ยุคมืด กฟผ.ไร้ผู้นำ 'ประธานบอร์ด-ผู้ว่า' สหภาพฯ ไม่ทนถกด่วน 6 พ.ย.นี้

ยุคมืด กฟผ.ไร้ผู้นำ 'ประธานบอร์ด-ผู้ว่า' สหภาพฯ ไม่ทนถกด่วน 6 พ.ย.นี้

การสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ถือได้ว่ามีความผิดปกติแบบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้ขั้นตอนการแต่งตั้งล่าช้า อีกทั้งบอร์ด กฟผ. เองก็ยังไม่มีหัวเรือ ล่าสุด สหภาพฯ เริ่มเคลื่อนไหว จ่อหารือผู้บริหารร่วมแก้ปัญหา 6 พ.ย.นี้

การสรรหาผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลากยาวมาตั้งแต่เริ่มมีการสรรหาและเปิดรับสมัครเมื่อเดือน ม.ค.2566

ผลของการสรรหาเสนอชื่อผู้ว่าการคนใหม่ คือ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่

เป็นการเสนอจากคณะกรรมการสรรหาที่มี นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นประธานเสนอ

นอกจากนี้ กฟผ.ยังอยู่ในสถานะไม่มี "คณะกรรมการ กฟผ." ที่เป็นฝ่ายนโยบายขับเคลื่อนองค์กรและความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ โดยอยู่ขั้นตอนสรรหาคณะกรรมการ กฟผ.ชุดใหม่แทนชุดเก่าที่ลาออกเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2566

ก่อนหน้านี้นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ประเมินว่าจะเสนอรายชื่อคณะกรรมการ กฟผ.ชุดใหม่ให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้ภายใน 1 เดือน นับจากกลางเดือน ต.ค.2566

นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) เปิดเผยว่า การที่ กฟผ.เกิดความไม่ต่อเนื่องของผู้ว่าการ กฟผ.เป็นเวลานานเกินไปนั้น ถือเป็นปัญหาเพราะ กฟผ. เป็นองค์กรที่มีความสำคัญต่อประเทศ

ทั้งนี้ การไม่มีผู้นำสูงสุดจะกระทบต่อการดำเนินงาน ซึ่งการรักษาการ ยังมีขอบเขตและข้อจำกัด โดยสหภาพฯ ไม่ได้มองว่ารักษาการจะไม่กล้าตัดสินใจ แต่โดยธรรมชาติควรมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจ เพราะอำนาจต่างๆ จะมีผลผูกพันธ์กับการตัดสินใจด้วย 

ขณะนี้ภาคสังคม นักวิชาการ สื่อมวลชน ประชาชน รวมถึงพนักงาน กฟผ. กว่าหมื่นคน ได้การกระตุ้นภาครัฐถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งสหภาพฯ ได้เรียนถามไปยัง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในช่วงแรกที่จัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

สำหรับสหภาพฯ เป็นตัวแทนพนักงาน กฟผ.ได้ติดตามการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริการ กฟผ. (บอร์ด กฟผ.) ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวัน 8 มี.ค.2566 เพื่อพิจารณาผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ แทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.ที่ครบวาระวันที่ 21 ส.ค.2566

นอกจากนี้ ภายหลังบอร์ด กฟผ.ลงมติเรียบร้อย ต่อมามีสัญญาณว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยุบสภา ทำให้สหภาพฯ ติดตามยัง นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สมัยนั้น

ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาชื่อผู้ว่าการ กฟผ.คนที่ 16 ก่อนที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร เพราะเกรงว่าจะขาดตอน

สำหรับสถานการณ์ของ กฟผ.ในช่วงนั้นมีปัญหาการรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) กว่า 1 แสนล้านบาท รวมถึงปัญหาสภาพคล่องที่ต้องอาศัยผู้มีอำนาจสูงสุดในการลงนาม แต่ไม่มีการเสนอชื่อจนเป็นรัฐบาลรักษาการ

"เราตามตลอดหลังยุบสภามี ครม.รักษาการได้ส่งเรื่องไปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงเดือน ก.ค.2566 ก็แปลกใจว่า กกต.อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงจำนวนมาก ยกเว้นผู้ว่าการ กฟผ."

สำหรับสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องผิดปกติมาก และเมื่อแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่สำเร็จหวังว่าจะเสนอ ครม.นัดแรก เพราะมีเรื่องเร่งด่วนต้องตัดสินใจ แต่ไม่มีการนำเสนอ ซึ่งเป็นจังหวะที่องค์กรจะไม่มีผู้ว่าการ กฟผ.แล้ว 

นางณิชารีย์ กล่าวว่า ปัญหาหลักที่สหภาพฯ ไม่ได้มองว่าใครจะมาเป็นผู้ว่าการ แต่ประเด็นคือ การที่จะต้องมีผู้นำที่มีอำนาจตัดสินใจ โดยเฉพาะการพิจารณาค่าเอฟที และภาระของ กฟผ. เพราะรัฐบาลมีแผนที่จะยืดการปรับลดค่าไฟไปอีก

ดังนั้น วันที่ 6 พ.ย.2566 คณะกรรมการสหภาพฯ จะขอพบกับผู้บริหารเพื่อร่วมหาทางออกในเรื่องดังกล่าว

"ตอนนี้เรื่องที่ กฟผ.รับภาระแล้วรัฐบาลจะมาช่วยอะไรได้บ้าง รวมถึงค่าก๊าซธรรมชาติที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ช่วยเหลือก็ไม่เพียงพอ อีกทั้งดอกเบี้ยที่ กฟผ.ต้องรับผิดชอบรับภาระมาอีก ซึ่ง กฟผ.เป็นหน่วยงานรัฐ ถ้ารับภาระไม่ไหวแล้วจะให้ กฟผ.เป็นปัญหาของรัฐหรือไม่" 

อย่างไรกก็ตาม สหภาพฯ ยืนยันว่าไม่คัดค้านเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะเป็นหน่วยงานและเป็นเครื่องมือของรัฐ จึงสนับสนุนอยู่แล้ว แต่รัฐบาลต้องดูแลองค์กรของรัฐที่เป็นแขนเป็นขาในการทำงาน

รวมทั้งหาทางออกและช่วย กฟผ.เพราะต้องบริหารจัดการพนักงานกว่า 1 หมื่นคน รวมถึงความรับผิดชอบต่อประเทศ ประชาชนและสังคม 

"ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเคลื่อนไหว เราจะคุยกับผู้บริหาร กฟผ.ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ซึ่งต้องมีผู้ว่าการ กฟผ.เพื่อมาบริหารจัดการปัญหาสำคัญขององค์กร" 

ทั้งนี้ รัฐควรจะซัพพอร์ตช่วยเหลือให้องค์กรของรัฐที่เป็นแขนเป็นขาให้รัฐบาล แต่กลับหยิบเอาส่วนที่เป็นประโยชน์ ผลกำไร และรายได้นำส่งเข้ารัฐไปเป็นกำไรให้กับภาคเอกชน

รวมทั้งจะเห็นได้ว่าปัจจุบัน กฟผ.มีกำลังการผลิตเหลือประมาณ 28% และในอนาคตบอกว่าจะเหลือแค่ 20% และจะกลายเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้อย่างไร 

สำหรับรายได้จากรัฐวิสาหกิจเมื่อบริหารจัดการภายในตามการควบคุมกำกับดูแลทุกสิ่งอย่าง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) การวัดผล PA หรือ KPI

"เราซึ่งเป็นประชาชนคนหนึงมาทำงานในหน้าที่ของรัฐ เราทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อให้ประโยชน์กับประชาชน รายได้ที่เกิดขึ้นย้อนคืนกลับสู่รัฐบาลดูแลประชาชน ทำไมนำสัดส่วนตรงนี้ไปให้เอกชน แม้ว่าจะเก็บภาษีจากภาคเอกชนได้ แต่รายได้ไม่ได้เป็นของประชาชน แต่กลับเป็นของผู้ถือหุ้นในบริษัท"

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ากระบวนการสรรหาผู้ว่า กฟผ.เป็นกระบวนการภายในการไม่แต่งตั้งก็มีผลกระทบโดยรวมกับประเทศชาติ โดยขาดอำนาจในการตัดสินใจเพื่อความมั่นคงของไฟฟ้า

ดังนั้น จึงควรมีผู้ว่าการ กฟผ.โดยเร็ว เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เคยมีมาก่อน และถือว่าผิดธรรมชาติ การที่สหภาพฯ จะออกมาเคลื่อนไหวเชิงรูปธรรมเราจึงต้องระมัดระวัง ไม่อยากให้เกิดจุดที่กระทบความรู้สึกกับแคนดิเดต ทำได้แค่แถลงการณ์เป็นทางการ แต่สุดท้ายเราต้องเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง เพราะมีผลต่อการบริหารจัดการ