ทฤษฎีมาสโลว์ กับตัวเลือกการออกแบบ นโยบายสาธารณะ

ทฤษฎีมาสโลว์ กับตัวเลือกการออกแบบ นโยบายสาธารณะ

“อับราฮัม ฮาโรลด์ มาสโลว์” นักจิตวิทยา ผู้บุกเบิกความเชื่อมโยงระหว่าง แรงจูงใจของมนุษย์กับความสุขในชีวิต ได้อธิบายไว้ในงานเขียนเรื่อง ทฤษฎีแรงจูงใจของมนุษย์ (A Theory of Human Motivation)

โดยระบุว่า ความต้องการของมนุษย์มีอยู่ 5 ลำดับขั้น เรียงจากขั้นต่ำสุดไปถึงขั้นสูงสุด และโดยปกติแล้วมนุษย์จะตอบสนองความต้องการในระดับที่ต่ำที่สุดก่อน แล้วจึงจะขยับไปในระดับขั้นที่สูงขึ้นต่อไป 

แนวคิดทางจิตวิทยานี้ เป็นแนวคิดหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์นำมาใช้ในการออกแบบนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจสังคมของกลุ่มเป้าหมายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

มาสโลว์ กล่าวว่า ความต้องการทั้ง 5 ขั้นประกอบไปด้วย

ขั้นที่ 1 ความต้องการพื้นฐานทางด้านร่างกาย (Physiological Needs) เป็นความต้องการลำดับต่ำสุด สิ่งที่จะตอบสนองความต้องการระดับนี้ คือ ปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต นั่นคือปัจจัยสี่ ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค

ขั้นที่ 2 ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (Safety Needs) เป็นความต้องการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและทรัพย์สิน เช่น ความปลอดภัยจากอาชญากรรมและความรุนแรง การมีงานที่มั่นคง เป็นต้น

ขั้นที่ 3 ความต้องการความรักและการยอมรับจากสังคม (Belonging and Love Needs) เป็นความต้องการที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของความรัก ได้แก่ คนรัก ครอบครัว พ่อแม่ ลูก เพื่อน สามี ภรรยา ญาติมิตร

หรืออาจอยู่ในรูปแบบที่ไม่ใช่ความรัก ได้แก่ เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ลูกน้อง ครูอาจารย์ ลูกศิษย์ รุ่นพี่รุ่นน้อง รวมถึงการยอมรับเป็นสมาชิกในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่ม

ทฤษฎีมาสโลว์ กับตัวเลือกการออกแบบ นโยบายสาธารณะ

ขั้นที่ 4 ความต้องการการได้รับการยกย่องนับถือจากผู้อื่นและการนับถือตนเอง (Esteem Needs) เป็นความต้องการที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นในระดับต่างๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกนับถือในตนเอง ได้แก่ ยศ ตำแหน่ง ความท้าทาย การยกย่องทางผู้อื่น เป็นต้น

ขั้นที่ 5 การตระหนักถึงศักยภาพและเป้าหมายที่แท้จริงในชีวิต (Self-actualization) เป็นความต้องการขั้นสูงสุดของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นความต้องการที่เกิดผลต่อจิตใจมากกว่าวัตถุที่สามารถจับต้องได้ ทั้งนี้ อาจเป็นเป้าหมายในชีวิต ความฝัน หรือความสมบูรณ์แบบที่ต้องการ

เมื่อนำหลักการนี้มาออกแบบนโยบายสาธารณะ เราจะต้องแบ่งความต้องการของกลุ่มเป้าหมายออกเป็นความต้องการในปัจจุบันและความต้องการที่จะตามมาในอนาคต 

ยกตัวอย่างเช่น ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงาน ไม่มีรายได้ ความต้องการในปัจจุบันคือโอกาสในการทำงาน และรายได้ที่สูงมากพอจะเลี้ยงครอบครัวได้ 

