เศรษฐกิจโลก “ดีเกินไป” ?? ท่ามกลางสารพัดวิกฤติ

เศรษฐกิจโลก “ดีเกินไป” ?? ท่ามกลางสารพัดวิกฤติ

แม้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา บทความนี้จะเน้นไปถึงเรื่องนโยบายเศรษฐกิจและปัญหาเศรษฐกิจของไทย แต่ก็เข้าใจดีว่าทำอะไรไม่ได้มาก

บทความนี้เป็นบทความฉบับที่ 400 ของผู้เขียน ทุกๆ ครั้งที่บทความเข้าสู่หลักไมล์ที่สำคัญที่น่าภาคภูมิใจ ก็จะย้อนระลึกถึงเวลากว่า 17 ปีที่อุทิศให้กับการเขียนที่ต้องแลกมากับเวลาและสุขภาพ แต่เมื่อเทียบกับการได้ทำงานที่รัก เสนอแนะความคิดที่ (เชื่อว่า) เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสาธารณชนแล้ว ก็นับได้ว่าคุ้มเหนื่อยไม่น้อย

แม้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา บทความนี้จะเน้นไปถึงเรื่องนโยบายเศรษฐกิจและปัญหาเศรษฐกิจของไทย แต่ก็เข้าใจดีว่าทำอะไรไม่ได้มาก ท่ามกลางปัจจัยเศรษฐกิจและสังคมเชิงโครงสร้างของไทยที่ครอบอยู่ แต่ก็ได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยจะหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง และกลับมาเป็นความหวังของลูกหลานเรา

บทความนี้ จึงขออนุญาตกลับมาจุดยืนหลัก อันได้แก่ เศรษฐกิจโลก ที่แม้ภาพของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจะยังดูสดใส โดยในสหรัฐ ตัวเลข GDP เบื้องต้นในไตรมาส 3/2566 ขยายตัวถึง 4.9% ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนทรงตัว (ขยายตัว 0.1% ต่อปี แต่หดตัว -0.1% ต่อปีเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน) ด้านเศรษฐกิจจีนก็ขยายตัวเกินคาดที่ 4.9% ต่อปี

แต่มองลึกลงไป ตัวเลขเหล่านี้ “ดีเกินไป” เพราะไส้ในรวมถึงแนวโน้มจากปัจจัยต่างๆ บ่งชี้ความเสี่ยงทั้งสิ้น 

โดยในสหรัฐ ความเสี่ยงสูงสุดมาจากดอกเบี้ยในตลาดการเงินที่สูงยาวนานขึ้น (Higher for longer) ที่แม้จะมีแนวโน้มลดลงบ้างหลังธนาคารกลางสหรัฐประกาศคงดอกเบี้ยในการประชุมต้นเดือนนี้ แต่ก็จะยังอยู่ในระดับสูงและจะกดดันเศรษฐกิจมากขึ้น 

ในยุโรป ตัวเลขเศรษฐกิจทั้งหลายบ่งชี้ในทิศทางหดตัว ท่ามกลางดอกเบี้ยที่อยู่สูงกว่าเงินเฟ้อ

ในจีน เศรษฐกิจเติบโตได้เพราะผลการกระตุ้นจากภาครัฐ ทำให้ Credit intensity หรืออัตราการเติบโตของสินเชื่อเปรียบเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ขยายตัวรุนแรงสุดนับตั้งแต่ปี 2563 แต่ความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด รวมถึงวิกฤติอสังหาฯ ก็ยังคงอยู่และจะเป็นตัวกดดันเศรษฐกิจจีนในระยะยาว

 

เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงมากขึ้นจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์จาก 2 สงคราม อันได้แก่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ยังไม่เห็นวี่แววของจุดจบในระยะเวลาอันใกล้ และพร้อมที่จะลุกลามรุนแรงขึ้นได้ทุกเมื่อ

แม้ว่าในระยะต่อไป ดอกเบี้ยในประเทศพัฒนาแล้วอาจไม่ได้ปรับขึ้น โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางชั้นนำ อันได้แก่ สหรัฐ (Fed) ยุโรป (ECB) และอังกฤษ (BOE) จะคงดอกเบี้ย แต่ในปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยทั้งในสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น

เศรษฐกิจโลก “ดีเกินไป” ?? ท่ามกลางสารพัดวิกฤติ

นักเศรษฐศาสตร์หลายท่าน รวมถึง เจนเน็ต เยลเลน รมว.คลังของสหรัฐ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะสะท้อนของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นความเสี่ยง เนื่องจากจะทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา โดยมี 3 ประเด็นที่ต้องจับตา คือ

(1) การบริโภค ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของสหรัฐดีกว่าที่คาดไว้ เพราะผู้บริโภคได้ใช้เงินสดที่สะสมไว้ในช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 การคำนวณของหลายสำนักวิจัยระบุว่า เงินออมส่วนเกินเหล่านี้คาดว่าเหลืออยู่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ จนถึงจะหมดลงแล้ว (แล้วแต่สมมติฐานของแต่ละสำนักวิจัย) ซึ่งจะทำให้การบริโภคลดลงในระยะต่อไป

