“ภูมิธรรม” บินจีนร่วมเปิดงาน CIIE 4-6 พ.ย. ถกนักธุรกิจจีนดึงลงทุนไทย

“ภูมิธรรม” บินจีนร่วมเปิดงาน  CIIE  4-6 พ.ย. ถกนักธุรกิจจีนดึงลงทุนไทย

เปิดภารกิจ”ภูมิธรรม”บินร่วมงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน( China International Import Expo หรือ CIIE ) 4-6 พ.ย. พบปะนักธุรกิจ ผู้นำเข้าจีน ดึงลงทุนไทย พร้อมเยี่ยมชมคูหาผู้ประกอบการไทย หวังเปิดตลาดไทยกว้างขึ้นในตลาดจีน

สุดสัปดาห์นี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์  ได้เดินทางไปยัง นครเซี่ยงไฮ้  สาธารณรัฐประชาชาชนจีน ใน ระหว่างวันที่ 4 -6 พ.ย. 2566 เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน( China International Import Expo หรือ CIIE ) ครั้งที่ 6 พร้อมกับพบหารือกับผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลจีน ซึ่งถือเป็นการเดินทางไปจีนเป็นครั้งที่ 2 ของนายภูมิธรรม หลังเข้ารับตำแหน่ง  

งานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน( China International Import Expo หรือ CIIE ) เป็นงานแสดงสินค้าสำคัญและยิ่งใหญ่ประจำปีของจีน  CIIE เพราะเป็นงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้นเพื่อ “การนำเข้า” และขยายการนำเข้าสินค้าเท่านั้น แต่ยังจะขยายการนำเข้าเงินทุน เทคโนโลยี แรงงาน และบริการใหม่ๆ สู่ตลาดจีน โดยสํานักงานสารสนเทศของคณะรัฐมนตรีจีนเผยว่า งาน CIIE ปีนี้จะมีผู้แทนจาก 154 ประเทศ  ภูมิภาค  และองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม  ในจำนวนนี้  มีผู้แสดงสินค้ามากกว่า 3,400 ราย และผู้เยี่ยมชมมืออาชีพ 394,000 คน  

โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้แจ้งว่า ในปีนี้ไทยเข้าร่วมกิจกรรมในงาน CIIE 2 ส่วน  ได้แก่ 1. ส่วนจัดแสดงสินค้า Enterprise & Business Exhibition: กระทรวงพาณิชย์นำผู้ประกอบการสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทยเข้าร่วมจำนวน 20 บริษัท/คูหา ใน Thai Food and Agricultural Products Pavilion   เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ,โฮมเพรส  อินเตอร์เนชั่นแนล  บ.ง่วนเชียงอุตสาหกรรมอาหาร บริษัทสหพัฒนพิบูล จำกัดมหาชน  บริษัทไทยพาวิลเลี่ยน คอร์ปอเรท  ที.ซี. บริษัทอุตสาหกรรมยา เป็นต้น

โดยมุ่งเน้นสินค้าอาหารที่มีมูลค่าเพิ่ม และมีความโดดเด่นของอาหารไทย เช่น ขนมขบเคี้ยว (สาหร่ายทอดกรอบ หนังปลากรอบ) ผลไม้แปรรูป (ทุเรียน มะพร้าว อบแห้งแบบแช่เยือกแข็ง) น้ำผลไม้ (น้ำลำไยโซดา น้ำสมุนไพร) เครื่องแกง อาหารทะเล เครื่องปรุงรส โดยหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลาย ไทยขยายจำนวนคูหาเพิ่มขึ้นจาก 15 คูหาในปี 2565 เป็น 20 คูหาในปี 2566  นอกจากผู้ประกอบการ SMEs ที่มาร่วมงานกับกระทรวงพาณิชย์แล้ว ก็ยังมีผู้ประกอบการไทยทั้งสินค้าและบริการรายใหญ่มาเข้าร่วมงานเอง อาทิ ธนาคารกสิกรไทย นารายภัณฑ์ PASAYA ปตท.โออาร์ (น้ำมันและการค้าปลีก) และ อเมซอน  

2.ในส่วนจัดนิทรรศการ Country Exhibition: Thailand Pavilion  จะประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทยผ่านสินค้า/บริการไทย ภายในงานจะมีการนำเสนอเครื่องหมายรับรองที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เช่น ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ที่ได้การรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ไทย ซึ่งปัจจุบัน มีร้านอาหารในประเทศจีนได้รับตราสัญลักษณ์ Thai Select กว่า 100 ร้าน ผู้บริโภคชาวจีนก็สามารถแวะชิมอาหารไทยได้ในนครเซี่ยงไฮ้ และกระทรวงพาณิชย์จะมีแผนผลักดันอย่างต่อเนื่อง  

 

ทั้งนี้ Thailand Pavilion จะมีการจัดแสดงเครื่องหมายรับรองที่เกี่ยวข้องกับอาหารอื่นๆ เช่น เครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เครื่องหมาย Thailand Trust Mark (เครื่องหมายแห่งคุณภาพ “Trusted Quality”) ของสินค้าไทย ตลอดจนมีกิจกรรมให้ผู้เยี่ยมชมได้ชิมข้าวหอมมะลิไทยคู่กับอาหารไทย และการตอบคำถามเกี่ยวกับข้าวไทยเพื่อรับของที่ระลึก

รวมทั้งยังมีการจัดแสดงตัวอย่างข้าวไทยชนิดต่างๆ ควบคู่กับเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย เพื่อสร้างการรับรู้ในความหลากหลาย และจดจำว่าข้าวไทยเป็นข้าวพรีเมี่ยมที่มีคุณภาพมาตรฐาน ตลอดจนแนะนำวิธีการเลือกซื้อข้าวหอมมะลิไทยแท้ให้กับผู้บริโภคชาวจีนอีกด้วย รวมทั้ง หน่วยงานพันธมิตร เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะเผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวของไทย และ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจะให้บริการข้อมูลการลงทุนในไทย 

นอกเหนือจากการเข้าเยี่ยมชมส่วนจัดแสดงสินค้า Enterprise & Business Exhibition: ซึ่งมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมทั้งสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทยจำนวน 20 บริษัทแล้ว ไฮไลท์สำคัญของภารกิจนายภูมิธรรม คือ การพบปะนักธุรกิจ นักลงทุน และผู้นำเข้าจีน อาทิ  นักธุรกิจจีนในอุตสาหกรรมไฮเทค  เพื่อเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยและเปิดทางความร่วมมือระหว่างจีนและไทย  พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสให้สินค้าไทยในการเข้าสู่ตลาดจีน และ พร้อมพูดคุยกับนักธุรกิจไทยและผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนในจีนด้วย

การเดินทางไปร่วมงาน CIIE ของนายภูมิธรรม ถือเป็นโอกาสสำคัญของไทยในการสร้างความสัมพันธ์ เชื่อมโยงการค้าของไทยและจีน และเป็นการเปิดตลาดให้กับผู้ประกอบการไทยให้กว้างขึ้นและหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ SMEs 

ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงที่สุดกับไทยเป็นเวลาติดต่อกันถึง 11 ปี ตั้งแต่ปี 2556  ในปี 2565 ไทยส่งออกไปจีน 1.19 ล้านล้านบาท นำเข้าจากจีน 2.48 ล้านล้านบาท  และปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยส่งออกไปจีน 898,456 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากจีน 1.81 ล้านล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง คอมพิวเตอร์ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์