อุตฯ การบิน 'อินเดีย' โตก้าวกระโดด 'กพท.' เร่งเจรจาเพิ่มสิทธิแอร์ไลน์

อุตฯ การบิน 'อินเดีย' โตก้าวกระโดด 'กพท.' เร่งเจรจาเพิ่มสิทธิแอร์ไลน์

กพท.ฉายภาพอนาคตอุตสาหกรรมการบิน ประเมินฟื้นตัวปกติในปี 2567 ผู้โดยสารพุ่ง 162 ล้านคน ชี้ตลาดอินเดียมาแรงจ่อเจรจาเพิ่มสิทธิการบิน พร้อมเร่งทุกภาคส่วนปรับตัวรับเทรนด์ยั่งยืน ดันไทยสู่ฮับภูมิภาค

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยภายหลังงานสัมมนาอุตสาหกรรมการบินของไทย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “กลับคืนน่านฟ้ามุ่งหน้าสู่อนาคต” โดยระบุว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมการบินของไทยกลับมาฟื้นตัวใกล้เคียงสถานการณ์ปกติช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยพบว่าปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารฟื้นตัว 90% จากปี 2562 ที่มีจำนวนประมาณ 160 ล้านคน

ขณะที่ตลอดทั้งปี 2566 กพท.คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารรวม 127 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 63.03 ล้านคน และผู้โดยสารในประเทศ ประมาณ 64.43 ล้านคน ส่วนแนวโน้มในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน จะมีปริมาณผู้โดยสารกลับสู่สภาวะปกติ โดยประเมินตัวเลขอยู่ที่ 162 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 88.62 ล้านคน และผู้โดยสารในประเทศ ประมาณ 74.05 ล้านคน

อุตฯ การบิน \'อินเดีย\' โตก้าวกระโดด \'กพท.\' เร่งเจรจาเพิ่มสิทธิแอร์ไลน์

อย่างไรก็ดี จากการฟื้นตัวของปริมาณผู้โดยสาร พบว่าตลาดอินเดียเป็นตลาดมาแรงที่มีอัตราการขยายสูง โดยอ้างอิงจากข้อมูลสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) คาดการณ์ว่าตลาดอินเดียที่เดินทางด้วยอากาศยานจะโตอย่างก้าวกระโดด จากอันดับที่ 7 ของโลกในปี 2559 ขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ในปี 2569 อีกทั้งสถิติระหว่างเดือน ม.ค. - ส.ค. 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางจากอินเดียเข้าไทยเป็นอันดับที่ 3 จำนวน 1.02 ล้านคน เทียบกับช่วงปี 2562 หรือช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีจำนวนอยู่ที่ 1.96 ล้านคน

นอกจากนี้ ปัจจุบันหลายสายการบินของไทยต้องการเพิ่มเที่ยวบินไปยังหลายเมืองในอินเดีย เพราะพบว่าความต้องการเดินทางยังมีสูง แต่มีขีดความจำกัดของจำนวนสิทธิการบินระหว่างไทย - อินเดีย ที่ขณะนี้เฉลี่ยขนถ่ายผู้โดยสารได้ราว 5 - 6 หมื่นคนต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 300 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ส่งผลให้ปัจจุบัน กพท.อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขอเพิ่มสิทธิการบินระหว่างไทย - อินเดีย เพราะพบว่าเป็นตลาดที่มีโอกาสการขยายตัวสูง

“ตอนนี้สิทธิการบินที่มีอยู่นั้น ในส่วนของฝั่งไทยใช้เต็มโควต้าขนผู้โดยสารแล้ว และมีดีมานด์ที่จะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งการเจรจาเพิ่มสิทธิการบินจะเป็นผลหรือไม่นั้น ต้องรอให้การใช้สิทธิการบินของฝั่งอินเดียเต็มโควต้าด้วย แต่เชื่อว่าอีกไม่นาน เพราะขณะนี้ทางสายการบินอินเดียมีคำสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่ม 400 ลำ คาดว่าจะเอามาขยายการบินในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทย”

ด้านนายมนตรี เดชาสกุลสม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุถึงนโยบายผลักดันอุตสาหกรรมการบินของไทย โดยระบุว่า ขณะนี้กระทรวงฯ ได้บรรจุแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการบินเป็นนโยบายเร่งด่วนในการดำเนินงาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย “คมนาคม เปิดประตูการค้าการท่องเที่ยว สร้างการเป็น HUB เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ” โดยแบ่งแผนดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย

1. การดำเนินงานระยะเร่งด่วนภายใน 1 ปี จากนโยบาย VISA Free ให้แก่นักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวกว่า 2 แสนล้านบาท โดยมอบหมายหน่วยงานด้านการบินจัดสรรเวลาการบิน (Slot) เพิ่มขึ้นอีก 15% ต่อสัปดาห์ พร้อมเร่งรัดนโยบายเปิดให้บริการท่าอากาศยาน 24 ชั่วโมง

2. การดำเนินงานระยะกลาง 1 - 3 ปี มุ่งเน้นถึงการเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะส่วนของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้สามารถรองรับรองรับผู้โดยสารได้ 200 ล้านคนต่อปี และ 3. การดำเนินงานระยะยาว 5 - 7 ปี มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง ผ่านการลงทุนก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ ที่เชียงใหม่ และภูเก็ต คาดว่าเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 50 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกที่กำลังให้ความสำคัญ โดยมอบหมายให้ กพท. ทย. และ ทอท. ศึกษาและกำหนดมาตรการเรื่องการใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO กำหนด และให้ ทย. และ ทอท. พิจารณาการติดตั้งระบบ Solar Cell และส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าให้บริการในพื้นที่ท่าอากาศยาน