จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ประสบการณ์นโยบายแจกเงินดิจิทัล

จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ประสบการณ์นโยบายแจกเงินดิจิทัล

นโยบายการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลปัจจุบันยังคลุมเครือ ทั้งยังถูกตั้งคำถามว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร? แหล่งที่มาของเงินมาจากไหน? มีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจหรือไม่? และถูกมองว่าเป็นการสร้างภาระผูกพันในงบประมาณหรือหนี้สาธารณะในระยะยาว

ที่ผ่านมา หลายประเทศได้ประกาศใช้นโยบายแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในรูปแบบเงินกระดาษและเงินดิจิทัล ผู้เขียนได้ทบทวนนโยบายเหล่านี้ในต่างประเทศ 3 กรณี คือ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ดังนี้

1.China’s Relief Package

ช่วงวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจจีนตั้งแต่ปี 2563-2564 นโยบายคุมเข้มโควิด (Zero-COVID) ส่งผลให้อัตราการบริโภคลดลงไปถึง 6.8% ในปี 2563 รัฐบาลท้องถิ่นได้ออกโครงการแจกคูปองดิจิทัล ผ่านระบบแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือเพื่อกระตุ้นการบริโภค

มีเงื่อนไขหลักคือ ให้คูปองดิจิทัลกับประชาชนที่จําเป็นต้องใช้จ่ายเกินเรตขั้นต่ำ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยไม่เกิน 120 หยวนต่อครั้ง เพื่อได้รับส่วนลด 25-50% ของมูลค่าที่จ่ายไป และต้องการให้ผู้บริโภคซื้ออาหาร ของใช้ สันทนาการและกิจกรรมอื่นๆ ภายใต้เงื่อนไข

ภายหลังโครงการ ระหว่างปี 2563-2565 คูปองดิจิทัลถูกแจกไปทั้งหมดมีมูลค่ารวมอยู่ประมาณ 40 พันล้านหยวน หรือราวๆ 195,000 ล้านบาท อัตราการใช้สิทธิประโยชน์ 70-100% คูปองดิจิทัลที่แจกไปสามารถสร้างมูลค่า 380 พันล้านหยวน ภายในระยะเวลาเพียงปีเดียว

การใช้ตัวคูปองได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างผู้บริโภคในเมืองและชนบท โดยผลิตภัณฑ์ที่คนเมืองนิยมสูงสุด คือการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็น 44.9% ของการบริโภค ในทางกลับกัน ผู้บริโภคในชนบทนิยมนําคูปองไปบริโภคผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยานยนต์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคิดว่าเศรษฐกิจควรขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภายในประเทศ (Consumption-led) ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติมากกว่านโยบายการแจกคูปอง (Transfer Policy) ดังนั้น เมื่อวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายลงและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ผลพวงของตัวคูปองต่อการบริโภคก็ลดลงตามลำดับ

จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ประสบการณ์นโยบายแจกเงินดิจิทัล

2.โครงการ “Triple stimulus” voucher program

โครงการแลกซื้อคูปองหรือ Voucher ในรูปแบบกระดาษและดิจิทัลที่จัดทำขึ้นโดยรัฐบาลไต้หวัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศในช่วงโควิด-19

รัฐบาลจะมอบคูปองให้กับพลเมืองที่เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวน 3,000 ดอลลาร์ไต้หวัน (ประมาณ 3,300 บาท) เพื่อนำมาใช้จ่ายกับร้านค้า ร้านอาหาร บริการขนส่ง และการท่องเที่ยวพักผ่อน ภายในระยะเวลาที่กำหนด

หลักเกณฑ์การใช้งาน คือประชาชนที่ต้องการรับคูปองจะต้องซื้อบัตรกำนัลในราคา 1,000 ดอลลาร์ไต้หวัน จากนั้นรัฐบาลจะจ่ายให้เพิ่มอีก 2,000 ดอลลาร์ไต้หวัน (หรือมีลักษณะคล้ายโครงการคนละครึ่ง แต่กรณีนี้รัฐบาลเติมให้ 2 ส่วนต่อประชาชน 1 ส่วน)