(2) ภาคธุรกิจและธนาคาร เนื่องจากเมื่อเงินออมส่วนเกินเหล่านี้หมดลง อัตราดอกเบี้ยที่สูงจะเริ่มส่งผลให้ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง ส่งผลต่อรายได้ของภาคเอกชน ที่นอกจากจะได้รับผลจากยอดขายที่น้อยลง ยังถูกกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น 

โดยเฉพาะหากอัตราดอกเบี้ยคงสูงต่อเนื่อง (Higher for longer) ซึ่งการล้มละลายทางธุรกิจกำลังเพิ่มขึ้นแล้ว โดยข้อมูลจาก Refinitive Datastream ระบุว่า อัตราการล้มละลายของบริษัททั่วยุโรปและบริษัทขนาดเล็กในสหรัฐเพิ่มขึ้นถึงกว่า 25% ในต้นปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ธุรกิจสถาบันการเงินก็ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากราคาบ้าน (เมื่อปรับเงินเฟ้อ) จะลดลง จากความต้องการที่ลดลงตามสภาพเศรษฐกิจ ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ใช้บ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันลดลง

เศรษฐกิจโลก “ดีเกินไป” ?? ท่ามกลางสารพัดวิกฤติ

 ธนาคารเหล่านั้นจึงต้องระดมทุนหรือควบรวมกิจการเพื่อให้มูลค่าสินทรัพย์กลับมาเท่าเดิม (มิฉะนั้นก็จะล้มละลาย) โดยงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์การเงินในสหรัฐระบุว่า หากนำผลจากการที่ราคาสินทรัพย์ค้ำประกัน (เช่นบ้าน และพันธบัตรรัฐบาล) หดตัวลงแล้ว ธนาคารในสหรัฐไม่ต่ำกว่า 200 ธนาคารจะอยู่ในฐานะเสี่ยงต่อการล้มละลายเช่นเดียวกับ SVB และ Signature bank

(3) ด้านการคลัง เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลทั่วโลกกู้ยืมมากขึ้นเพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโควิด ทำให้ขาดดุลมากขึ้น โดยข้อมูลของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น ต่างมีแนวโน้มที่จะขาดดุลการคลังกว่า 5% ของ GDP ในปี 2566

ขณะที่การขาดดุลของสหรัฐอยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 7.5% ของ GDP ในปัจจุบันซึ่งสูงขึ้นกว่าสองเท่าของที่เคยคาดไว้ในช่วงกลางปี 2565 ทำให้ในปัจจุบันหนี้ของภาครัฐสูงเทียบกับ GDP สูงที่สุดในรอบกว่า 200 ปี 

ขณะที่การคำนวณของผู้เขียนที่คำนวณหาระดับหนี้สาธารณะเฉลี่ยของ 7 ประเทศสำคัญ อันได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐ ไทย ฝรั่งเศส เยอรมนี และสิงคโปร์ พบว่าหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 121% GDP เพิ่มจาก 101% ก่อนโควิดและเป็นตัวเลขเดียวกับการคำนวณของไอเอ็มเอฟ

เศรษฐกิจโลก “ดีเกินไป” ?? ท่ามกลางสารพัดวิกฤติ

เมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ หนี้ที่อยู่ในระดับสูงก็สามารถบริหารจัดการได้ แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้น เบียดบังงบประมาณส่วนอื่น ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลางที่กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อมากขึ้น เห็นได้จาก

ล่าสุดเจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ต้องออกมายืนยันว่า Fed จะไม่ลดดอกเบี้ยและปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเพื่อลดแรงกดดันต่องบประมาณของรัฐบาล แม้ว่า เจนเน็ต เยลเลน จะกล่าวว่าดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐไม่ควรสูงในระดับนี้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป นักลงทุนจะเริ่มตั้งคำถามกับคำสัญญาของทางการในการรักษาอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำและการยืนยันจะชำระหนี้ด้วย ทั้งในอิตาลีที่รัฐบาลเริ่มเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่ในรัฐบาลญี่ปุ่นต้องกันงบประมาณ 8% เพื่อเป็นรายจ่ายดอกเบี้ย (คำนวณที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.8% ในปีที่แล้ว)

ทำให้เป็นไปได้มากขึ้นว่า ในระยะต่อไป รัฐบาลจะต้องกลับมาทำมาตรการรัดเข็มขัด (Austerity Measure) อีกครั้ง เช่นเดียวกับยุโรปในยุคปี 2553

เมื่อดอกเบี้ยสูงยาว โอกาสที่เศรษฐกิจจะถดถอยก็ดูเหมือนใกล้เข้ามา

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่สังกัดอยู่