ทฤษฎีมาสโลว์ กับตัวเลือกการออกแบบ นโยบายสาธารณะ

นโยบายที่เหมาะสมควรมุ่งไปที่การสร้างงานควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ โดยอาจจะใช้มาตรการจ้างงานโดยตรงด้วยงบของรัฐ หรือนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนเพื่อให้เกิดการค้าขาย แล้วส่งผลต่อไปยังการจ้างงานและรายได้ของคนทำงาน

ขณะที่กำลังแก้ปัญหาตามความต้องการในปัจจุบัน ก็ต้องคิดข้ามช็อตไปด้วยว่า หลังจากนี้ต้องทำอะไรต่อ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถระดับไปสู่ขั้นที่สูงกว่าของมาสโลว์ได้ หากโจทย์ระยะสั้นคือการตอบสนองความต้องการขั้นที่ 1 และ 2 โจทย์ระยะต่อไปคือการช่วยให้กลุ่มเป้าหมายขยับไปอยู่ลำดับขั้นที่สูงกว่าได้

เมื่อการงานมั่นคงมีรายได้เพียงพอ การสร้างสังคมที่น่าอยู่ ปลอดภัย มีสภาพแวดล้อมที่ดีคือโจทย์ที่ต้องตอบให้ได้ เพียงแต่การทำสิ่งเหล่านี้จะรอให้ทำโจทย์ระยะสั้นเสร็จก่อนก็ไม่ได้ ต้องเริ่มทำไปพร้อมกัน

เพราะวิธีการตอบสนองความต้องการขั้นที่สูงขึ้น มักจะมีความซับซ้อนในเชิงงบประมาณ การบริหารงาน การออกแบบเครื่องมือที่ใช้ รวมถึงต้องใช้ระยะเวลานานขึ้นกว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรม

ด้วยเหตุนี้เอง หากปรับเอาแนวคิดของมาสโลว์มาใช้ รัฐบาลที่ดีจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการยกระดับประชาชนในไประดับขั้นที่สูงกว่าของมาสโลว์ได้

 รัฐบาลที่สนใจแต่การตอบสนองความต้องการระยะสั้นด้วยนโยบายประชานิยม ถึงจะได้รับความนิยามทางการเมืองอย่างล้นหลาม ก็ยังถือว่าล้มเหลวในหน้าที่ของตนเอง

ในทางกลับกัน รัฐบาลที่มองแต่ภาพระยะยาวมากเกินไปจนใส่ใจความต้องการขั้นต้นๆ ของประชาชนน้อยกว่าที่ควรเป็น กว่าจะถึงวันที่ภาพระยะยาวเป็นจริง ประชาชนก็ต้องอยู่กับความยากลำบากนานเกินไปเสียแล้ว ความสำเร็จในระยะยาวที่เกิดขึ้นแลกกับความล้มเหลวระยะสั้น ดูยังไงก็ถือว่าสอบไม่ผ่าน

ทฤษฎีมาสโลว์ กับตัวเลือกการออกแบบ นโยบายสาธารณะ

นอกจากนี้แล้ว หากยึดตามแนวคิดของมาสโลว์ การขับเคลื่อนทางการเมืองแบบข้ามขั้นของพรรคการเมือง เช่น ประชาชนยังอดอยาก ชีวิตไม่ปลอดภัย แต่อยากให้ประชาชนสนใจเรื่องที่อยู่ในลำดับขั้นที่สูงขึ้นไป โอกาสจะประสบความสำเร็จทางการเมืองอาจไม่สูงเท่าพรรคการเมืองที่จัดการเรื่องเร่งด่วนในลำดับขั้นแรกๆ ตามแนวคิดของมาสโลว์ก่อน

ท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลและพรรคการเมืองต้องตระหนักว่า พวกเขาอาสาเข้ามาเป็นตัวแทนในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น ไม่ได้มาเพื่อตอบสนองวาระซ่อนเร้นในใจของตัวเอง เพราะถ้าหากเอาความต้องการของตัวเองเป็นใหญ่ ก็อย่ามาเรียกตัวเองว่า “ผู้แทนของประชาชน”