โดยร้านค้าสามารถนำใบเสร็จบัตรกำนัลไปขึ้นเงินที่ธนาคารได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โครงการนี้ให้บริการกับพลเมืองไต้หวัน 23 ล้านคน ตั้งแต่เด็กเล็กจนผู้สูงอายุ และชาวต่างชาติที่มีใบอนุญาตพำนักอีกประมาณ 150,000 คน

ในปี 2564 รัฐบาลได้ต่อยอดโครงการ โดยจัดโครงการ “Quintuple stimulus” vouchers เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศอีกครั้ง

ครั้งนี้มีการเพิ่มจำนวนเงินเป็น 5 เท่า หรือ 5,000 ดอลลาร์ไต้หวัน ประชาชนที่เข้าข่ายเกณฑ์ที่กำหนดสามารถเข้ารับคูปองได้ทันที ทั้งในรูปแบบกระดาษและแบบดิจิทัล โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อแลกซื้อคูปองเหมือนครั้งก่อนหน้า

จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ประสบการณ์นโยบายแจกเงินดิจิทัล

3.Japan’s Shopping Coupon Programme

ในปี 2542 ประเทศญี่ปุ่นออกนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการแจกคูปองซื้อของ (Shopping Coupon) ประมาณ 20,000 เยน ให้กับประชาชน 31 ล้านคน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ครัวเรือนที่เข้าเกณฑ์จะต้องมีเด็กอายุตั้งแต่ 15 ปี หรือน้อยกว่า อาศัยอยู่ด้วย จำนวนคูปองที่ได้รับจะเท่ากับจำนวนเด็กในบ้าน

คูปองมีอายุ 6 เดือนและจำกัดใช้ในพื้นที่ที่ผู้รับอยู่อาศัย รวมไปถึงข้อจำกัดของสินค้าที่สามารถใช้คูปองบริโภค โครงการดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ราวๆ 620 พันล้านเยน

ในแง่ของผลลัพธ์ พบว่าการแจกคูปองมีผลน้อยมากต่อสินค้าที่ไม่คงทน (Non-Durables) และกระตุ้นความโน้มเอียงในการบริโภคหน่วยที่เพิ่ม (Marginal Propensity to Consume) สำหรับสินค้าคงทน (Durables) ได้น้อยเพียงแค่ 0.1 ถึง 0.2

จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ประสบการณ์นโยบายแจกเงินดิจิทัล

การวิจัยพบอีกว่า ในเดือนถัดๆ มาหลังจากที่ไม่ได้แจกคูปองแล้วนั้น อัตราความโน้มเอียงในการบริโภคหน่วยที่เพิ่ม (MPC) ไม่ได้แสดงผลเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ประชาชนได้รับเงินสนับสนุนก้อนดังกล่าวแต่อย่างใด

การทบทวนกรณีศึกษาต่างๆ พบว่าแต่ละแนวทางล้วนคาดหวังต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือโรคระบาด แต่ส่วนมากมักทำได้เพียงแค่ในระยะสั้น รวมถึงตัวนโยบายยังคงมีข้อจำกัดด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นกรณีของญี่ปุ่นที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อการกระตุ้นการบริโภคนัก หรือกรณีของไต้หวันที่ประชาชนต้องออกเงินส่วนหนึ่งเพื่อแลกบัตรกำนัลจากรัฐบาลในการนำไปใช้จ่าย

ภายใต้โครงการแจกเงินดิจิทัลของไทยที่ต้องใช้เงินงบประมาณมหาศาลกว่าทุกโครงการที่กล่าวมา จึงควรศึกษาประสบการณ์ใกล้เคียงหรือทำการวิจัยเพื่อวิเคราะห์โครงการอย่างจริงจัง

จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ประสบการณ์นโยบายแจกเงินดิจิทัล

หลักเศรษฐศาสตร์มหภาคแบบเคนเซียนแล้ว รัฐบาลสามารถแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ควรพิจารณาที่จะแจกเงินก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในเงื่อนไขภาวะจำเป็นที่ต้องได้รับการกระตุ้นเท่านั้น เช่น ระดับการบริโภคลดลง เกิดกับดักสภาพคล่อง (liquidity trap) หรืออัตราการเติบโตของ GDP หดตัวลง

ซึ่งในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวที่จะต้องแจกเงินถ้วนหน้าแต่อย่างใด.