‘แลนด์บริดจ์’ ดันไทยฮับภูมิภาค เปิดพื้นที่สร้างโรงกลั่น-นิคมฯ

‘แลนด์บริดจ์’ ดันไทยฮับภูมิภาค เปิดพื้นที่สร้างโรงกลั่น-นิคมฯ

‘เศรษฐา’ ดันแลนด์บริดจ์ ลงทุนเฟสแรก 5.2 แสนล้านบาท พัฒนาท่าเรือระนอง-ชุมพร เชื่อมด้วยรถไฟ มอเตอร์เวย์ ท่อน้ำมัน หวังพัฒนาโรงกลั่นน้ำมัน เตรียมร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจภาคใต้ ลุยโรดโชว์ต่างชาติลงทุนพีพีพี

ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญก่อนที่จะเข้าบริหารประเทศ คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง โดยรัฐบาลได้กำหนดแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นได้ขับเคลื่อนนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท วงเงินรวม 560,000 ล้านบาท รวมถึงมีมาตรการลดค่าครองชีพ เช่น ลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมันดีเซลและแก๊ซโซฮอล์ 91

ขณะที่นโยบายระยะยาวมีแผนต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์ ที่จะสร้างความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าและน้ำมันในภูมิภาค โดยกระทรวงคมนาคมสรุปข้อมูลการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาคิดเป็นสัดส่วน 16% ของการขนส่งสินค้าโลก และปริมาณการขนส่งน้ำมันคิดเป็นสัดส่วน15-18% ของการขนส่งน้ำมันทั้งโลก ซึ่งปริมาณดังกล่าวจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและน้ำมันในอนาคต

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ “เร่งเครื่อง…ติดสปีดเศรษฐกิจไทย" ในงาน CEO ECONMASS Awards 2023 จัดโดย "สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ" ว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวของจีดีพีไทยเติบโตในอัตราต่ำเฉลี่ยปีละ 1.8% ขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจาก 76% เป็น 90% สูงสุดติดอันดับท็อปเท็นของโลก ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้มีเฉพาะโครงการประชานิยมอย่างเดียว โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาวมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามัน (แลนด์บริดจ์)

“โครงการแลนด์บริดจ์ต้องการกระตุ้นให้มีการสร้างโรงงาน และไม่ใช่แยกดินแดน หลายรัฐบาลอยากให้เกิดมานานแล้วและรัฐบาลอยากให้เกิดขึ้นจริง” นายเศรษฐา กล่าว

สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์จะช่วยย่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าต้องผ่านช่องแคบมะละกาได้ 6-9 วัน โดยปริมาณสินค้าที่ส่งผ่านช่องแคบมะละกาจะมีปริมาณสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งจะทำให้การจรจาผ่านช่องแคบมีความหนาแน่น และทำให้เรือขนส่งสินค้าต้องรอคอยและต้องเรืออ้อม

ในขณะที่การขนถ่ายน้ำมันสัดส่วน 16% จะต้องขนส่งทางเรือผ่านช่องแคบมะละกา และถ้ามีการขุดวางท่อส่งน้ำมันเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ก็อาจจะสร้างโรงกลั่นน้ำมันในบริเวณดังกล่าว

แลนด์บริดจ์เชื่อม 2 มหาสมุทร

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 เห็นชอบให้มีการรับฟังความเห็นโครงการแลนด์บริดจ์ โดยกระทรวงคมนาคมได้กำหนดรูปแบบการพัฒนา 3 ส่วน ดังนี้

1.ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยในฝั่งอ่าวไทยตั้งอยู่ที่แหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนองรองรับสินค้า 20 ล้านTEU มีร่องน้ำลึก 21 เมตร ส่วนฝั่งอันดามันตั้งอยู่ที่ แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร รองรับสินค้า 20 ล้าน TEU มีร่องน้ำลึก 17 เมตร

2.การเชื่อมการขนส่งระหว่างท่าเรือ ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ 6 ช่องจราจร ระยะทาง 21 กิโลเมตร , รถไฟคู่ ขนาดราง1.435 เมตร และรถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตร

3.ท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ

ลงทุนเฟสแรก 5.2 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้ประเมินมูลค่าโครงการเป็น 2 ระยะ รวมวงเงิน 687,515 ล้านบาท ประกอบด้วย ระยะที่ 1 วงเงินรวม 522,844 ล้านบาท แบ่งเป็น ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชุมพร 118,519 ล้านบาท , ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกระนอง 141,716 ล้านบาท , ก่อสร้างเส้นทางเชื่อม 2 ท่าเรือ 195,504 ล้านบาท , ก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบขนส่งสินค้า 60,892 ล้านบาทและเวนคืนที่ดิน 6,212 ล้านบาท

ระยะที่ 2 วงเงินรวม 164,671 ล้านบาท ประกอบด้วย ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกชุมพร 45,644 ล้านบาท , ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกระนอง 73,164 ล้านบาท , ก่อสร้างเส้นทางเชื่อม 2 ท่าเรือ 21,910 ล้านบาท และก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบขนส่งสินค้า23,952 ล้านบาท

สำหรับแผนดำเนินงานหลังจากที่ ครม.ให้ความเห็นชอบแล้ว รัฐบาลจะรับฟังความเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (โรดโชว์) ในช่วงเดือน พ.ย.2566 ถึงเดือน ม.ค.2567 โดยในช่วงการเดินทางเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีวันที่ 17-19 ต.ค.2566 นายกรัฐมนตรีได้หารือกับนายสี จิ้นผิง ประธานนาธิบดีจีนเกี่ยวกับการร่วมพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์

รวมทั้งได้นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้หารือกับบริษัทจีนเพื่อให้มาร่วมพัฒนา เช่น CRRC Group ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผลิตอุปกรณ์ขนส่งทางรางใหญ่ที่สุดในโลก มีสายการผลิตและบริการครบวงจร

ยกร่างกฎหมาย SEC ขึ้นมาบริหาร

ในขณะที่การดำเนินการพัฒนาจะมีการยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ให้เสร็จภายในเดือน ธ.ค.2567 หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.2568 

สำหรับรูปแบบการพัฒนาจะเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) จะเป็นการให้สิทธิแก่เอกชนในการลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการ 50 ปี โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งโครงการ ประกอบด้วย ท่าเรือ ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร และมอเตอร์เวย์ รวมถึงพัฒนาพื้นที่หลังท่า โดยรัฐเป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดิน ลงทุนทางรถไฟขนาด 1.0 เมตร และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ร่วมลงทุน

นอกจากนี้ มีการประเมินว่าจะเสนอ ครม.อนุมัติลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.2566 รวมทั้งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างระหว่าง ก.ย.2568-ก.ย.2573 และเปิดให้บริการได้ในเดือน ต.ค.2573

‘แลนด์บริดจ์’ ดันไทยฮับภูมิภาค เปิดพื้นที่สร้างโรงกลั่น-นิคมฯ

“คมนาคม” หวังไทยศูนย์กลางขนส่ง

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “เร่งเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพประชาชน” ว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการลงทุน ซึ่งมีวงเงินลงทุนในปี 2566-2567 ไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท 

รวมถึงแผนการขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์ มูลค่า 500,000 ล้านบาท ในระยะ 10 ปี ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์พลิกประเทศทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของโลกทั้งด้านพลังงานและสินค้า รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยโครงการแลนบริดจ์ที่จะเชื่อมทะเลฝั่งอันดามันและอ่าวไทยเป็นระยะทาง 90 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง กับแหลมริ้ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมมีแผนเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยเฉพาะจุดที่เป็นคอขวด เช่น การก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษที่ต่อยอดเส้นทางบ้านแพ้วไปปากท่อ รวมทั้งการขยายมอเตอร์เวย์ เส้นทางนครปฐม-หัวหิน รวมถึงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานเดือนเมือง ท่าอากาศยานแนวชายฝั่งอันดามัน 

“แลนด์บริดจ์” หนุนตั้งนิคมอุตสหกรรมใหม่

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นเมกะโปรเจกต์ใหญ่ของรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมองว่าจะเป็นโอกาสใหม่ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ และทำให้เป็นอีกจุดยุทธศาสตร์ที่น่าดึงดูดการลงทุนระดับโลกในระยะยาว 

โดยเฉพาะการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าวจะมีความพิเศษมากกว่าที่อื่น ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถนำเข้าวัตถุดิบรวมทั้งส่งออกไปได้ถึง 3 เส้นทาง ทั้งทางบกขึ้นไปถึงจีนและท่าเรือที่เชื่อมกับทั้ง 2 มหาสมุทร

กกร.เร่งลงทุนแลนด์บริดจ์-ไฮสปีดเทรน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม ภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง, แลนด์บริดจ์ รวมถึงการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ที่นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อนและถ้าดำเนินการได้เหมือนเกาหลีใต้จะช่วยประเทศได้มาก 

สำหรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยนายกรัฐมนตรีเป็นเซลล์แมนที่ยอดเยี่ยม ซึ่ง กกร.สนับสนุนทุกด้าน และสิ่งสำคัญที่จะไปสู่ความยั่งยืนของเศรษฐกิจประเทศ