในภูมิภาค เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียผ่านโครงการ Land bridge 3.ความยั่งยืน ผลักดันการสานต่อเป้าหมายกรุงเทพฯ 4.เศรษฐกิจดิจิทัล และ 5.ความครอบคลุมและความเท่าเทียม

ด้านเวทีระดับรัฐมนตรีซึ่งก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นต่างๆให้เป็นไปอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้เพื่อความร่วมมือนี้เป็นรูปธรรมและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยามวิกฤตินี้ได้ 

โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า  นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีการต่างประเทศเอเปค ครั้งที่ 34 สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีกำหนดไว้  2 วาระ ได้แก่  วาระที่ 1 ว่าด้วย การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่มีนวัตกรรมสำหรับความยั่งยืนในอนาคต (Innovative) และการเน้นย้ำอนาคตที่เท่าเทียมและครอบคลุมสำหรับทุกคน (Inclusive)  และวาระที่ 2 ว่าด้วยการสร้างภูมิภาคที่ยืดหยุ่นและเชื่อมโยง (interconnected) ที่ส่งเสริมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ 

เปิดฉากประชุมเอเปค2023 “สหรัฐ”นั่งหัวโต๊ะ  เคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤติ

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า นายนภินทร จะเป็นผู้แทนไทยกล่าวถ้อยแถลงในวาระที่2 ที่ว่าด้วยการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการค้าและการลงทุน กำหนดเน้น 2 ประเด็นสำคัญได้แก่การให้ความสำคัญกับระบบการค้าพหุภาคี ผ่านWTOและประเด็นการปฎิรูปการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน รวมถึงสตรีและกลุ่มที่ไม่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นโอกาสที่จะนำเสนอนโยบายใหม่ๆของกระทรวงพาณิชย์ในเวทีระหว่างประเทศซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่เจ้าภาพกำหนดไว้ เช่น การค้ากับความยั่งยืน การเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย การสร้างโอกาสให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขน ตลอดจนเตรียมความพร้อมให้ดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับกฎกติกาใหม่ๆของโลก และการพัฒนากระบวนการผลิตและเสริมสร้างสินค้าไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืนด้านต่างๆ 

“เจ้าภาพคือสหรัฐ ได้ตั้งคำถามไว้ 2 ข้อ คือ ขอทราบ ความเห็น ประสบการณ์และความสำเร็จการประชุมรัฐมนตรี่ WTOครั้งที่ 12  หรือ MC12เพื่อเสนอ แนวทางไปสู่การประชุม MC13 เดือนก.พ.2567 ที่ UAE  ประเด็นที่ 2 อยากฟังความเห็นสมาชิกเอเปค คือ การมีส่วนช่วยพลักดันการปฎิรูปการค้าและการลงทุน อย่างยั่งยืน”

   ในโอกาสนี้  เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการ WTO จะร่วมกล่าวปาฐกถาต่อสมาชิกเอเปค แต่ละประเทศก็จะกล่าวความเห็นกันคนละประมาณ 4 นาที ซึ่งทุกปี APEC ที่ตั้งเพื่อร่วมมือทำงานกันขับเคลื่อนการค้าที่เสรีมากขึ้น ทั้งข้อเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิกเอเปค หรือ  FTAAP และการขับเคลื่อนWTO

สำหรับธีมการประชุมเอเปคปีนี้ คือ Interconnected (เชื่อมต่อถึงกัน) Innovative (นวัตกรรม) Inclusive (ครอบคลุม) ค่อนข้างคล้ายของไทย มีมุ่ง FTAAP และ BCG (Bio-Circular-Green Economy)

“สหรัฐ เน้น เน้นอนาคตที่จะเกิดขึ้นต้องครอบคลุม คือ inclusive ส่วน Interconnected คือ  FTAAP ที่มีWork plan จากการประชุมที่ไทยแล้ว หลักๆเพื่อสร้างความเข้มแข็งระบบซัพพลายเชนของภูมิภาค การเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคม เน้นสร้างความยืดหยุ่น(Resilience) รองรับภับพิบัติธรรมชาติและโรคอุบัติใหม่ได้ ส่วนเรื่อง เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ต้องมีสภาพแวดล้อมด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพ” 

ธีมสหรัฐตอบสนองความท้าทายในโลกปัจจุบันทั้งภูมิรัฐศาสตร์ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงหรือ Climate change เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ซึ่งปัญหาต่างๆไม่ต่างกันในแต่ละปี สามารถดึงเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปเอามาคุยกันได้ สามารถใช้ประโยชน์จากเวทีนี้เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งเอเปคอาจไม่ได้มีออฟฟิศเหมือน WTOที่จะขับเคลื่อน ประเด็นต่างๆดังนั้นบทบาทสำคัญอยู่ที่ประเทศเจ้าภาพ”

สำหรับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ เป็นคำใหม่และนับเป็นความท้าทายที่คาดว่าสมาชิกจะมีการตั้งคำถามแบบกว้างๆ  แต่เอเปคไม่มีสมาชิกที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน เพราะแม้แต่สหรัฐและจีน เบื้องต้นก็มีกำหนดการทวิภาคีระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ  และคาดว่าสมาชิกทุกคนจะร่วมกันผลักดันให้การประชุมสำเร็จตามเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤติในปัจจุบัน