ปมร้อนราคาน้ำตาล รัฐบาลทำการบ้านน้อยเกินไป

ปมร้อนราคาน้ำตาล รัฐบาลทำการบ้านน้อยเกินไป

ส.อ.ท. ระบุ ควบคุมราคาน้ำตาลทราย มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ เข้าใจทุกภาคส่วน เห็นใจชาวไร่อ้อย ที่ต้นทุนเพิ่มขึ้น แนะรัฐหาข้อมูลสะท้อนข้อเท็จจริง ชี้ “อุตฯ-พาณิชย์” ควรคุยกันก่อนออกมาตรการ หวั่นบราซิล ฟ้องไทยอีกรอบ

รัฐบาลได้กำหนดนโยบายตรึงค่าครองชีพ ซึ่งทำให้กระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม ปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายกิโลกรัมละ 4 บาท 

การปรับราคาหน้าโรงงานของ สอน.ใชข้อำนาจตาม พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อกำหนดให้น้ำตาลทรายขาวเพิ่มจาก 19 บาท เป็น 23 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เพิ่มจาก 20 บาท เป็น 24 บาท มีผลวันที่ 28 ต.ค.2566 แต่อยู่ระหว่างยกเลิกประกาศดังกล่าว

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) โดยใช้อำนาจ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทันทีในวันที่ 31 ต.ค.2566 ซึ่งมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วย

1.กำหนดราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน โดยน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 19 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 20 บาท

2.กำหนดราคาน้ำตาลขายปลีก โดยน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่ 24 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 25 บาท

3.กำหนดมาตรการการควบคุมการส่งออกน้ำตาล ซึ่งการส่งออกน้ำตาลเกิน 1 ตัน ต้องขออนุญาต

นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า มาตรการของกระทรวงพาณิชย์เข้ามาควบคุมตั้งแต่ราคาหน้าโรงงาน ราคาขายปลีกและการกำหนดเงื่อนไขการส่งออกเกิน 1 ตัน ซึ่งเห็นว่าเป็นแนวทางที่ถอยหลังเข้าคลองย้อนไปก่อนที่จะปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งยกเลิกราคาขายปลีกในประเทศ

“มาตรการของกระทรวงพาณิชย์ทำให้เห็นการไม่ทำการบ้านของรัฐบาล รวมทั้งการไม่เข้าใจอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย”

ส่วนราคาขายปลีกที่กระทรวงพาณิชย์ควบคุมในเขตกรุงเทพฯ อยู่ที่ 23.50 บาท ในขณะที่การเข้ามาควบคุมครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาหน้าโรงงานที่ 19-20 บาท แต่กำหนดราคาขายปลีกที่ 24-25 บาท ซึ่งในต่างจังหวัดราคาบวกเพิ่มค่าขนส่งอีก

ส่วนประเด็นการกำหนดเงื่อนไขการส่งออกเกิน 1 ตัน ต้องขออนุญาต เพราะกระทรวงพาณิชย์รับทราบอยู่แล้วว่าราคาในประเทศและราคาส่งออกมีส่วนต่างมาก จึงได้กำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันการส่งออกของผู้ประกอบการรายเล็ก โดยไทยส่งออกน้ำตาลปีละ 7-8 ล้านตัน

ดังนั้น มาตรการที่กำหนดมาอาจทำให้มีความวุ่นวายมากขึ้นเพราะเป็นมาตรการที่ควบคุมเข้มงวดเกินไป

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทุกฝ่ายต่างมีเหตุผลของตนเอง ดังนั้น ส่วนตัวเห็นใจในทุกภาคส่วน ซึ่งในเรื่องนี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลในการดำเนินงาน เพื่อให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายเพื่อไม่ให้ประโยชน์นั้นได้ตกอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลควบคุมเพื่อไม่ให้ราคาน้ำตาลทรายปรับขึ้นราคาที่ 4 บาทต่อกิโลกรัม นั้น เข้าใจว่าต้องการที่จะทำหน้าที่ในเรื่องของราคาสินค้าที่อาจจะต้องปรับขึ้นในอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น เครื่องดื่ม น้ำอัดลม ขนม ฯลฯ แต่ภาพรวมแล้วต้นทุนที่แท้จริงนั้นอาจปรับขึ้นไม่มากด้วยกระแสของสังคมที่ผู้บริโภคพยายามลดความหวานเพื่อทำให้สุขภาพดีขึ้น

“อุตสาหกรรมอาหารโดยรวมเวลานี้ผู้บริโภคเริ่มเน้นบริโภคเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยลดความหวานลงและบางอย่างหันไปใช้สารทดแทนความหวานมากขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งด้วยเทรนด์ผลิตภัณฑ์ทดแทนที่นับวันจะมีมากขึ้น ขณะที่การบริโภคน้ำตาลทรายบริโภคโดยตรงของภาคครัวเรือนไม่ถึง 1 กิโลกรัมต่อเดือน แต่ก็เข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องดูแลราคาสินค้าเขาก็คงต้องทำหน้าที่”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องมองอีกฟากเพื่อความเป็นธรรม คือ กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย ที่ต่างก็ต้องมีต้นทุนในการผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งค่าแรง ค่าน้ำมัน ค่าปุ๋ยเคมี และราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกที่ปรับขึ้นสูงเฉลี่ยคิดเป็นเงินราว 27 บาทต่อกิโลกรัม จึงจำเป็นที่จะต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นให้สะท้อนกับข้อเท็จจริงของต้นทุนและราคาตลาดโลก เพื่อนำราคาดังกล่าวไปคำนวณราคาอ้อยที่เป็นประโยชน์ต่อชาวไร่ 

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาล กล่าวว่า มีความกังวลว่าหลังจากที่รัฐบาลประกาศให้น้ำตาลเป็นสินค้าควบคุมเพราะอาจทำให้เกิดการลักลอบส่งออกน้ำตาลตามแนวชายแดนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำตาลในต่างประเทศสูงกว่าราคาขายในประเทศมาก เป็นผลมาจากภาวะภัยแล้งทั่วโลก อินเดียลดส่งออกทำให้ตลาดเกิดการชะงักงัน เหลือประเทศหลัก ๆ ที่ส่งออกไม่กี่รายได้แก่ ไทยและบราซิล

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกอยู่ที่ 25-27 เซ็นต์ต่อปอนด์ ถือว่าสูงมาก เทียบกับในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่ราคาอยู่ประมาณ 16-17 เซ็นต์ต่อปอนด์ 

อีกปัญหาที่จะตามมาคือ ไทยอาจจะถูกบราซิลฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) อีกรอบก็เป็นได้ เพราะใช้มาตรการควบคุมราคาสินค้า ซึ่งถือเป็นหนึ่งกลไกในการอุดหนุน หรือ subsidy อุตสาหกรรมน้ำตาล และช่วยเกษตรกร ทำให้ประเทศอื่นเสียโอกาสในการแข่งขันตามกลไกตลาดโลก ครั้งหนึ่งไทยก็เคยถูกบราซิลฟ้องมาแล้วจนนำมาสู่การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบเมื่อช่วงปี 2562

“ทำไมกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมไม่หารือกันก่อนจะมีการออกประกาศโดย สอน.เพราะเรากลัวว่าหากรัฐบาลควบคุมการส่งออกไม่ได้ จะทำให้น้ำตาลในประเทศขาดแคลนเพราะมีการลักลอบส่งออก และบราซิลจะฟ้องไทยอีกรอบซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทั้งระบบ เพราะไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลก”