ชาวนา ทวงค่าช่วยเหลือปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,000 บาท หลังนัดแรก นบข.ไม่พิจารณา

ชาวนา ทวงค่าช่วยเหลือปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,000 บาท หลังนัดแรก นบข.ไม่พิจารณา

ชาวนา เร่งรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,000 บาท หลังที่ประชุม นบข. ครั้งแรก ไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณา อ้างขอแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ผลผลิตข้าวที่กำลังออกสู่ตลาดก่อน

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)เปิดเผยว่าในขณะนี้มีชาวนาจำนวนมาก ร้องมายังสมาคมเพื่อทวงถามถึงมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไม่ได้พิจารณาเรื่องการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,000 บาท

ชาวนา ทวงค่าช่วยเหลือปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,000 บาท หลังนัดแรก นบข.ไม่พิจารณา

ทั้งนี้ในฐานะนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ได้สอบถามไปยัง รัฐบาล และ กระทรวงพาณิชย์ แล้ว โดยได้รับการชี้แจงว่า การประชุม นบข.ครั้งแรกนั้น ได้มุ่งเน้นในเรื่องเฉพาะหน้าคือ การพยุงราคาข้าวที่กำลังเก็บเกี่ยวในขณะนี้ก่อน ซึ่งคาดว่าการดำเนินการจะไม่ลากยาว เพราะฤดูกาลเก็บเกี่ยวไม่ยาว คาดว่ากลางเดือนธันวาคมนี้ การเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิ ก็จะเบาบาง

ส่วนมาตรการช่วยเหลือชาวนาอื่นๆที่สำคัญ จะทยอยพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป ดังนั้น สมาคมชาวนา จะเร่งรัดให้นบข.ออกมาตการช่วยเหลือต่างๆโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบจากที่ชาวนามีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยการผลิตต่างๆปรับราคาเพิ่มขึ้น

 

ชาวนา ทวงค่าช่วยเหลือปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,000 บาท หลังนัดแรก นบข.ไม่พิจารณา

“ผมในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิใน นบข. และอีกด้านหนึ่งก็มีฐานะนายกสมาคมชาวนาฯนี้ จะยังคงมุ่งให้ความสำคัญกับมาตรการช่วยเหลือหลักๆที่สมาชิกชาวนาได้ประโยชน์สูงสุด และยืนยันในการให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการส่งเสริมชาวนาในด้านต่างๆเช่น เรื่องของราคา การช่วยเรื่องของค่าจัดการแปลงตามที่สมาคมชาวนาฯได้เสนอ การลดต้นทุน การพัฒนาแหล่งน้ำ และการพัฒนาพันธุ์ข้าว ทั้งพื้นนุ่มและพื้นแข็ง ผลผลิตข้าวแห้งต้องไม่ต่ำกว่า 1,000 กิโลกรัม/ไร่ หรือข้าวเกี่ยวสดไม่ต่ำกว่า 1,300 กิโลกรัม/ไร่ เพื่อให้ตอบโจทย์พี่น้องชาวนา สุดท้ายนี้ก็ขอบคุณรัฐบาล ที่ช่วยชาวนา”

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงมาตรการบริหารจัดการข้าวเปลือกนาปี 2566/67 ได้แก่ 1. สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และ 2. การชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต็อก ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมการข้าวและกรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมจัดทำข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

สำหรับมติ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2566 ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทย โดยในส่วนของสถานการณ์ข้าวไทย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (ณ เดือน ต.ค.66) คาดการณ์ผลผลิตข้าว ปีการผลิต 2566/67

- ภาพรวม ผลผลิต 32.35 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง จากปีก่อน 2.08 ล้านตันข้าวเปลือก (-6%)

- นาปี ผลผลิต 25.57 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง จากปีก่อน 1.14 ล้านตันข้าวเปลือก (-4%)

- นาปรัง ผลผลิต 6.78 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลง จากปีก่อน 0.94 ล้านตันข้าวเปลือก (-12%)

โดยผลผลิตมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ทำให้ปริมาณน้ำฝนมีน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้บางพื้นที่สามารถปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว และผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มลดลง

 

การส่งออกข้าวไทย : การส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ

ปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) อินเดียส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 14.87 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ เวียดนาม 6.26 ล้านตัน ไทย 6.08 ล้านตัน ปากีสถาน 1.98 ล้านตัน และสหรัฐฯ 1.49 ล้านตัน โดยอินเดีย ส่งออกข้าวลดลง (-3%) เนื่องจากมีมาตรการจำกัดการส่งออกข้าว เพื่อควบคุมราคาข้าวภายในประเทศ เวียดนาม ส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น (+33%) เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไทย ส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น (+12%) เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากอินเดียห้ามส่งออกข้าวขาว และปากีสถาน ส่งออกข้าวลดลง (-37%) เนื่องจากมีปริมาณข้าวจำกัด จากเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงเมื่อปีก่อน

 

ชาวนา ทวงค่าช่วยเหลือปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,000 บาท หลังนัดแรก นบข.ไม่พิจารณา

การส่งออกข้าวไทย : ตลาดส่งออกข้าวสำคัญของไทย ปี 2565 – 2566 (ม.ค.-ก.ย.) สัดส่วนส่งออก ปี 66 (รวม 100%) ไทยส่งออกข้าวขาวมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53 ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด ประเทศที่นำเข้าข้าวขาวที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย อิรัก มาเลเซีย ญี่ปุ่น โมซัมบิก รองลงมาได้แก่ข้าวนึ่ง 19% ประเทศที่นำเข้าข้าวนึ่งที่สำคัญ ได้แก่ แอฟริกาใต้ บังกลาเทศ เยเมน เบนิน แคเมอรูน ข้าวหอมมะลิไทย 18% ประเทศที่นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เซเนกัล ฮ่องกง แคนาดา จีน ข้าวหอมไทย 6% ข้าวเหนียว 3% และข้าวกล้อง 1%

 

แนวโน้มสถานการณ์ข้าวไทย ราคาข้าวไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยปัจจัยบวก 1. การบริโภคข้าวในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัว ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ 2. การส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มเป็นไปตามเป้าหมาย 8 ล้านตัน จาก 2.1 อินเดียมีมาตรการห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ ส่งผลให้ข้าวไทยเป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้น 2.2 ค่าเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก 2.3 ตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ขณะที่ปัจจัยลบ 1. ปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งจะทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตข้าวที่จะออกสู่ตลาด 2. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่อาจจะมีกำลังซื้อลดลงจากปัญหาเงินเฟ้อ