ต้นทุนการเงิน กำลังพุ่งกระฉูดทั่วโลก

ต้นทุนการเงิน กำลังพุ่งกระฉูดทั่วโลก

"บอนด์ยิลด์" ในหลายประเทศทั่วโลก กำลังพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง อย่างของสหรัฐรุ่นอายุ 10 ปี เพิ่งจะวิ่งทะลุระดับ 5% ซึ่งสูงสุดในรอบ 16 ปี ส่วนไทยเอง บอนด์ยิลด์อายุ 10 ปี ก็ขยับขึ้นมาแตะระดับ 3.4% เป็นระดับที่สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี

ไม่เฉพาะแค่ภาคธุรกิจหรือประชาชนรายย่อยตาดำๆ ที่ต้องเผชิญกับ “ต้นทุนการเงิน” ที่สูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น แม้แต่ภาครัฐเองก็เผชิญกับวิกฤติการณ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน สะท้อนผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตร หรือ “บอนด์ยิลด์” ที่พุ่งทะยานต่อเนื่อง ซึ่งบอนด์ยิลด์เป็นเหมือนเครื่องชี้วัดต้นทุนการเงินของรัฐบาลเมื่อต้องออกขายพันธบัตรใหม่ในช่วงเวลานั้นๆ 

โดยบอนด์ยิลด์ในหลายประเทศทั่วโลก กำลังพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง อย่างของสหรัฐรุ่นอายุ 10 ปี เพิ่งจะวิ่งทะลุระดับ 5% ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 16 ปี นับจากปี 2550 ขณะที่ของไทยเองบอนด์ยิลด์อายุ 10 ปี ขยับขึ้นมาแตะระดับ 3.4% เป็นระดับที่สูงสุดในรอบกว่า 10 ปีนับจากปี 2557 เช่นเดียวกับบอนด์ยิลด์ในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่ขยับขึ้นทำสถิติสูงสุดครั้งใหม่ในรอบนับสิบปี

บทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า สัปดาห์นี้นับเป็นช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของตลาดพันธบัตร โดยเฉพาะตราสารหนี้ของสหรัฐ เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐเตรียมออกพันธบัตรชุดใหม่ครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ แน่นอนว่าปริมาณพันธบัตรใหม่ที่กำลังจะออกเพิ่มนั้น แถมยังออกในช่วงที่บอนด์ยิลด์เป็น “ขาขึ้น” อัตราบอนด์ยิลด์ในตลาดย่อมต้องถีบตัวสูงขึ้นตามไปด้วย 

ไม่เฉพาะรัฐบาลสหรัฐเท่านั้นที่เตรียมจะออกพันธบัตรชุดใหม่เพิ่ม แต่อีกหนึ่งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง “จีน” ก็เตรียมจะออกขายพันธบัตรด้วยเช่นกัน โดยทางการจีนอยู่ในช่วงดำเนินการขายพันธบัตรรัฐบาลสกุลเงินหยวน และพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นมูลค่ารวมกว่า 2.6 ล้านล้านหยวน หรือราว 3.6 แสนล้านดอลลาร์ ตีเป็นเงินไทยก็ตกประมาณ 13.4 ล้านล้านบาท ทำให้ซัพพลายในตลาดบอนด์เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับประเทศไทยเอง อย่างที่กล่าวไปข้างต้นตัวบอนด์ยิลด์รุ่นอายุ 10 ปีเมื่อสัปดาห์ก่อน พุ่งแตะ 3.4% แม้ว่าจะเป็นระดับที่สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี แต่ถ้าดูความสนใจที่มีต่อพันธบัตรของรัฐบาลไทยในช่วงนี้ พบว่าลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนผ่านการออกประมูลพันธบัตรรุ่น 10 ปีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งให้ดอกเบี้ย 3.3% แต่ดีมานด์ที่แสดงความสนใจมีเพียง “1 เท่าเศษๆ” ทั้งที่ปกติแล้วจะทะลุเกิน “2 เท่า” มาตลอด ตัวเลขนี้สะท้อนถึงความสนใจที่ลดลงอย่างชัดเจน

มองไประยะข้างหน้า รัฐบาลคงหนีไม่พ้นที่จะต้อง “กู้เงินใหม่” เพื่อมาทำนโยบายตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ ดังนั้นท่ามกลางดีมานด์ที่ลดต่ำลง แต่ซัพพลายมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการเงินของรัฐบาลย่อมต้องสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งปัจจุบันต้นทุนในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมากแล้ว โดยก่อนโควิดรัฐบาลไทยจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยที่ราวๆ 1.86% แต่ปัจจุบันต้นทุนส่วนนี้ขยับขึ้นมาแตะระดับ 3.5% เรียกว่าขึ้นมาเกือบเท่าตัว เราเห็นว่าการดำเนินโครงการใดๆ ของรัฐบาลควรคำนึงต้นทุนส่วนนี้ไว้ด้วย เพราะดอกเบี้ยจ่ายกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร!